หากจะกล่าวถึงจังหวัดที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด และเป็นการพัฒนาที่ฉีกแนวเดิมแบบสุดขั้วมากที่สุด หนึ่งในนั้นน่าจะเป็น “บุรีรัมย์” จังหวัดที่ตั้งของปราสาทหินเขาพนมรุ้ง และปราสาทหินเมืองต่ำ ความสง่างามของอดีตที่ไม่ถูกทำร้ายโดยกาลเวลา
“บุรีรัมย์” จังหวัดในภาคอีสานตอนล่างที่เต็มไปด้วยปราสาทหินโบราณน้อยใหญ่มากกว่า 30 แห่ง จนได้รับการขนานนามว่า เมืองปราสาทหิน สะท้อนให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองในอดีต และความสุขสบายรื่นรมย์ของคนในท้องถิ่น ตามความหมายชื่อ “บุรีรัมย์”
นักโบราณคดีเชื่อว่า บุรีรัมย์ เคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรใหญ่ที่มีความรุ่งเรืองในสมัยทวารวดี ราว 1,500-2,500 ปีก่อน โดยมีหลักฐานการอยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ทุกพื้นที่ของจังหวัดบุรีรัมย์ จึงเต็มไปด้วยร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ทิศทางการพัฒนาเมืองบุรีรัมย์แต่เดิม จึงเน้นไปที่การรักษาสิ่งปลูกสร้างและร่องรอยทางอารยธรรมที่มีมาแต่เดิมเหล่านี้
ทว่า บุรีรัมย์ กลับพลิกโฉมใหม่ กลายเป็นจังหวัดม้ามืดด้านการท่องเที่ยว ภายใต้วิสัยทัศน์ “ศูนย์กลางการท่องเที่ยวอารยธรรมขอมและกีฬามาตรฐานโลก เศรษฐกิจมั่นคง สังคมสันติ สุข 9 ดี” จับ “กีฬา” มาพัฒนาจังหวัด จากจังหวัดแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับเวิลด์คลาส เปิดตัวด้วยความยิ่งใหญ่ของสนามฟุตบอล “ช้างสเตเดียม” สนามแข่งและสนามฝึกซ้อมของสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ยูไนเต็ด สโมสรสายแข็งที่ไม่เคยหลุดโผ 3 อันดับแรกของฟุตบอลไทยลีก และสนามแข่งรถช้างอินเตอร์เนชันแนลเซอร์กิต ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ บุรีรัมย์จึงทั้งเติบโต และเปลี่ยนแปลง ในด้านเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนวิถีชีวิตแบบเกษตรกรรมเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวและพาณิชยกรรม โรงแรม รีสอร์ท และร้านอาหาร ผุดความเป็นอยู่แบบสังคมเมืองขึ้นมาภายในทศวรรษเดียว
พื้นที่ในเขตเทศบาลเมืองบุรีรัมย์กลายเป็นพื้นที่ไข่แดง จุดศูนย์กลางของการคมนาคม และแหล่งค้าความเจริญของจังหวัด
ผู้ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ จึงเป็นอีกคนสำคัญหนึ่ง ที่จะเป็นผู้ขับเคลื่อนพื้นที่ศูนย์กลางความเจริญนี้ ให้สอดรับกับแนวคิด “ศูนย์กลางการท่องเที่ยวอารยธรรมขอมและกีฬามาตรฐานโลก…”
นิตยสารผู้นำท้องถิ่นขอพาไปทำความรู้จัก “สกล ไกรรณภูมิ” กับการก้าวเข้าสู่ตำแหน่ง “นายกเทศมนตรี” ในสมัยแรกของคนหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรงที่มีใบหน้ายิ้มแย้มอยู่เป็นนิจ ในภารกิจพัฒนาเมืองบุรีรัมย์ ให้ทะยานก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยวเชิงกีฬา เป้าหมายที่ยังไม่มีใครทำได้มาก่อน พร้อมกับมุมมองต่อทิศทางการพัฒนาในฐานะคนที่เกิดและเติบโตมาในพื้นที่เมืองบุรีรัมย์
สกล ไกรรณภูมิ หรือ นายกอ๋อง มาจากครอบครัวเชื้อสายจีน บรรพบุรุษรุ่นปู่ย่า ล้วนหอบเสื่อผืนหมอนใบมาจากเมืองจีนแผ่นดินใหญ่ มาทำงานเป็นลูกจ้างอยู่ที่จังหวัดสุรินทร์
ด้วยความที่เป็นครอบครัวใหญ่ การขยับขยายพื้นที่ทำมาหากินเป็นเรื่องจำเป็น ในช่วงปี 2503 สนธยา ไกรรณภูมิ ผู้เป็นพ่อได้ติดตามพี่สาวย้ายมาปักหลักทำมาหากินที่จังหวัดบุรีรัมย์ ยึดอาชีพรับจ้างขายผ้าไหม อยู่ในตลาดโพธิพัฒนา ตลาดแห่งแรกของของเมืองบุรีรัมย์ ตั้งอยู่หลังสถานีรถไฟ รวมถึงรับทำบัญชีให้กับคนในละแวกนั้นด้วย ต่อมีในปี 2510 สนธยา ได้พบรักกับ อรพิน เมื่อตกลงแต่งงานกันจึงตัดสินใจตั้งรกรากอยู่ที่เมืองบุรีรัมย์ หลังเก็บหอมรอมริบได้ทุนจำนวนหนึ่ง ได้เปิดร้านขายเฟอร์นิเจอร์ห้องเล็กๆ ในตลาด สนธยาลงมือศึกษาหาความรู้ด้านการทำเฟอร์นิเจอร์ด้วยตนเอง ที่ไหนมีการฝึกอบรม เป็นต้องไปร่วมด้วยเพื่อหาความรู้มาพัฒนาธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ของตัวเอง ด้วยความใส่ใจ ธุรกิจเล็กๆ จึงเริ่มก่อร่างสร้างตัว สนธยาเริ่มขยายธุรกิจแขนงอื่นเพิ่มเติม โดยหันไปจับธุรกิจทำเคเบิลทีวี จากธุรกิจสังหาริมทรัพย์ เริ่มขยับขยายไปยังธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บ้านเช่า ตลาด โรงแรม ไปจนถึงธุรกิจบ้านจัดสรร
สนธยา กับ อรพิน มีบุตรด้วยกัน 4 คน บุตรชายคนโต ณกรณ์ บุตรชายคนรอง ทวีพงษ์ บุตรสาวคนที่ 3 กนกวรรณ และบุตรชายคนเล็ก สกล ไกรรณภูมิ
สกล เป็นเด็กร่าเริง ชอบเล่นกีฬาเป็นชีวิตจิตใจ พื้นฐานจึงมีเพื่อนฝูงคบหาด้วยไม่น้อย เนื่องจากเป็นคนไทยเชื้อสายจีน จึงถูกส่งเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาที่ โรงเรียนฮั่วเคี้ยว โรงเรียนจีนใน จ.บุรีรัมย์ โรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก วิชาการเรียนการสอนพละศึกษามีแค่ปิงปอง วอลเลย์บอล และบาสเก็ตบอล ในช่วงวัยประถม สกล จึงมีโอกาสเล่นกีฬาเพียงไม่กี่ชนิด หลังจากจบชั้นประถมเขาเข้าศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำจังหวัด ที่นี่ สกล มีโอกาสได้เล่นตะกร้อ และเป็นกีฬาชนิดแรกที่สร้างชื่อให้ สกล ทีมของเขาได้แชมป์ของภาคอีสาน และติดอันดับที่ 3 ของกีฬาเยาวชนแห่งชาติในระดับประเทศ
ดีกรีนักกีฬาที่คว้าแชมป์ระดับภาค ทำให้ สกล ได้คัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการช้างเผือกของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเข้าศึกษาต่อในคณะศึกษาศาสตร์ เอกพละศึกษา ชีวิตในมหาวิทยาลัยยังคงเดินสายแข่งขันกีฬา และคว้ารางวัลติดมือมามากมาย
หลังจบการศึกษา สกล เข้าทำงานเป็นครูสอนวิชาพละศึกษาที่โรงเรียนอนุบาลธีรา จ.บุรีรัมย์ เรียกได้ว่าทำงานตรงตามความสามารถ ระหว่างที่เป็นครูสอนพละ เขาได้เรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ควบคู่กันไปด้วย หลังจบปริญญาโท จึงได้สอบเลื่อนขั้นเป็นครูใหญ่ รวมการใช้ชีวิตเป็นพ่อพิมพ์ของชาติราว 8 ปี
- จุดเริ่มเต้นเส้นทางการเมืองของ สกล ไกรรณภูมิ
ปี 2545 เขาเริ่มลงมาสัมผัสเส้นทางการเมือง ด้วยการเป็นประธานชุมชนเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ควบคู่ไปกับการเป็นครูใหญ่ ทำให้ สกล เริ่มเป็นที่รู้จักของคนในแถบเมืองเทศบาล ต่อมาในปี 2547 มีการจัดการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ นพ.วิกรม สมจิตต์อารีย์ ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งนายกฯ ในกลุ่มก้าวใหม่ และทาบทามให้ สกล รับตำแหน่งเลขานายกฯ ภายหลังผลการเลือกตั้ง นพ.วิกรม ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรี สกล จึงเริ่มต้นงานในการเมืองท้องถิ่นเป็นครั้งแรก
เมื่อ นพ.วิกรม หมดวาระลงในปี 2552 กลุ่มก้าวใหม่ได้ส่ง ปาลีรัตน์ สมานประธาน ลงสมัครนายกฯ และก็เป็นชัยชนะของกลุ่มก้าวใหม่อีกครั้ง ในครั้งนี้ สกล ได้ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งรองนายกฯ รับผิดชอบงานส่วนกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม และกองช่างสุขาภิบาล
ในฐานะรองนายกเทศมนตรี เขาได้ลงพื้นที่ทำงานคลุกคลีกับคนในพื้นที่เทศบาลเมืองอยู่เสมอ ชาวบ้านรู้จักกันในนาม “รองอ๋อง” เขาเรียนรู้และสะสมชั่วโมงบินในฐานะคนท้องถิ่น ที่พร้อมจะก้าวเข้ามาทำงานภายใต้ความรับผิดชอบที่มากขึ้น
ระหว่างที่เข้ามาทำงานการเมืองท้องถิ่น สกล ยังคงช่วยเหลืองานธุรกิจร้านเฟอร์นิเจอร์ของครอบครัวด้วย ที่นี่เอง จึงเกิดเป็นเรื่องราวความรักของหนุ่มเจ้าของร้านกับลูกค้าสาว เขาได้พบกับ พรศรี อัตตาภิบาล (สกุลเดิม) ซึ่งมาซื้อที่นอนที่ร้านเฟอร์นิเจอร์ วันนั้น สกล เป็นผู้ขับรถไปส่งที่นอนให้ลูกค้า ทำให้ได้มีโอกาสพูดคุยกัน และทราบว่าต่างฝ่ายต่างก็เป็นศิษย์เก่าจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการสานสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองคน และร่วมสร้างครอบครัวที่อบอุ่นขึ้นมา มีพยานรักเป็นสาวน้อยน่ารักคนหนึ่ง
ขณะที่ลูกสาวอายุได้ 5 ปี เป็นช่วงเวลาที่ทำให้ชีวิตการเมืองของสกล เปลี่ยนแปลง ก่อนหมดวาะการเป็นรองนายกฯ ในปี 2555 เพียง 1 เดือน คณะผู้บริหารเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ได้ลาออก หนึ่งในนั้นมีเขารวมอยู่ด้วย หลังจากเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา เขาได้ทุ่มเทและอุทิศเวลาการทำงานเพื่อคนในท้องถิ่นอย่างเต็มที่แล้ว จึงถือโอกาสเว้นวรรคเพื่อกลับมาทำหน้าที่พ่อให้กับลูกน้อยที่กำลังอยู่ในช่วงวัยช่างจำนรรจา เพราะที่ผ่านมารู้สึกว่าให้เวลากับครอบครัวน้อยเกินไป
เมื่อลูกสาวตัวน้อยเติบโตขึ้น ประกอบกับความพร้อมในหลายด้าน ทั้งครอบครัว วัยวุฒิ และประสบการณ์ สกล จึงพร้อมกลับเข้ามาทำงานการเมืองท้องถิ่นอีกครั้ง แต่เนื่องจากการเมืองท้องถิ่นถูกแช่แข็งจากความไม่สงบทางการเมือง การเว้นวรรคทางการเมืองของเขาจึงกินเวลานานเกือบ 9 ปี กระทั่งหวนกลับมาลงสนามอีกครั้งในการเลือกตั้งนายกเทศมนตรี เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 64
การกลับมาของ สกล เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เขาลงสมัครรับเลือกตั้งในกลุ่มรักษ์บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นกลุ่มใหม่ ที่เขาฟอร์มทีมขึ้นมาเอง ร่วมกับพรรคพวกที่มีแนวคิดทางการเมืองในคอเดียวกัน
ด้วยความที่บิดาปลูกฝังเรื่องการทำงานสิ่งใดให้ทำจริงจัง โดยทำเป็นแบบอย่างให้ดูตั้งแต่วัยเยาว์ สกลจึงซึมซับเอานิสัยแห่งความมุ่งมั่นนั้นมาใช้ในการทำงานด้วย นับตั้งแต่วันแรกของการเปิดสมัครรับเลือกตั้ง สกล ลงพื้นที่พบปะชาวบ้านแบบเคาะประตูเรียงบ้าน ตั้งแต่เช้าจรดเย็น เป็นกิจวัตรที่ทำทุกวันจนกระทั่งวันสุดท้ายที่กฎหมายอนุญาตให้หาเสียงได้ และผลของความมุ่งมั่นก็ทำให้เขาได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งในที่สุด
“ผลการเลือกตั้งถือว่าดีมากครับ ประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งประมาณ 1.8 หมื่นคน มีผู้มาลงคะแนน 1 หมื่นต้นๆ ผมได้คะแนน 5,600 กว่าๆ ส่วนที่ 2 ได้ประมาณ 5,000 คะแนน ชนะกัน 500 กว่าคะแนน ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ”
- บทบาทของการเป็นนายกเทศมนตรีในบ้านเกิด
เทศบาลเมืองบุรีรัมย์มีพื้นที่ไม่ใหญ่นัก ขนาดราว 6.0 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 3,750 ไร่ ทิศเหนือ ติดต่อกับตำบลชุมเห็ด ทิศตะวันออก ติดต่อกับตำบลอิสาณ ทิศใต้ ติดต่อกับตำบลอิสาณ และทิศตะวันตก ติดต่อกับตำบลอิสาณ ชุมชนในเขตเทศบาลมีทั้งสิ้น 18 ชุมชน มีประชากรราว 2.5 หมื่นคน และมีประชากรแฝงมากถึง 3 หมื่นคน บ่งบอกถึงความเจริญในเขตเทศบาลได้เป็นอย่างดี
ด้วยความหนาแน่นของประชากรที่มีมากถึง 4,181 คนต่อตารางกิโลเมตร ในพื้นที่เทศบาลจึงมีโรงเรียนตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก เพื่อรองรับความต้องการด้านการศึกษาอย่างทั่วถึง ประกอบด้วย ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 2 แห่ง ได้แก่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ (ชุมชนหนองปรือ) และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กโรงเรียนพยาบาลบุรีรัมย์ โรงเรียนระดับก่อนประถมศึกษาและระดับประถมศึกษา 5 แห่ง โรงเรียนระดับก่อนประถมศึกษา ประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา (โรงเรียนขยายโอกาส) 3 แห่ง โรงเรียนระดับมัธยมศึกษา 2 แห่ง วิทยาลัย 2 แห่ง มหาวิทยาลัย 2 แห่ง และโรงเรียนพระปริยัติธรรม 3 แห่ง
โรงเรียนในสังกัดของเทศบาลเมืองบุรีรัมย์มีทั้งสิ้น 3 แห่ง และ 1 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ได้แก่ โรงเรียนเทศบาล 1 “บุรีราษฎร์ดรุณวิทยา” โรงเรียนเทศบาล 2 “อิสาณธีรวิทยาคาร” โรงเรียนเทศบาล 3 และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลเมืองบุรีรัมย์
เพราะเกิดและโตในพื้นที่เทศบาลเมืองบุรีรัมย์ สกล ไกรรณภูมิ หรือ นายกอ๋อง จึงมองเห็นถึงปัญหาและเข้าใจความต้องการของคนในพื้นที่เป็นอย่างดี การวางแนวนโยบายที่จะนำมาพัฒนาเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ จึงเน้นที่การพัฒนาควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาอย่างสมดุล มีเป้าหมายต้องการให้เทศบาลเมืองบุรีรัมย์ เป็นเมืองแห่งความสุข สอดรับความหมายของชื่อเมือง ที่หมายถึงความรื่นรมย์ ภายใต้สภาพแวดล้อมที่สะอาดและปลอดภัย มีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้รับการศึกษาที่มีมาตรฐาน รักษาประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและกีฬาซึ่งเป็นหัวใจของการพัฒนาจังหวัดบุรีรัมย์ โดยอาศัยความมีส่วนร่วมของชุมชนที่เข้มแข็ง
โดยเน้นทำให้เทศบาลเมืองบุรีรัมย์ปลอดภัย สะอาด ไร้มลพิษ เป็นที่อยู่อาศัยที่น่าอยู่สำหรับทุกคน โดยเฉพาะโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ “ละลม” คูเมืองโบราณสมัยทวารวดี อายุกว่า 1,800 ปี มีลักษณะเป็นแนวลำน้ำรูปวงรี 6 ลูกโอบล้อมพื้นที่เมือง มีความกว้างเฉลี่ย 80 เมตร ยาวประมาณ 5,000 เมตร ซึ่งถือว่าเป็นแลนด์มาร์คและหัวใจของเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ เพื่อรับรองการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและกีฬา รวมถึงการปรับปรุงการคมนาคมขนส่งในชั่วโมงเร่งด่วนให้มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ตลอดจนการจัดการด้านสุขภาพให้กับคนในชุมชน การควบคุมโรคอย่างเป็นระบบ การดูแลสุขภาพอนามัย ส่งเสริมการป้องกันโรคเชิงรุกในชุมชนและโรงเรียนอย่างทั่วถึง
สำหรับปัญหาที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนของเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ นายกอ๋อง มองว่าเป็นปัญหาการจัดเก็บขยะ ที่มาควบคู่กับปัญหาน้ำท่วมในเขตเมือง ขยะที่เทศบาลฯ จัดเก็บจากคนในพื้นที่มีประมาณวันละ 40 ตัน และรับขยะจากนอกเขตเทศบาล 60 ตันต่อวัน ทำให้เทศบาลต้องจัดเก็บขยะวันละกว่า 100 ตัน ส่งผลให้บ่อขยะที่รองรับขยะของเทศบาลและอีก 18 อปท. โดยรอบกำลังจะเต็ม ซึ่งกำลังร่วมกันศึกษาแนวทางแก้ปัญหาใน 2 ประเด็น คือ การแก้ปัญหาในระยะสั้น โดยการขอขยายพื้นที่จัดเก็บขยะ และการแก้ปัญหาระยะยาวอย่างยั่งยืนโดยใช้เทคโนโลยีกับพลังงานในอนาคต ว่ามีวิธีใดที่เหมาะสมกับบริบทของเทศบาลเมือง
ขณะที่ปัญหาด้านการจราจรในชั่วโมงเร่งด่วนและน้ำท่วมซ้ำซากในเขตเมือง ได้เข้าปรึกษากับทางจังหวัด และผู้กำกับฯ รองผู้กำกับฯ สารวัตรจราจร และตำรวจบ้าน เพื่อร่วมกับหาแนวทางบริหารจัดการจราจรในชั่วโมงเร่งด่วน เพื่อบรรเทาปัญหาให้กับคนในพื้นที่
“ในช่วงที่ผ่านมาบุรีรัมย์มีความเจริญและพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว มีธุรกิจพาณิชยกรรมเกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและกีฬา ซึ่ง จ.บุรีรัมย์จะเด่นในเรื่องนี้ มีการเติบโตแบบก้าวกระโดด เทศบาลเมืองบุรีรัมย์เป็นศูนย์กลางของการบูรณาการร่วมกับจังหวัด ในการพัฒนาเมืองเพื่อรองรับการท่องเที่ยวมาโดยตลอด ประกอบกับการขยายตัวของหน่วยงานภาครัฐเข้ามาอยู่ในพื้นที่ ทำให้เทศบาลเมืองมีสภาพเป็นชุมชนหนาแน่น มีประชากรและประชากรแฝงเข้ามาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
ภายใต้ความเจริญในมิติการท่องเที่ยว มิติทางสังคม ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีปัญหาของประชาชนที่ต้องเร่งการแก้ไขอยู่มากมาย ประกอบกับการกลับคืนสู่ท้องถิ่นของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสถานที่คลัสเตอร์เสี่ยง เช่น แคมป์คนงานก่อสร้างในกรุงเทพมหานคร ทำให้เทศบาลฯ ต้องเฝ้าระวัง และเตรียมแผนรับมือการไหลกลับของแรงงานในพื้นที่
แต่เนื่องจากเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ มีความหนาแน่นของประชากรสูง มีบุคคลเข้าออกพื้นที่อยู่ตลอดเวลา ทั้งยานพาหนะสาธารณะ และยานพาหนะส่วนตัว ทำให้ยากต่อการควบคุม ต้องอาศัยความร่วมมือแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกันของหน่วยงานในพื้นที่ การติดตามประเมินสถานการณ์แบบวันต่อวัน พร้อมกับการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารการปฏิบัติตัวให้ประชาชนทราบอย่างรวดเร็ว ทั่วถึง ครอบคลุมช่องทางการสื่อสารทุกรูปแบบ”
- เสียงสะท้อนในฐานะคนท้องถิ่นต่อการกระจายอำนาจในปัจจุบัน
“ผมมองว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยมีปัญหาด้านโครงสร้างที่ทับซ้อนกัน ปัญหาการกำกับดูแล ที่ราชการส่วนภูมิภาคกำกับดูแลองค์ปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้ท้องถิ่นขาดความเป็นอิสระ ปัญหาด้านงบประมาณที่ไม่เพียงพอ ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายโดยระยะแรก อบจ. เทศบาลนคร และเทศบาลเมือง เป็นหน่วยขอรับงบประมาณตรงจากสำนักงบประมาณ แต่การจัดสรรที่ได้รับกลับมากลับไม่เป็นไปตามคำของบประมาณ ทำให้กระทบต่อการบริหารจัดการงบประมาณในแต่ละ อปท.เป็นอย่างมาก รวมทั้งด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่ยังขาดการมีส่วนร่วมอย่างเพียงพอ”
“ดังนั้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรมีอำนาจหน้าที่อย่างกว้างขวางและเป็นการทั่วไป ต้องได้รับการจัดสรรงบประมาณอย่างมีเหตุมีผล รัฐส่วนกลางควรจัดการเพียงอำนาจหน้าที่เรื่องหลักของประเทศ อาทิ ป้องกันประเทศ ด้านการคลังและระบบเงินตรา ด้านกระบวนการยุติธรรม และการต่างประเทศเท่านั้น ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี และให้อิสระแก่ท้องถิ่นมากขึ้น โดยยึดผลประโยชน์แก่ประชาชนเป็นหลัก ผมมองว่านี่คือแนวทางแก้ปัญหาระยะยาวของท้องถิ่น”