เปิดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่13 หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้แล้ว เดินหน้าขับเคลื่อนท้องถิ่นสู่เมืองอัจฉริยะ ชู “ขอนแก่นโมเดล” เป็นต้นแบบ
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566-2570) มีผลบังคับใช้แล้ว หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 1 พ.ย.2565 ที่ผ่านมา โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่า สาระสำคัญที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาท้องถิ่นคือ การมุ่งเน้นการพัฒนาใน ๓ ด้านหลัก คือ การสร้างความสามารถในการแข่งขัน ,การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่นในการพัฒนา การพึ่งตนเอง การจัดการตนเองเพื่อสร้างสังคมคุณภาพและการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งผลักดันให้เมืองเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติและมีความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทุกรูปแบบ การเสริมสร้างความสามารถของท้องถิ่นการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยง ภายใต้บริบทโลกใหม่ โดยส่งเสริมให้เมืองยกระดับสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) และรัฐดิจิทัลในระดับท้องถิ่น
ทั้งนี้การมุ่งเน้นการเป็นเมืองอัจฉริยะและรัฐดิจิทัล จะช่วยให้เกิดการเชื่อมโยงกับการให้บริการของท้องถิ่นในด้านสุขภาพ การศึกษา การขนส่งมวลชน พลังงานและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้การให้บริการแก่ประชาชนเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการให้บริการ และยังสามารถเปิดโอกาสให้มีการลงทุนเพื่อพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
โดยการส่งเสริมให้เมืองอัจฉริยะ ยังได้มีการระบุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ว่าให้มีการศึกษาและถอดบทเรียน “ขอนแก่นโมเดล” เป็นต้นแบบเพื่อขยายสู่พื้นที่ท้องถิ่นอื่น ๆ ต่อไปอีกด้วย
ขอนแก่นโมเดล เกิดขึ้นจากเมืองขอนแก่นมีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของประเทศ อีกทั้งยังอยู่ตรงกลางของภาคอีสาน ทำให้กลายเป็นเมืองศูนย์กลางในหลาย ๆ มิติ แต่การที่เมืองเติบโตอย่างรวดเร็วก็ทำให้มีปัญหาอื่น ๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหามลพิษ ขนส่งมวลชน และความเหลื่อมล้ำในสังคม ก่อนที่เมืองจะโตไปแบบไร้ทิศทาง ภาคเอกชนและราชการส่วนท้องถิ่นของขอนแก่นจึงลุกขึ้นมาเอาจริงเอาจัง ในการวางแผนพัฒนาเมือง พร้อมกับใช้จุดแข็งเชิงพื้นที่ในการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ และแหล่งรวมสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำ เพื่อผลักดันนวัตกรรมและผลงานวิชาการในด้านต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับโมเดลพัฒนาเมืองที่เรียกว่า “ขอนแก่นโมเดล” ได้สำเร็จ
โดยเฉพาะการพัฒนาเมืองขอนแก่น ให้เป็น “สมาร์ตซิตี้” มีแผนพัฒนารวม 7 หมวด 129 โครงการ มีทั้งที่ทำโครงการแล้วเสร็จและกำลังจะดำเนินงาน โดยความร่วมมือของจังหวัดขอนแก่น และเทศบาลนครขอนแก่น ภาคเอกชน และสถาบันศึกษา อาทิ โครงการที่ดำเนินการโดย เทศบาลนครขอนแก่น ประกอบด้วย โครงการ “Smart Environment” คือ มีการสร้างโรงเผาขยะที่ไม่สร้างมลพิษ และ สามารถแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้า, โครงการเสาไฟอัจฉริยะ (Smart Pole) สายไฟฟ้าลงดิน และกล้องวงจรปิดอัจฉริยะ อินเตอร์เน็ต IoT
โครงการ Smart Economy เทศบาลนครขอนแก่น ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ทำโครงการฟื้นฟูย่านเมืองเก่าให้เป็นศูนย์กลางเมืองสร้างสรรค์เพื่อรองรับคนรุ่นใหม่ (Creative District) ,โครงการ Walking Street และ Smart Farming ผสานกับแนวคิด Smart Energy อาทิ ใช้โซลาร์เซลล์เพื่อสูบน้ำขึ้นมาใช้ในการเกษตร , หอประชุมนานาชาติ KICE เพื่อตอบโจทย์การเป็นเมืองแห่งการประชุมและสัมมนา (Mice City)
โครงการ 43 Innovations ภายใต้แนวคิด Smart People เป็นโครงการของเทศบาลนครขอนแก่นร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น พัฒนางานด้านนวัตกรรม ได้ 43 นวัตกรรม
โครงการ Smart Governance โดยจังหวัดขอนแก่น และเทศบาลนครขอนแก่น มีแผนจัดทำ E-Government และทำแอปพลิเคชั่น EPAM ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นสำหรับการประชุมออนไลน์ของจังหวัด โดยปราศจากการใช้กระดาษ
โครงการ Smart Mobility เป็นโครงการความร่วมมือ ระหว่าง depa และ KKTS ดำเนินการสร้าง รถไฟฟ้ารางเบา (LRT) เริ่มดำเนินการสร้างภายในปี พ.ศ.2564 ถือเป็นโครงการสำคัญของจังหวัดขอนแก่น เพราะเป็นการปรับโครงสร้างเมืองให้เกิดการคมนาคมที่สะดวกขึ้น เหมาะสมต่อการลงทุน ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับพื้นที่โดยรอบ ซึ่งจะก่อเกิดเม็ดเงินที่จะหมุนเวียนเข้าสู่เมือง ไว้เพื่อเป็นเงินทุนในการพัฒนาเมืองขอนแก่นต่อไป
นอกจากนี้มีโครงการที่กำลังจะเริ่มดำเนินงาน คือ โครงการรางสร้างเมือง-รางสร้างไทย โดยมี K-City ของประเทศเกาหลีเข้ามาร่วม ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม โดยโครงการดังกล่าวเป็นการออกแบบแผนธุรกิจด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ชุมชน กิจกรรมเชิงพาณิชย์ และพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกรอบบึงแก่นนคร เชื่อมต่อด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ‘รถแทรมน้อย’ ซึ่งได้รับมอบมาจากเมืองฮิโรชิม่า ประเทศญี่ปุ่น
นอกจากยังมีการพัฒนาในด้านการแพทย์สาธารณสุข โดยร่วมมือกับ depa และ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใต้แนวคิด Smart Living ที่สามารถเสริมสร้างประสิทธิภาพในการรักษาพยาบาล อาทิ โครงการ Khon Kaen Smart Health (ได้รับรางวัลโครงการเมืองอัจฉริยะยอดเยี่ยมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เป็นโครงการริเริ่มที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลร่วมมือกับจังหวัด ผู้ให้บริการสาธารณสุข และมหาวิทยาลัยในขอนแก่น ประกอบด้วยส่วนบริการ 1. รถพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Ambulance) ที่ใช้เทคโนโลยีการประชุมทางไกล (Teleconference) IOT และเทคโนโลยี โรโบติกส์ (robotic) ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพงานช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน และช่วยให้แพทย์สามารถทำการวินิจฉัยเบื้องต้น หรือเริ่มกระบวนการรักษาฉุกเฉินได้ก่อนที่ผู้ป่วยจะมาถึงโรงพยาบาล 2. บริการด้านสุขภาพเชิงป้องกัน จากสายรัดข้อมืออัจฉริยะ (Smart Wristband) ระบบบ้านอัจฉริยะ (Smart Home) เพื่อจัดเก็บข้อมูลเชิงสุขภาพ และให้คำแนะนำสุขภาพกับประชาชน 3. พัฒนาระบบเทคโนโลยีบล็อกเชน (blockchain) เพื่อวิเคราห์ big data เพื่อจะเป็นประโยชน์ต่อการแบ่งปันข้อมูลทางการแพทย์ที่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถเข้าถึง
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาท้องถิ่นอีกด้านหนึ่งคือ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินในเมือง โดยคำนึงถึงการวางและจัดทำผังเมืองที่ครอบคลุมทุกมิติส่งเสริมกระบวนการจัดรูปที่ดินควบคู่ไปกับการวางแผนพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน ตามแนวทางการพัฒนาเมืองให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน