เทศบาลตำบลเชียงเครือ จ.สกลนคร ปิ๊งไอเดียใช้หลักธนาคารน้ำใต้ดิน แทนการขุดร่องระบายน้ำ แก้ปัญหาน้ำท่วมขัง ขยะอุดตันท่อ ลดโรคไข้เลือดออก-อหิวาห์ ด้าน สถ.หนุนงบอีก 7 ลบ. หลังโครงการได้ผลดีเกินคาด
เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2562 นายชัย สุริรมย์ นายกเทศมนตรีตำบลเชียงเครือ อ.เมือง จ.สกลนคร พร้อมด้วยนายธีรพงษ์ ขาวประภา หัวหน้าสำนักปลัดเทศบาลตำบลเชียงเครือ นำเจ้าหน้าเทศบาลฯ ทำการขุดเจาะริมถนนในหมู่บ้านโนนศาลาและบ้านหนองหอย โดยวิธีที่ประยุกต์มาจากโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน หรือถนนไร้ร่องน้ำ เพื่อช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมขัง ภัยแล้ง และป้องกันโรคที่มาจากสัตว์ เช่น โรคไข้เลือดออกจากยุง และโรคอหิวาห์จากแมลงวัน
นายกเทศมนตรีตำบลเชียงเครือกล่าวว่า เทศบาลตำบลเชียงเครือ ได้รับการจัดสรรงบประมาณมาจากนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 4 ล้านบาท เพื่อทำการก่อสร้างธนาคารน้ำใต้ดิน โดยใช้หลักการแรงดึงดูดของโลก ซึ่งการดำเนินงานจะใช้เครื่องจักรขุดเจาะริมถนน กว้าง 80 ซม. ลึก 120 ซม. ความยาวขึ้นอยู่กับถนนในหมู่บ้าน จากนั้นใช้เศษปูนเศษอิฐหรือหินกรวดลงไปเพื่อให้เกิดโพรงอากาศจากนั้นนำท่อพีวีซีเพื่อระบายอากาศ แล้วใช้หินเกร็ดปิดทับอีกชั้น ตกแต่งให้สวยงามเรียบเนียนไปกับถนน เมื่อฝนตกลงมาน้ำทั้งหมดจะถูกดูดซึมลงไปยังธนาคารน้ำใต้ดินอย่างรวดเร็ว ต่างกับร่องหรือท่อระบายน้ำแบบเดิม หากน้ำไม่สามารถระบายได้ทันก็เอ่อท่วมถนนสัญจรลำบาก ใช้เวลานานกว่าจะแห้ง และก่อให้เกิดปัญหาขยะอุดตันอีกด้วย
“เทศบาลตำบลเชียงเครือมีทั้งสิ้น 17 หมู่บ้าน ประชากรกว่า 17,000 คน ขณะนี้ ได้ก่อสร้างธนาคารน้ำต้นแบบหรือถนนไร้ร่องน้ำไปแล้ว 7 หมู่บ้าน จะต้องดำเนินการให้ครบทั้ง 17 หมู่บ้าน ซึ่งจะได้งบประมาณจากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นมาอีก 7 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างให้แล้วเสร็จ งบประมาณในการก่อสร้างตารางเมตรละ 300 บาท ขณะที่การสร้างร่องระบายน้ำปกติใช้งบประมาณเมตรละ 1,300 บาท เรียกว่าประหยัดได้ถึงเมตรละ 1,000 บาท นอกจากนี้ ในพื้นที่ 17 หมู่บ้านในเขตปกครองของเทศบาลตำบลเชียงเครือ ยังให้ชาวบ้านขุดธนาคารน้ำใต้ดินอีก 2,100 หลุม เพื่อกักเก็บน้ำที่ไหลออกมาจากการใช้ในการอุปโภคบริโภค สามารถกำจัดยุงหรือแมลงวันและกลิ่นได้ โดยขุดหลุมกว้างยาว 1 เมตร ลึก 1.20 เมตร และใช้หลักการเดียวกันกับถนนไร้ร่องน้ำ ซึ่งที่ผ่านมา น้ำที่เคยท่วมขังในถนนหลายสายที่ท่วมขังแต่ละครั้งนาน 3 วัน ก็จะเหลือการท่วมขังเพียง 1-2 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งนอกจากจะแก้ปัญหาน้ำท่วมให้กับชาวบ้านแล้ว ยังเพิ่มความชุ่มชื้นและถนนมีความสะอาดอีกด้วย นับว่าเป็นเชียงเครือโมเดลจริงๆ” นายชัย กล่าว
หลักการธนาคารน้ำใต้ดิน เป็นการนำน้ำไปเก็บที่ชั้นใต้ดินในชั้นหินอุ้มน้ำ ในช่วงหน้าฝนที่มีน้ำมาก ธนาคารน้ำใต้ดินจะช่วยดูดซับน้ำเพื่อนำไปกักเก็บไว้ที่ชั้นหินอุ้มน้ำ เมื่อถึงช่วงหน้าแล้งก็สามารถสูบน้ำมาใช้ได้
ธนาคารน้ำใต้ดินมี 2 ประเภท คือ 1) ธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด ใช้หลักการขุดบ่อเพื่อส่งน้ำไปเก็บไว้ที่ชั้นน้ำบาดาล ขนาดและความลึกของบ่อขึ้นอยู่กับสภาพ และชั้นดินของแต่ละพื้นที่ โดยขุดบ่อให้ลึกถึงชั้นหินอุ้มน้ำ ใส่ยางรถยนต์เก่าไว้รอบขอบบ่อ จากนั้นใส่วัสดุที่หาได้ในพื้นที่ เช่น หิน อิฐ ขวดแก้ว ขวดพลาสติก ขวดน้ำ (ใส่น้ำ 2 ใน 3 ส่วน) ท่อนไม้ หรือเศษปูนให้เต็มช่องว่างด้านนอกยางรถยนต์ นำท่อ PVC มาวางตรงกลางบ่อเพื่อเป็นช่องระบายอากาศ นำวัสดุชนิดเดียวกับที่ใส่ช่องว่างด้านนอกมาเติมใส่ช่องว่างด้านในให้เต็ม คลุมด้วยผ้าไนล่อน แล้วทับด้วยก้อนหิน และตามด้วยหินละเอียดเพื่อเป็นตัวกรองให้เศษดิน หรือขยะไม่ให้เข้าไปอุดตันในบ่อ เมื่อฝนตกลงมาน้ำจะไหลสู่ชั้นใต้ดินโดยตรง ผ่านธนาคารน้ำใต้ดิน 2) ธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิด ใช้หลักการขุดบ่อเพื่อส่งน้ำไปเก็บไว้ที่ชั้นน้ำบาดาล ขนาดและความลึกของบ่อขึ้นอยู่กับสภาพและชั้นดินของแต่ละพื้นที่ โดยเจาะพื้นบ่อเป็นหลุม 3 หลุมให้ลึกถึงชั้นหินอุ้มน้ำ เพื่อให้น้ำไหลลงชั้นหินอุ้มน้ำได้ดี และมีช่องสำหรับถ่ายเทอากาศจากโพรงใต้ดินเมื่อถูกน้ำเข้าไปแทนที่ โดยน้ำที่นำมาเก็บนั้นมาจากหลายแหล่งด้วยกัน เช่น น้ำฝน หรือน้ำจากการทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด ซึ่งเมื่อน้ำถูกเติมลงชั้นใต้หินอุ้มน้ำปริมาณมากพอ น้ำจะเอ่อล้นมาที่บ่อโดยอัตโนมัติ ซึ่งเกษตรกรสามารถสูบน้ำจากบ่อนี้มาใช้ได้ทันที วิธีนี้จะช่วยให้เกษตรกรไม่ต้องขุดเจาะหาแหล่งน้ำ หรือสูบน้ำจากแหล่งน้ำไกลๆ ประหยัดพลังงาน แถมช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ การทำธนาคารน้ำใต้ดินที่ได้ผลดี ควรทำทั้ง 2 ระบบควบคู่กันไป