คณะกรรมการการกระจายอำนาจฯ เผย มท. ตั้งงบฯ 1,700 ลบ. ให้ “ท้องถิ่น” เตรียมรับมือปัญหาไฟป่าปี 67 ตามภารกิจป้องกันและควบคุมไฟป่า คาดนายกฯ พร้อมสนับสนุน
รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ให้สัมภาษณ์ประเด็น “ฝุ่นมา(อีก)แล้ว เตือนภัย รับมือ” ในรายการ เรื่องดังหลังข่าว ทางช่อง NBT โดยเปิดเผยว่า ในปี 2567 ฤดูไฟป่าอาจจะเริ่มในช่วงปลายเดือนมกราคม และเกิดขึ้นมากที่สุดในช่วงเดือนเมษายน ตรงกับช่วงภาวะเอลนีโญที่มีอากาศแห้งและแล้ง โดยเป็นภาวะที่เอื้ออำนวยต่อการเกิดไฟป่ามากเป็นพิเศษ ถ้าไม่วางแผนกันตั้งแต่ตอนนี้ การป้องกันและควบคุมป่าในช่วงเวลานั้นคงไม่มีประสิทธิภาพ จนนำไปสู่ปัญหาฝุ่น PM 2.5”
มท. ตั้งเงินอุดหนุนท้องถิ่น 1,700 ลบ.
รศ.ดร.ธนพร กล่าวต่อว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นหน่วยงานของรัฐที่อยู่ในพื้นที่ โดยมี อปท. ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องไฟป่าถึง 2,342 แห่ง ซึ่งในปี 2565 ที่ผ่านมา ที่ประชุม ก.ก.ถ. มีมติเห็นชอบให้มีการถ่ายโอนภารกิจการป้องกันและควบคุมไฟป่าของกรมป่าไม้ในพื้นที่ป่าสงวนทั้งหมดไปให้กับ อปท. และมีการจัดสรรงบประมาณให้กับ อปท. 2,342 แห่ง จัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ในการดับไฟ
ในร่าง พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 ที่กำลังจะเข้าการพิจารณาโดยคณะรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย (มท.) โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ได้พิจารณาจัดทำคำของบประมาณเงินอุดหนุนทั่วไปโดยคำนวณอัตราค่าใช้จ่ายเป็นไปตามที่กรมป่าไม้จัดทำอัตราราคาต่อหน่วย ดังนี้ พื้นที่ป่าตั้งแต่ 1 – 49,999 ไร่ จำนวน 638,500 บาท/แห่ง ถ้าดูแลพื้นที่ป่าตั้งแต่ 50,000 – 100,000 ไร่ จำนวน 1,249,000 บาท/แห่ง และ 100,000 ไร่ขึ้นไป จำนวน 1,865,500 บาท/แห่ง รวม 1,709 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณเหล่านี้จะนำไปดำเนินการป้องกันและควบคุมไฟป่าใน 5 เรื่อง ได้แก่
- กิจกรรมการป้องกันและควบคุมไฟป่า จัดหาอาสาสมัครท้องถิ่นควบคุมไฟป่า โดยเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร มีการจัดโครงสร้างหน่วยงานรับผิดชอบงานป้องกันและควบคุมไฟป่า จัดเจ้าหน้าที่รับผิดชอบให้ครบถ้วนตามหน้าที่ และกำหนดวิธีการปฏิบัติตามหน้าที่และขั้นตอนต่าง ๆ ให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ
- การจัดหาอุปกรณ์ เตรียมความพร้อมด้านเครื่องมือ อุปกรณ์ ให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ
- การเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและควบคุมไฟป่า จัดฝึกอบรมอาสาสมัครท้องถิ่นควบคุมไฟป่าให้มีความรู้ด้านทฤษฎี และวิชาการด้านไฟป่าควบคู่ไปกับการฝึกทักษะการปฏิบัติงานควบคุมไฟป่า มีทักษะ ความรู้ ความเข้าใจในการรณรงค์ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ให้ราษฎรเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและควบคุมไฟป่า เช่น การรวบรวมเชื้อเพลิง การวางแผน การชิงเผา
- กิจกรรมส่งเสริมการป้องกันและควบคุมไฟป่า จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับไฟป่า สถานการณ์ ข้อมูลข่าวสาร การดำเนินงานและแนวทางการป้องกันไฟป่า เช่น การรณรงค์ การประชาสัมพันธ์
- กิจกรรมการจัดชุดเฝ้าระวัง ลาดตระเวน และดับไฟป่าในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าสม่ำเสมอ โดยเพิ่มความเข้มข้นในช่วงฤดูไฟป่า เพื่อเป็นการป้องกันการลักลอบเผาป่า และสามารถตรวจพบเหตุไฟป่าได้ทันท่วงทีสามารถควบคุมไฟป่าได้อย่างรวดเร็ว ไฟไม่ขยายวงกว้าง และควบคุมได้ง่าย ลดผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงมกราคม – พฤษภาคม ของทุกปี
“งบประมาณประจำปี 2567 ที่ตั้งไป จะเป็นค่าอาหารและค่าเสี่ยงภัยให้กับพี่น้องประชาชนที่อยู่ในท้องถิ่นเหล่านั้น นี่คือสิ่งที่ มท. ตั้งงบประมาณไปให้ 1,700 ล้านบาท เพื่อให้ อปท. นำไปใช้สอยในการดำเนินการทั้ง 5 เรื่อง” รศ.ดร.ธนพร กล่าว
คาดรัฐบาลจะให้การสนับสนุนแน่นอน
สำหรับบทบาทของรัฐบาลเรื่องการป้องกันและควบคุมไฟป่า รศ.ดร.ธนพร ระบุว่า ทิศทางของรัฐบาลมีความชัดเจนเป็นอย่างมากมากในเรื่องไฟป่า ทั้งนี้ เพื่อกำจัดต้นตอของ PM 2.5 ตนคาดว่านายกรัฐมนตรีจะให้การสนับสนุน 2 เรื่อง คือ เรื่องงบประมาณดังที่กล่าวไปแล้ว และเรื่องพื้นที่ป่าที่อยู่ในการดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) เพราะทราบว่าจะมีการทำโครงการนำร่อง เรื่อง การร่วมกันทำงานในการป้องกันและควบคุมไฟป่า ระหว่าง อปท. อส. และจังหวัดเชียงใหม่ ในพื้นที่รอบดอยสุเทพและรอบดอยอินทนนท์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับ อปท. 17 แห่ง โดยมีนัดหารือกันในวันที่ 21 ธันวาคม 2566 และคาดว่านายกฯ คงให้การสนับสนุนความร่วมมือกันในครั้งนี้ เพราะจุดเกิดไฟป่าอีกจุด ซึ่งหนาแน่นมากกว่าในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ คือ เขตอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า
“ฉะนั้นในปีนี้ หากเริ่มจากดอยสุเทพที่เป็นสัญลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่ โดยสามารถควบคุมไฟป่าที่ดอยสุเทพได้ ผมคิดว่ามันจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นกับพี่น้องประชาชน และเกิดประสิทธิภาพกับงานของรัฐบาล เพราะฉะนั้นแล้วก็มั่นใจว่ารัฐบาลจะให้การสนับสนุนใน 2 แนวทางนี้แน่นนอน” รศ.ดร.ธนพร กล่าว