close

หน้าแรก

menu
search

เสนอรัฐชดเชยงบแก้โควิด อปท.

schedule
share

แชร์

          คณะอนุกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น ในกมธ.การกระจายอำนาจฯ  เตรียมชงรัฐบาลแบ่งเงินกู้จ่ายชดเชยให้ท้องถิ่น กรณีใช้จ่ายบริหารจัดการปัญหาโควิด-19

 

            นายบรรณ แก้วฉ่ำ นักวิชาการด้านกฎหมายท้องถิ่น ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น ในคณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจฯ เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 64 มี 2 ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของคนท้องถิ่น โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับการบริหารจัดการ ป้องกันและแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ที่แต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อทป.) ได้ดำเนินในด้านต่างๆ มาตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา

 

          “เรื่องค่าใช้จ่ายเรื่องโควิด ที่ อปท.ใช้จ่ายไปในห้วงเวลาที่ผ่านมา จะให้ กรมส่งเสริมฯ แจ้ง อปท.ทั่วประเทศรวบรวม เพื่อนำไปเสนอต่อรัฐบาลขอให้จ่ายชดเชยให้แก่ท้องถิ่น โดยเฉพาะเงินกู้ที่รัฐบาลอ้างกู้มาเรื่องโควิด จะขอแบ่งมาชดเชยให้แก่ อปท.ทั่วประเทศ…”

 

          เงินกู้ที่กล่าวถึงนี้ คือ เงินกู้ 5 แสนล้านที่ถูกกล่าวถึงกันอย่างกว้างขวางในช่วงเวลาที่ผ่านมาก โดยรัฐบาลให้เหตุผลการกู้จำนวนมหาศาลครั้งนี้ว่า เพื่อนำมาแก้ปัญหาโควิด-19 ที่เกิดการระบาด (ระลอกใหม่) นำมาใช้ในแผนงานดูแลประชาชน ผู้ประกอบการรายย่อย รวมถึงเพื่อสร้างงานให้กับประชาชนในระดับท้องถิ่น ให้ภาพรวมของประเทศผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้

 

          หลังสภาฯ เห็นชอบ พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา​เศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 จึงได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 25 พ.ค. ผ่านมา

 

          บัญชีท้ายพระราชกำหนด เงินกู้ 5 แสนล้านบาท มีแผนงานใช้ใน 3 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 วงเงิน 30,000 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาด ในส่วนนี้ เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรค วัคซีน และการวิจัย พัฒนาและผลิตวัคซีนภายในประเทศ รวมทั้งการปรับปรุงสถานพยาบาลสำหรับการบำบัดรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงสาธารณสุข หรือหน่วยงานของรัฐที่ ครม.มอบหมาย

 

          ส่วนที่ 2 วงเงิน 300,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย ให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ เป็นค่าใช้จ่ายในการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพหรือผู้ประกอบการทุกสาขาอาชีพให้สามารถประกอบอาชีพหรือดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง หรือหน่วยงานของรัฐที่ ครม.มอบหมาย

 

เสนอรัฐชดเชยงบแก้โควิดอปท.

 

          และส่วนที่ 3 วงเงิน 170,000 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับแผนงาน หรือโครงการเพื่อรักษาระดับการจ้างงานของผู้ประกอบการ และกระตุ้นการลงทุน และการบริโภคในระบบเศรษฐกิจของประเทศ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง หรือหน่วยงานของรัฐที่ ครม.มอบหมาย

 

          ขณะที่ภารกิจของท้องถิ่นในการดูแลประชาชนในพื้นที่ ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ระยะแรกของการพบเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย ทั้งการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการป้องกันโรค อาทิ หน้ากากอนามัย เจลล้างมือแอลกอฮอล์ เครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ น้ำยาพ่นฆ่าเชื้อ ชุดป้องกันการติดเชื้อ (PPE) ทั้งภารกิจสนับสนุนด้านบุคลากร การส่งเจ้าหน้าที่ อสม.ลงพื้นที่คัดกรองคนในชุมชน การให้บริการตรวจคัดกรองตรวจหาเชื้อโควิด-19 ตลอดจนการมอบเครื่องอุปโภคบริโภคให้กับประชาชนในช่วงที่ต้องกักตัว

 

          ทั้งหมดนี้เป็นส่วนที่ท้องถิ่นดำเนินการโดยใช้งบประมาณของแต่ละอปท. เป็นเวลานานกว่า 1 ปีแล้วที่ท้องถิ่นมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นจากรายจ่ายปกติ สวนทางกับรายรับที่หดตัวลง โดยเฉพาะรายได้จากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่รัฐมีนโยบายลดการจัดเก็บลง 90 เปอร์เซ็นต์ เพื่อช่วยบรรเทาภาระความเดือดร้อนของประชาชน

 

          นี่ยังไม่รวมถึงงบประมาณก้อนใหญ่ ที่หลาย อปท. ควักเงินสะสมออกมาเพื่อใช้เป็นงบจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 เพื่อฉีดให้กับประชาชนในพื้นที่เอง ผ่านวัคซีนตัวเลือกอย่าง “ซิโนฟาร์ม” ที่จัดหามาโดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งดูจะเข้าถึงได้ง่ายและเร็วมากกว่าวัคซีนส่วนกลางของรัฐบาลที่มาช้า และมาพร้อมกับข้อกังขาเรื่องคุณภาพ

 

          จึงน่าจับตาดูไม่น้อย ว่าการขอชดเชยเงินส่วนนี้ จะได้รับการตอบสนองจาก ครม.หรือไม่ เพราะหากพิจารณาจากเจตนารมณ์ของการกู้เงินในรอบนี้ ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าตรงกับภารกิจที่ท้องถิ่นทำมาโดยตลอด

 

          นอกจากเรื่องงบประมาณจัดการโควิดแล้ว การประชุมในรอบนี้ นายบรรณ แก้วฉ่ำ ยังระบุว่าจะมีการเชิญตัวแทนของการไฟฟ้า มาร่วมหารือ “กรณีหน่วยงานส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค สร้างถนนพร้อมติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง การไฟฟ้าไม่เรียกเก็บค่าไฟฟ้า ด้วยเหตุผลว่า เสาไฟฟ้าที่ปักได้ปักลงในเขตถนนทางหลวง แต่ข้อเท็จจริงกรณีถนนของท้องถิ่น หรือถนนทางหลวงท้องถิ่น ซึ่งเสาไฟปักลงในที่ดินเขตทางหลวงท้องถิ่นด้วยเช่นกัน กลับเรียกเก็บค่าไฟทาง จะเชิญไฟฟ้ามาชี้แจง และมิให้เรียกเก็บค่าไฟทางจากท้องถิ่นเช่นเดียวกัน..(หากยังเรียกเก็บ อปท.ก็อาจบังคับให้จ่ายค่าเช่าดินปักเสาไฟฟ้า จากการไฟฟ้า นี่เป็นความคิดผมเอง เตรียมไปต่อรองกับ การไฟฟ้าที่จะเชิญมาชี้แจง) ข้อเสนอนี้ เป็นท่าน ผอ.กองกฎหมายของกรมส่งเสริม ในฐานะอนุกรรมาธิการเป็นผู้เสนอ”

 

          นับเป็น 2 ประเด็นที่คนท้องถิ่นต้องติดตามความคืบหน้า เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่ทวงผลประโยชน์แก่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง

 

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

สุดยิ่งใหญ่พิธีเปิด “นนทบุรีเกมส์ 2024”

สุดยิ่งใหญ่พิธีเปิด “นนทบุรีเกมส์ 2024”

อบจ.นนทบุรีจัดใหญ่กว่า 5 พันชีวิต ร่วมพิธีเปิดการแข่งขั…

schedule
สมาคมสันนิบาตปลุกพลัง คิดไกล คิดใหม่ เพื่อชาวเทศบาล

สมาคมสันนิบาตปลุกพลัง คิดไกล คิดใหม่ เพื่อชาวเทศบาล

สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย จัดการประชุมและการสัมม…

schedule
อบจ.นนทบุรี พร้อม! เจ้าภาพรอบคัดเลือกภาคกลาง “นนทบุรีเกมส์”

อบจ.นนทบุรี พร้อม! เจ้าภาพรอบคัดเลือกภาคกลาง “นนทบุรีเกมส์”

อบจ.นนทบุรี ประกาศความพร้อมเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬานักเ…

schedule
แจ้งข่าวดี! กรมการท่องเที่ยวจัดคอร์สเสริมพลังท้องถิ่น ด้านการท่องเที่ยวภาครัฐ

แจ้งข่าวดี! กรมการท่องเที่ยวจัดคอร์สเสริมพลังท้องถิ่น ด้านการท่องเที่ยวภาครัฐ

กรมการท่องเที่ยวจัดอบรมออนไลน์ ฟรี! เรื่อง “การเสริมพลั…

schedule

นิตยสารผู้นำท้องถิ่นออนไลน์ รวมข่าวสารอัพเดทของคนท้องถิ่น

ติดต่อเรา

อีเมล : [email protected]