ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบ ในการใช้งบประมาณในการติดเสาไฟส่องสว่างของท้องถิ่นบางแห่ง ยังมีเรื่องราวดีๆ ที่คนในโลกโซเชียลต่างชื่นชม แนวคิด “โคมไฟจากสุ่มไก่” ที่ติดสว่างไสวไปทั่วทั้ง องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านใหม่ (อบต.บ้านใหม่) อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา ด้วยงบประมาณไม่ถึง 5 แสนบาท แต่มีไฟสว่างนับ 1,000 จุด ครอบคลุมพื้นที่ทั้งตำบล
นิตยสารผู้นำท้องถิ่น ขอพาไปทำความรู้จัก “นายกอุ๊” วัชรพงศ์ ระดมสิทธิพัฒน์ นายก อบต.บ้านใหม่ ผู้จุดประกายความคิดโคมไฟสุ่มไก่ ไฟสว่าง สร้างความสวยงาม นำรายได้สู่ชุมชน
จุดเริ่มต้นของแนวคิดโคมไฟสุ่มไก่
“ประมาณปี 2560 หรือราว 4 ปีก่อน ทางจังหวัดอยุธยาให้ผมไปช่วยดูแลออกแบบ ตลาดอยุธยาไนท์มาร์เก็ต ซึ่งตอนนั้นในพื้นที่ที่จะเปิดตลาดค่อนข้างมืด ไม่มีแสงไฟ แต่มีต้นไม้เยอะ ผมคิดว่าทำอย่างไรดีถึงจะสวย ประหยัด ราคาไม่แพง จึงได้ทดสอบนำสุ่มไก่มาแขวนกับหลอดไฟ LED ช่วงแรกที่คิดทำ นอกจากสุ่มไก่ ก็ยังมีจักสานชนิดอื่นๆ ด้วย เช่น ลอบ กรงนก ผลลัพธ์ที่ได้คือ พื้นที่ตลาดสว่าง สวยงาม ในราคาประหยัด ช่วงนั้นชาวบ้านและนักท่องเที่ยวให้ความสนใจ แห่แหนกันมาถ่ายรูปเป็นจำนวนมาก นอกจากพื้นที่ตลาดอยุธยาไนท์มาร์เก็ต ก็ได้นำแนวคิดนี้มาใช้ตกแต่งบริเวณหลวงปู่ทวดองค์ใหญ่ที่ จ.พระนครศรีอยุธยาด้วย”
สำหรับที่มาของโคมไฟสุ่มไก่ในตำบลบ้านใหม่ นายกอุ๊ เล่าว่า เมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว บริเวณหมู่บ้านใน ต.บ้านใหม่ มีต้นไม้ขนาดใหญ่ขึ้นเป็นจำนวนมาก เช่น ต้นก้ามปู ต้นไทร กลางคืนดูแล้วมืดทึบน่ากลัวและวังเวง จึงได้นำโคมไฟสุ่มไก่มาติดไว้ ซึ่งต่อมาก็ได้ขยายจุดติดไปเรื่อยๆ
ทำไมต้องเป็น “สุ่มไก่”
“พื้นที่ ต.บ้านใหม่ ถือเป็นแหล่งค้าขายเครื่องจักสานที่ใหญ่ที่สุดใน จ.พระนครศรีอยุธยา สุ่มไก่ที่ผมใช้ เป็นหนึ่งในสินค้าจักสาน ซึ่งเป็นสินค้า OTOP จ.พระนครศรีอยุธยา เกิดจากฝีมือชาวบ้านในพื้นที่ สืบต่อกันมาเป็นภูมิปัญญา วัสดุที่ใช้คือผิวไม้ไผ่สานขัดกันไปมา จึงมีความคงทนแข็งแรง สุ่มที่ใช้มีหลายขนาด ราคาแตกต่างกันไปตามขนาดและรายละเอียดของลวดลาย ราคาเริ่มต้นตั้งแต่หนึ่งร้อยกว่าบาท ถึงสามร้อยบาท”
สาเหตุที่เลือกใช้สุ่มไก่ทำโคมไฟ นายกอุ๊ให้เหตุผลว่า อบต.บ้านใหม่ เป็นท้องถิ่นแห่งเล็กๆ ที่มีงบประมาณเพียง 20 ล้านบาท ซึ่งเมื่อหักค่าใช้จ่ายประจำแล้ว คงเหลือเป็นงบพัฒนาเพียง 4-6 ล้านบาท ดังนั้นการเลือกใช้โคมไฟในราคาสูงๆ จึงไม่เคยอยู่ในความคิด อีกทั้งมองว่า การเลือกใช้โฟมไฟที่ทำเองจากสุ่มไก่ มีความสวยงามตามธรรมชาติ เป็นงานฝีมือที่มีเอกลักษณ์ของภูมิปัญญาท้องถิ่น
พื้นที่ติดตั้งแบบ “บ้านๆ”
การติดโคมไฟสุ่มไก่ นายกอุ๊พิจารณาตามความจำเป็นและความเหมาะสมของพื้นที่ โดยยึดหลักประโยชน์คือ “ความสว่าง” เป็นหลัก โดยปกติติดบริเวณถนน และในซอย ที่มีเสาไฟฟ้าสาธารณะเข้าถึง ไม่ต้องตั้งเสาใหม่ จากที่เคยติดบริเวณต้นไม้ เสาไฟฟ้า ก็เริ่มเข้าพื้นที่ชุมชน ในตรอกก็ติดตามชายคาบ้านเรือน ตรงนี้ชาวบ้านอนุญาต เพราะเห็นว่าหมู่บ้านสว่างขึ้น และสวยงาม
อายุการใช้งานของโคมไฟสุ่มไก่
เดิมโคมไฟมีทั้งแบบสุ่มไก่ และกรงนก แต่จากการใช้งานพบว่า แบบกรงนกไม่คงทน ชำรุดเสียหายได้มากกว่า โดยเฉพาะตัวฐานของกรง เมื่อหลุดออก นกพากันคาบเศษหญ้าเข้าไปทำรัง กลายเป็นกรงนกของจริง ไฟก็ไม่สว่างเต็มที่ ปัจจุบันเครื่องจักสานที่ อบต.เลือกใช้ จึงมีแต่แบบสุ่มไก่ เพราะดูแลรักษาง่ายกว่า ในด้านความคงทน นายกอุ๊คอนเฟิร์มว่า สุ่มที่ติดเมื่อ 3 ปีก่อน ปัจจุบันยังคงถูกใช้งานอยู่ ไม่พังเสียหาย
ความเห็นของคนในพื้นที่
“ชาวบ้านชื่นชอบมากเลย บอกว่าสวยและสว่างดีมาก บอกให้นายกมาติดอีกนะ มาติดให้ที่บ้านด้วยนะ ทุกคนเต็มใจมาก เรียกร้องให้เราไปติดให้”
ทำความรู้จัก “นายกอุ๊” วัชรพงศ์ ระดมสิทธิพัฒน์
นายวัชรพงศ์ ระดมสิทธิพัฒน์ หรือ นายกอุ๊ นายก อบต.บ้านใหม่ อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา เข้ามารับตำแหน่งเมื่อปี 2556 เป็นสมัยแรก อยู่ในวาระมานานกว่า 9 ปี เนื่องจากติดคำสั่ง คสช. เดิมเป็นคนแปดริ้ว ก่อนจะย้ายมาที่ จ.พระนครศรีอยุธยาในปี 2553 เขาทำมาหลากหลายอาชีพ ล้วนเกี่ยวข้องกับวงการพระเครื่องทั้งสิ้น อาทิ บรรณาธิการหนังสือพระเครื่อง ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์พระเครื่อง “ยูอมูเลทดอทคอม” รวมไปถึงมีโรงหล่อพระเป็นของตัวเอง เรียกได้ว่า นายกอุ๊ เป็นเซียนพระตัวจริง
เดิมทีไม่เคยมีความคิดจะเป็นนักการเมือง แต่เนื่องจากอดีตนายกอบต.บ้านใหม่หมดวาระ กำลังมองหาทายาทส่งต่อเส้นทางการเมือง จึงชักชวนให้ลงเลือกตั้งในกลุ่มการเมืองของตน ขณะที่การเมืองฝ่ายตรงข้ามก็ชวนด้วยเช่นกัน เมื่อไม่รู้จะเลือกฝ่ายไหน จึงได้ปรึกษาพรรคพวกก่อนตัดสินใจลงสมัครด้วยตนเอง และได้รับเลือกให้เป็นนายก อบต. จากผู้สมัครทั้งหมด 6 คนในครั้งนั้น
ปัจจุบันโคมไฟสุ่มไก่ ไอเดีย นายกอุ๊ ถูกติดครอบคลุมทั่วหมู่บ้านใน ต.บ้านใหม่ อ.มหาราชแล้วกว่า 1,000 ดวง จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ บริเวณต้นไม้ใหญ่ที่มืดครึ้ม กระจายไปยังตรอก ซอก ซอย และชายคาบ้านเรือนของชาวบ้าน สร้างความปลอดภัย และอุ่นใจให้กับคนในพื้นที่ ภายใต้แนวคิดการทำงาน “ตรงไปตรงมา ไม่ยึดความถูกใจใคร ยึดความถูกต้องเป็นหลัก ไม่เอาใจประชาชนในทางที่ผิด”