วันที่ 26 กรกฎาคม 2564 ดร.มานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “มานะ นิมิตมงคล” กรณีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เกี่ยวกับการกำหนดข้อตกลงคุณธรรมว่า
ยังดีได้อีก..
ในที่สุด ครม. ก็มีมติปิดช่องโหว่มิให้หน่วยงานของรัฐปฏิเสธการเข้าร่วม “ข้อตกลงคุณธรรม” อีก แต่มติ ครม. นี้ได้สร้างปัญหาใหม่ที่น่ากลัวกว่าเพราะเปิดโอกาสให้หน่วยงานตามเงื่อนไขใหม่นี้เป็นผู้กำหนดกติกาเอง ทำรายงานและตรวจสอบกันได้เอง คัดเลือกผู้สังเกตการณ์เอง ซึ่งผิดเพี้ยนไปมากจากหลักสากลและมาตรฐานที่ปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน
ที่มาของ มติ ครม.
กว่า 6 ปีที่ผ่านมา มีการใช้ข้อตกลงคุณธรรมใน 128 โครงการมูลค่ารวม 1.9 ล้านล้านบาท ขณะที่รัฐวิสาหกิจและหน่วยราชการหลายแห่งปฏิเสธการเข้าร่วมโครงการข้อตกลงคุณธรรมหรือเข้าร่วมระยะสั้นๆ แล้วถอนตัวออกไป โดยอ้างกฎหมายเฉพาะคือ 1) พ.ร.บ. อีอีซี 2) พ.ร.บ. ร่วมทุนฯ (พีพีพี) 3) พ.ร.บ.รักษาความสะอาดของ กทม. 4) ข้ออ้างอื่น เช่น การประมูลให้สัมปทานแก่เอกชนเป็นการ “หารายได้” ไม่ใช่การจัดซื้อฯ โครงการนั้นเขียนทีโออาร์เสร็จก่อนแล้ว เป็นการซื้อสินค้าเพื่อการพาณิชย์ของรัฐวิสาหกิจ การซื้อที่เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ เป็นต้น
ทุกหน่วยงานต่างรู้ดีว่า การสร้างความโปร่งใสให้ประชาชนตรวจสอบเพื่อปกป้องประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ไม่มีกฎหมายใดห้ามไว้และที่ผ่านมาก็มีเมกะโปรเจคจำนวนมากที่อยู่ในเงื่อนไขข้ออ้างดังกล่าวแต่ก็เข้าร่วมและประสบผลสำเร็จด้วยดี
เพื่อแก้ไขปัญหานี้ คณะกรรมการนโยบายจัดซื้อจัดจ้างฯ จึงมีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของผู้แทนองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2563 ให้เสนอเรื่องต่อ ครม. เพื่อใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดิน กำหนดเป็นนโยบายของรัฐปิดช่องว่างดังกล่าวเสีย
จะเป็นปัญหาใหม่อย่างไร?
เนื่องจาก มติ ครม. เมื่อ 29 มิถุนายน 2564 เปิดให้แต่ละหน่วยงานที่ต้องใช้ข้อตกลงคุณธรรมตามเงื่อนไขเพิ่มเติมนี้ “เป็นผู้กำหนดเอง” ว่าจะใช้กติกา รูปแบบแนวทางปฏิบัติ การเปิดเผยข้อมูล วิธีตรวจสอบรายงาน ไปจนถึงคัดเลือกบุคคลที่จะมาเป็นผู้สังเกตการณ์ แทนที่ให้กรมบัญชีกลางเป็นผู้กำกับดูแล และใช้กติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับแล้วตาม พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างฯ เหมือนที่ผ่านมา
ปัญหาที่จะตามมาคือ เกิดแนวทางปฏิบัติหลายมาตรฐาน ความไม่โปร่งใส ยากต่อการติดตามตรวจสอบให้ทั่วถึง การยอมรับจากสังคม เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนจากการที่แต่ละหน่วยงานนั้นชงเองกินเอง คือเป็นทั้งผู้ใช้อำนาจ ใช้งบประมาณ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นผู้กำหนดกติกา กำกับและตรวจสอบกันเอง หากเป็นเช่นนี้ข้อตกลงคุณธรรมจะเป็นเพียงตรายางที่ไร้ค่าไร้คนเชื่อถืออีกต่อไป
วิธีดังกล่าว จึงเป็นเรื่องยอมรับไม่ได้เพราะขัดต่อหลักธรรมาภิบาลและหลักปฏิบัติสากล ขัดต่อเจตนารมย์ของ พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างฯ และแผนปฏิรูปประเทศฯ
ข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหา
ขอเสนอให้ ครม. มีมติเพิ่มเติม ดังนี้
1) ให้การใช้ข้อตกลงคุณธรรมทุกกรณีต้องปฏิบัติตามมติ ประกาศและคำสั่งของคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต (คปท.) กรมบัญชีกลาง
2) ให้มติ ครม. นี้ ใช้กับทุกหน่วยงานที่ดำเนินการจัดซื้อฯ หรือร่วมลงทุนหรือให้สิทธิ์/สัมปทานหรืออย่างอื่นที่มีลักษณะและเป้าหมายทำนองนี้ ตาม พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐฯ หรือกฎหมายอื่น เช่น พ.ร.บ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนฯ พ.ร.บ. รักษาความสะอาดฯ พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกฯ
บทสรุป
สำหรับความก้าวหน้าครั้งนี้ ขอแสดงความชื่นชมและขอบคุณรัฐบาลเป็นอย่างยิ่งที่เห็นคุณค่ามาตรการป้องกันคอร์รัปชันโดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน แม้วันนี้ยังมีอีกหลายปัญหารอการแก้ไขอยู่ก็ตาม
การปกป้องผลประโยชน์ของชาติจากคอร์รัปชันเป็นเรื่องใหญ่ จะสำเร็จได้ต้องสร้างความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบติดตาม ต้องอาศัยความเข้าใจและการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากประชาชน รัฐบาล รัฐสภา ข้าราชการและนักการเมือง