เทศบาลนครขอนแก่นเปิดสูตร 7 แนวคิดสู่เมืองสมาร์ทซิตี้ สร้าง Smart People – Smart Living – Smart Education – Smart Environment – Smart Economy – Smart Governance และ Smart Mobility แทรกทุกโครงการในปี 2566
เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ที่ผ่านมา นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น บรรยายพิเศษเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ของเทศบาลนครขอนแก่น แก่นักศึกษาคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) นำโดย นายกฤษณพงศ์ เจริญวาณิชย์ ประธานรุ่นนิด้า 28 ที่เทศบาลนครขอนแก่น
นายธีระศักดิ์ กล่าวว่า เทศบาลนครขอนแก่น ได้นำสมาร์ทซิตี้ (Smart City) หรือ เมืองอัจฉริยะ เป็นรูปแบบการประยุกต์เทคโนโลยีดิจิทัล หรือ ข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสารในการเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของบริการชุมชน เพื่อช่วยในการลดต้นทุน และลดการบริโภคของประชากร โดยยังคงเพิ่มประสิทธิภาพให้ประชาชนสามารถอยู่อาศัยได้ในคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยสมาร์ทซิตี้ มีการพัฒนาในหลายภาคส่วนรวมถึงหน่วยงานราชการ การจราจรและขนส่ง พลังงาน สาธารณสุข โครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาการจัดการเมือง และการตอบสนองแบบทันท่วงที โดยมีแนวคิด Smart City 7 ด้าน ประกอบด้วย
Smart People คือ “พลเมืองตื่นรู้” เมืองที่ให้ความเท่าเทียมกันในสังคม มีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส คนสูงอายุ เปิดโอกาสและสร้างสำนึกให้คนในเมืองมีส่วนร่วม เช่น โครงการสภาเมือง คนขอนแก่นไม่ทอดทิ้งกัน ขอนแก่นเมืองพิเศษ
Smart Living คือ “การพัฒนาคุณภาพชีวิต” เมืองที่น่าอยู่ มีความปลอดภัย มีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการศึกษา และด้านสุขภาพอนามัย โครงการขอนแก่นเมืองใจดี โครงการติดตั้งกล้อง CCTV 1,000 จุด โครงการศูนย์สร้างสุขผู้สูงอายุ
Smart Education คือ “การศึกษาอัจฉริยะ” เมืองที่มีการพัฒนาการจัดการศึกษาให้ทั่วถึง ครอบคลุมทุกกลุ่มทุกวัย อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต รับศตวรรษที่ 21
Smart Environment คือ “การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ” เมืองที่ประหยัดพลังงาน Green building หรือการลดการใช้พลังงาน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โครงการพลังงานโซล่าเซลล์ ซึ่งร่วมกับสถานศึกษาในพื้นที่ (มหาวิทยาลัยขอนแก่น) โครงการคนขอนแก่นหัวใจไร้มลพิษ เมืองจักรยาน เมืองรู้สู่ภัยพิบัติ
Smart Economy คือ “เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์” เมืองที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ การสร้างนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์ และบริการ รวมถึงการสร้างบริษัทใหม่ๆ ในยุคดิจิทัล กองทุนตั้งตัว Start UP เศรษฐกิจสร้างสรรค์
Smart Governance คือ “มุ่งเน้นการบริหารงานแบบธรรมาภิบาล และการบริหารจัดการในองค์กร” เมืองที่บริหารจัดการโปร่งใส มีความร่วมมือกับภาคเอกชนอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น โครงการเทศบาลเล็กในเทศบาลใหญ่ โครงการเทศบาลดิจิทัล โครงการระบบร้องทุกข์ you pee (อยู่พี่) โครงการ Lora KKM ชิปอัจฉริยะ อีกทั้งในอนาคตข้างหน้าประชาชนไม่ต้องมาใช้บริการที่เทศบาลสามารถยื่นแบบเสียภาษีผ่านสมาร์ทโฟน ขณะนี้กำลังขับเคลื่อนการปรับปรุงระบบให้เป็น Big Data ให้ข้อมูลทุกสำนัก/กองเชื่อมโยงกันได้ จะเกิดความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
Smart Mobility คือ เมืองที่สามารถติดต่อสื่อสารระหว่างกันได้อย่างสะดวกสบาย มีความคล่องตัว และมีความปลอดภัย ระบบขนส่งมวลชน LRT สายเหนือ-ใต้ (สำราญ-ท่าพระ) และเรื่องการมีส่วนร่วมการลงทุนของหน่วยงานเอกชน KKTT เทศบาลนครขอนแก่น การร่วมมือระหว่าง 5 เทศบาลในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท จำกัด (KKTS) เพื่อพัฒนาระบบขนสาธารณะรถไฟฟ้ารางเบา LRT ระบบสาธารณูปโภค พัฒนาความเจริญด้านต่างๆ ให้กับจังหวัดขอนแก่น
นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น ได้กล่าวถึงการนำหลักการจัดการศึกษาของเทศบาลนครขอนแก่น คือการขับเคลื่อนคุณลักษณะที่พึงประสงค์ 5+ 1 ได้แก่ 1.มีวินัย 2.อดทน 3.รับผิดชอบ 4.เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ 5.กตัญญู + 1.คือ สำนึกรักท้องถิ่น โดยให้นำไปแนะนำและสอดแทรกในการจัดกิจกรรมทุกๆ โครงการ อีกด้วย
ขณะที่นายกฤษณพงศ์ เจริญวาณิชย์ ประธานรุ่นนิด้า 28 ได้กล่าวชื่นชมเทศบาลนครขอนแก่นและภาคีเครือข่ายที่ร่วมกันขับเคลื่อนเรื่อง Smart City ให้เห็นเป็นรูปธรรมอีกทั้งยังได้รับรางวัลต่างๆ สามารถนำเป็นแบบอย่างในการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยุคใหม่ (Thailand 4.0) ซึ่งเป็นการนำกลไกประชารัฐ เทคโนโลยี มาแก้ไขปัญหาและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ท้องถิ่น ยึดหลักการมีส่วนร่วม โปร่งใส และการกระจายอำนาจ พร้อมจะขับเคลื่อนการพัฒนาร่วมกันกับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานภาคเอกชน การใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาและเพิ่มศักยภาพในการให้บริการประชาชน ส่งผลให้เกิดการสร้างการมีส่วนร่วม มีการบริหารจัดการการพัฒนาเมืองให้เจริญเติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน