close

หน้าแรก

menu
search

เสนอรัฐเยียวยา 5.3 หมื่นล้าน ท้องถิ่นเจ็บหนัก! ลดภาษีที่ดิน

schedule
share

แชร์

  สมาคมฯ อปท. เคลื่อนไหวเรียกร้องรัฐบาลชดเชยรายได้ท้องถิ่น 5.3 หมื่นล้านในกรอบ 3 ปี หลังไร้มาตรการเยียวยากรณีสั่งลดเก็บภาษีที่ดินฯร้อยละ 90

  ผลจากการประกาศใช้พ.ร.ฎ.ลดภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท พ.ศ.2563 โดยมีสาระสำคัญในการลดการเก็บภาษีลงร้อยละ 90 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2563 กระทบต่อการจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ ท่ามกลางความหวังว่ารัฐบาลจะมีมาตรการเยียวยารายได้ของท้องถิ่นที่หายไป

  นายพิพัฒน์ วรสิทธิดำรง นายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา ตัวแทนจาก กทม. เมืองพัทยา เทศบาลนครแหลมฉบัง อบต.ธนู จ.พระนครศรีอยุธยา และสมาคมข้าราชการส่วนท้องท้องถิ่นแห่งประเทศไทย ได้เข้าให้ข้อมูลกับคณะอนุกรรมาธิการการกฎหมายฯ กรณีที่มีส.ส.ยื่นหนังสือต่อประธานรัฐสภาเพื่อสื่อสารไปยังรัฐบาล ขอเลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพ.ศ. 2562 เนื่องจากยังมีความไม่พร้อมหลายด้าน และมีผลกระทบต่อรายได้ของท้องถิ่นโดยตรง แต่ทางรัฐบาลยังไม่มีการตอบรับกลับมา ประกอบกับการจัดเก็บรายได้ที่ลดลงอย่างมากหลังรัฐบาลประกาศใช้พ.ร.ฎ.ลดภาษี่สำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราร้อยละ 90 หลายองค์กรของท้องถิ่น จึงมีการเรียกร้องไปยังหลายหน่วยงาน เพื่อให้มีการพิจารณาช่วยเหลือมาตรการเยียวยาจากนโยบายดังกล่าว

  นายพิพัฒน์ กล่าวต่ออีกว่า ทั้งเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ได้รับผลกระทบกันหมด โดยส่วนใหญ่อปท.ขนาดเล็กรายได้หายไป 2-5 ล้านบาท ส่วนอปท.ที่ได้รับผลกระทบหนัก ได้แก่ อปท.ที่มีเขตนิคมอุตสาหกรรม หรือมีกิจการเชิงพาณิชย์อยู่ในท้องที่จำนวนมาก ซึ่งปกติจะมีรายได้จากภาษีที่ดินและโรงเรือนเป็นหลัก แต่เมื่อแปลงมาเป็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แล้วรัฐบาลลดอัตราการจัดเก็บลงร้อยละ 90 ทำให้กระทบต่อรายจ่ายที่แต่ละ อปท.ประมาณการไว้ในแต่ละปี ตัวอย่างเช่น กรณีเทศบาลนครแหลมฉบัง ที่มีนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ รายได้ที่ประมาณการไว้ลดลงไปกว่า 500 ล้านบาท ทำให้ต้องขออนุมัติใช้จ่ายเงินสะสมจากผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อมาใช้ในการจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรในหน่วยงาน

  นายพิพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการเรียกร้องให้มีการชดเชยรายได้ให้ท้องถิ่นนั้น ทางสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย ได้เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) และมีมติขอชดเชยรายได้ที่หายไปจากพ.ร.ฎ.ลดภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ ในกรอบวงเงิน 53,000 ล้านบาท รวมทั้งได้ทำหนังสือไปยังรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และท่านรับทราบในหลักการแล้ว แต่ผ่านมาราว 1 เดือนยังไม่มีความคืบหน้าอะไร 

  “รายได้จากภาษีที่ดินฯ เป็นรายได้ของท้องถิ่นเต็มจำนวน ไม่ได้แบ่งให้รัฐบาล หากภาษีตรงนี้ลดลงไปรัฐบาลก็ไม่ได้กระทบอะไร โดยข้อเท็จจริงแล้วการที่รัฐบาลจะออกนโยบายหรือออกกฎหมายใด มาลดหรือยกเว้นการจัดเก็บภาษีนี้ รัฐบาลควรมีมาตรการมาชดเชยให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะรัฐบาลไม่ได้รับผลกระทบอะไรเลย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ใช่ผู้ที่ร้องขอให้รัฐบาลออกนโยบายนี้ แต่กลับได้ผลกระทบอย่างเต็มที่” นายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นฯ กล่าว

  รศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กล่าวถึงประมาณการขอชดเชยรายได้ที่ท้องถิ่นต้องสูญเสีย จำนวน 5.3 หมื่นล้านบาทว่า ต้องคิดในกรอบระยะเวลา 3 ปี คือในปี 2563-2565 ด้วยข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลังที่ประมาณไว้ว่าปี 2563 ท้องถิ่นจะสูญเสียรายได้จากการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอัตราร้อยละ 90 ประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาท

  ประกอบกับผลของพ.ร.ฎ.ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2563 ที่มีผลบังคับใช้ใน 1 มกราคม 2563 เพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับผู้เสียภาษีซึ่งล้วนอยู่ในกรอบระยะเวลา 3 ปี อีกทั้งช่องโหว่ของการตีความกฎหมายฉบับรองที่จะทำให้เก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้น้อยลง จึงคาดว่าในปี 64-65 รายได้ท้องถิ่นจะหายไปราวปีละ 1 หมื่นล้านบาท กรอบวงเงินที่นำเสนอให้รัฐบาลช่วยชดเชยรายได้ของท้องถิ่นจึงอยู่ที่ 5.3 หมื่นล้านบาท

  ด้านนายสนธยา ทองดี ผู้อำนวยการสำนักการคลัง เทศบาลนครนนทบุรี เปิดเผยว่า ในปีนี้เมื่อต้องใช้พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 มีการคาดการณ์ว่าจะเก็บภาษีได้ลดลง 40-50% จากรายได้ทั้งหมดที่เคยเก็บได้จากภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ เมื่อรัฐบาลกำหนดให้มีการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลงอีกร้อยละ 90 จึงยิ่งทำให้เก็บภาษีส่วนนี้ได้น้อยลงไปอีก เดิมที่คาดการณ์ว่าจะสามารถเก็บได้ 227 ล้านบาท ขณะนี้เก็บได้เพียง 20-30 ล้านบาทเท่านั้น มาจากรายได้ที่คาบเกี่ยวกับภาษีโรงเรือนและที่ดิน ซึ่งเป็นภาษีเดิม หากคิดรายได้จากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ ขณะนี้แทบจะเก็บรายได้จากส่วนนี้ไม่ได้เลย สำหรับเทศบาลนครนนทบุรีขณะนี้ยังไม่ได้รับผลกระทบจนถึงขั้นที่ต้องดึงเงินสะสมมาใช้ แต่รายได้ส่วนที่หายไปก็มีผลทำให้การบริหารงานยากลำบากเช่นกัน

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

สุดยิ่งใหญ่พิธีเปิด “นนทบุรีเกมส์ 2024”

สุดยิ่งใหญ่พิธีเปิด “นนทบุรีเกมส์ 2024”

อบจ.นนทบุรีจัดใหญ่กว่า 5 พันชีวิต ร่วมพิธีเปิดการแข่งขั…

schedule
สมาคมสันนิบาตปลุกพลัง คิดไกล คิดใหม่ เพื่อชาวเทศบาล

สมาคมสันนิบาตปลุกพลัง คิดไกล คิดใหม่ เพื่อชาวเทศบาล

สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย จัดการประชุมและการสัมม…

schedule
อบจ.นนทบุรี พร้อม! เจ้าภาพรอบคัดเลือกภาคกลาง “นนทบุรีเกมส์”

อบจ.นนทบุรี พร้อม! เจ้าภาพรอบคัดเลือกภาคกลาง “นนทบุรีเกมส์”

อบจ.นนทบุรี ประกาศความพร้อมเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬานักเ…

schedule
แจ้งข่าวดี! กรมการท่องเที่ยวจัดคอร์สเสริมพลังท้องถิ่น ด้านการท่องเที่ยวภาครัฐ

แจ้งข่าวดี! กรมการท่องเที่ยวจัดคอร์สเสริมพลังท้องถิ่น ด้านการท่องเที่ยวภาครัฐ

กรมการท่องเที่ยวจัดอบรมออนไลน์ ฟรี! เรื่อง “การเสริมพลั…

schedule

นิตยสารผู้นำท้องถิ่นออนไลน์ รวมข่าวสารอัพเดทของคนท้องถิ่น

ติดต่อเรา

อีเมล : [email protected]