เมื่อวันที่ 18 มีนาคม ที่ผ่านมา หลายหน่วยงานในทุกภูมิภาค ร่วมกับจัดกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณเนื่องในวันท้องถิ่นไทย
เทศบาลเมืองเขารูปช้าง จังหวัดสงขลา จึงจัดกิจกรรมพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว “หัวนายแรง” วัดเขาเก้าแสน หมู่ 3 ตำบลเขารูปช้าง โดยมี นายประสงค์ บริรักษ์ นายกเทศมนตรีเมืองเขารูปช้าง เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร สมาชิกสภาเทศบาล พนักงานเทศบาล จิตอาสาจากชมรมต่างๆ และประชาชนในพื้นที่ มาร่วมกันทำความดีในกิจกรรมสาธารณประโยชน์ในครั้งนี้
วัตถุประสงค์หลักของกิจกรรมเพื่อ ปรับปรุงทำความสะอาดพื้นที่บริเวณ “หัวนายแรง” เพื่อรองรับการเข้ามาของนักท่องเที่ยว และปลูกจิตสำนึกที่ดีให้คนในพื้นที่รักษา หวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งให้ช่วยกันดูแลรักษาความสะอาดในพื้นที่
“หัวนายแรง” ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญของตำบลเขารูปช้าง ตั้งอยู่ ณ เขาเก้าเส้ง ซึ่งเป็นเขาหินขนาดใหญ่ที่แตกต่างจากเขาอื่นๆ ที่อยู่ริมทะเล ของจังหวัดสงขลา หัวนายแรง คือ ก้อนหินขนาดใหญ่ ตั้งอยู่อย่างโดดเด่นริมหน้าผาหิน เป็นทัศนียภาพทางธรรมชาติที่สวยงามแปลกตา ในบริเวณนี้ยังสามารถมองเห็นเกาะหนู เกาะแมวได้อีกด้วย
ที่มาของชื่อ “หัวนายแรง” นั้น มีตำนานเล่าว่า ครั้งหนึ่งเมืองนครศรีธรรมราชจะทำการบรรจุพระบรมสาริกธาตุในเจดีย์ และมีการจัดงานเฉลิมฉลองใหญ่โต ทำให้บรรดา 12 หัวเมืองปักษ์ใต้ ร่วมขนเงินทอง เพื่อร่วมทำบุญสร้างพระบรมสาริกธาตุ นายแรงซึ่งเป็นเจ้าเมืองก็ขนเงินทองจำนวนมากถึงเก้าแสน บรรทุกเรือสำเภาเดินทางไปยังเมืองนครศรีธรรมราช เพื่อร่วมทำบุญด้วย แต่ในขณะที่เดินทางด้วยเรือสำเภา ถูกคลื่นลมกระหน่ำซัดจนทำให้เรือชำรุด จึงจอดซ่อมแซมเรือที่ชายหาดแห่งหนึ่ง ครั้นนายแรงได้ทราบข่าวว่า ทางเมืองนครศรีธรรมราชได้บรรจุพระบรมสาริกธาตุในเจดีย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งตัวนายแรงเอง มีความศรัทธาในพุทธศาสนา ทำให้เมื่อทราบข่าวดังกล่าว นายแรงมีอาการเศร้าโศกเสียใจมาก เขาสั่งให้ลูกเรือขนเงินทองบรรจุไว้บนยอดเขาลูกหนึ่ง และสั่งให้ลูกเรือตัดหัวของตนไปไว้บนยอดเขานั้นด้วย ลูกเรือจำใจที่จะต้องตัดหัวเจ้านาย เมื่อนายแรงกลั้นใจตาย ลูกเรือจึงได้ตัดหัวของนายแรงตามคำสั่ง ไปไว้บนยอดเขา ซึ่งทำให้เขาลูกนี้เรียกว่า “เขาเก้าแสน” และเรียกเพี้ยนกันต่อๆ มาเป็น “เขาเก้าเส้ง” หินก้อนใหญ่บนยอดเขาจึงเรียกว่า “หัวนายแรง” ชาวบ้านจึงเชื่อว่าดวงวิญญานของนายแรงยังเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์มาจนทุกวันนี้