อบจ.บึงกาฬ หวังสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 5 นำจังหวัดสู่ทศวรรษใหม่ของการค้าการลงทุนและพัฒนาเป็นเมืองหน้าด่านแห่งใหม่ของอีสาน
นางกันยา อนันตทัศน์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ เปิดเผย “ผู้นำท้องถิ่น” ภายหลังพิธี วางศิลาฤกษ์ก่อสร้าง สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐ มนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ นายพันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ร่วมเป็นประธานในพิธีว่าเมื่อวันที่ 28 ต.ค.2565 ว่าโครงการดังกล่าวจะก่อให้เกิดการเชื่อมโยงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ในจังหวัดอีกหลายโครงการ เช่น โครงการก่อสร้างสนามบินพาณิชย์ซึ่ง ขณะนี้ได้มีการศึกษาออกแบบ และศึกษารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยคาดว่าโครงการก่อสร้างสนามบินพาณิชย์ จะก่อสร้างแล้วเสร็จเปิดให้บริการในปี พ.ศ.2571 ใช้งบประมาณกว่า 3,100 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ ระยะทาง 230 กิโลเมตร จากบึงกาฬเชื่อมต่อถนนมิตรภาพ ที่อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี ซึ่งบรรจุเป็นแผนลงทุนแล้ว อันจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการคมนาคมขนส่ง ตลอดจนการลงทุนและการค้าของจังหวัดบึงกาฬ
รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ เปิดเผยอีกว่า หากโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่แล้วเสร็จตามแผนทั้งหมด จะทำให้ จังหวัดบึงกาฬ ก้าวสู่ทศวรรษใหม่ กลายเป็นเมือง การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และธุรกิจบริการ ที่ครบวงจร
“ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา จังหวัดบึงกาฬ ในฐานะจังหวัดน้องใหม่ได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายใน ขึ้นอย่างแข็งแกร่ง เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่และเปิดประตูสู่ภูมิภาคทั้งในประเทศและต่างประเทศ และ อบจ.บึงกาฬพร้อมสนับสนุนและยินดีต้อนรับนักลงทุน เพื่อร่วมกันพัฒนาบึงกาฬให้เติบโตและยั่งยืนเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญอีกของหนึ่งของภาคอีสาน” รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ กล่าว
สำหรับโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) แห่งที่ 5 มีจุดเริ่มต้นโครงการที่ฝั่งประเทศไทย ที่จุดตัดทางหลวงหมายเลข 222 แนวเส้นทางจะมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตก ผ่านพื้นที่เกษตรกรรม ก่อนที่จะเลี้ยวขวา มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และตัดกับทางหลวงชนบทหมายเลข บก. 3217 ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของบ้านหนองนาแซง แนวเส้นทางจะมุ่งหน้าไปยังทิศทางเดิม และตัดกับทางหลวง ชนบทหมายเลข บก.3013 ก่อนจะเลี้ยวขวาไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือผ่านด่านพรมแทนฝั่งประเทศไทย และ ยกระดับข้ามทางหลวงหมายเลข 212 ซึ่งห่างจากริมฝั่งแม่น้ำโขงประมาณ 200 เมตร จากนั้น แนวเส้นทางจะข้าม แม่น้ำโขง ด้วยสะพานที่ออกแบบเป็นสะพานคานขึงคอนกรีตอัดแรงรูปกล่อง และวิ่งผ่านไปจนถึงจุดสลับทิศทางจราจร และด่านพรมแดนฝั่ง สปป.ลาว ทางฝั่งตะวันตกของหนองง้ำ และสิ้นสุดโครงการที่ทางหลวงหมายเลข 13 กิโลเมตร ที่ 16 เขตบ้านกล้วย เมืองปากซัน แขวงบอลิค้าไซ ความยาวสะพาน 1,350 เมตร ระยะทางรวมตลอดโครงการ 16.18 กิโลเมตร ใช้งบประมาณก่อสร้างทั้งสิ้น 3,653 ล้านบาท โดยรัฐบาลไทยลงทุน 2,500 ล้านบาท และ สปป.ลาวลงทุน 1,152 ล้านบาท กำหนดแล้วเสร็จและเปิดให้บริการปีพ.ศ. 2567