อธิบดี สถ. เผยกรณี ส.ส.นครศรีธรรมราช ตั้งข้อสงสัยการขอรับการสนับสนุนงบประมาณ 100 ล้านบาท สร้างฝายเอลนีโญทั่วประเทศ ย้ำ การแก้ไขปัญหาภัยจากเอลนีโญเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือประชาชน ยืนยันดำเนินการตามขั้นตอนอย่างเคร่งครัด บนพื้นฐานความโปร่งใสและตรวจสอบได้
เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 นายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 สภาฯ เปิดเผยว่า ขอให้สื่อมวลชนช่วยไปถาม อธิบดีกรมส่งเสริมปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) เพราะมีงบประมาณตัวหนึ่งที่ กมธ. ไม่สบายใจ คือ งบฯสร้างฝายเอลนีโญ ซึ่งเป็นงบประมาณโครงการละไม่เกิน 5 แสนบาท
โดย สถ. ได้ตั้งงบประมาณไว้จำนวน 4.98 แสนบาท/ฝาย รวมเป็นเงินกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งซอยเป็นร้อยโครงการทั่วประเทศ อยู่ในร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ของ สถ. ในส่วนขององค์การบริหารส่วนตำบล จึงอยากถามว่า การตั้งงบประมาณแบบนี้ อธิบดีกรม สถ. มีส่วนอะไรหรือไม่ เพราะใช้วิธีจัดซื้อจัดจ้างเฉพาะเจาะจงทั้งหมด จะเอามาแก้สถานการณ์อะไร เพราะเอลนีโญหมดไปแล้ว ทำไมถึงต้องตั้งงบประมาณนี้ไว้อีก
“อยากถามว่า เป็นไปได้หรือที่เอลนีโญจะเกิดขึ้นทั่วทั้งประเทศ และใช้งบ 4.98 แสนบาทเหมือนกัน เท่ากันหมด ทุกแห่งหรือ ผมจะตามต่อว่า โครงการนี้ เวลาจัดซื้อจัดจ้าง บริษัทที่ได้รับงานเป็นร้อยโครงการ มีหลายบริษัท และบริษัทจดทะเบียนเมื่อไหร่ ดังนั้นหากท่านอธิบดีโปร่งใส ก็ขอให้ชี้แจงมา ถ้าไม่โปร่งใสก็ขอให้ระวังให้ดี” นายชัยชนะ กล่าว
ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ได้ออกมาชี้แจง กรณีดังกล่าวว่า สถ. ได้จัดสรรงบประมาณตามความประสงค์ของ อปท. ที่ประสงค์ขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งมาที่ส่วนกลาง โดยการดำเนินการทั้งหมดเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ประกอบกับความเห็นของนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งได้ผ่านขั้นตอนการพิจารณางบประมาณจากสำนักงบประมาณ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 และเสนอสำนักงบประมาณพิจารณา ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ได้เห็นชอบตามที่สำนักงบประมาณเสนอ รวมถึงเป็นไปตามขั้นตอน หลักเกณฑ์ ระเบียบ และข้อกฎหมายกำหนดไว้ทุกขั้นตอน อีกทั้งยังมีกระบวนการพิจารณาโครงการเพื่อตรวจสอบความพร้อมอีกหลายขั้นตอน
นอกจากนี้ ยังได้กำชับทุก อปท. ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ระเบียบ มติคณะรัฐมนตรี และหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด ซึ่ง สถ. กระทรวงมหาดไทย มีการดำเนินการด้วยความโปร่งใสและเปิดเผยได้ โดยมีเป้าหมายขับเคลื่อนโครงการก่อสร้างฝ่ายเอลนีโญอย่างชัดเจนในการก่อให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชน ในด้านการให้ความช่วยเหลือ แก้ไขปัญหา และป้องกันภัยพิบัติและภัยธรรมชาติ
ทั้งนี้ โครงการสร้างฝายเอลนีโญเป็นการก่อสร้างฝายดินซีเมนต์โดยใช้แบบมาตรฐานของกรมโยธาธิการและผังเมือง มี 3 แบบ ประกอบด้วย ขนาดสูง 1 เมตร 1.5 เมตร และ 2 เมตร ความยาวตั้งแต่ 5 – 60 เมตร ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณก่อสร้างฝายดินซีเมนต์ในแหล่งน้ำขนาดเล็ก (มีความยาวไม่มากตามบริบทของพื้นที่) ส่วนวงเงินงบประมาณเป็นไปตามราคาวัสดุในแต่ละพื้นที่ สำหรับประโยชน์ที่ได้รับจากการสร้างฝายเอลนีโญจะทำให้เกิดความชุ่มชื้นในดิน และบริเวณรอบฝายฯ เพิ่มปริมาณน้ำใต้ดิน มีน้ำเก็บกักในหน้าแล้งเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค และการเกษตร
“ดังนั้น จากประเด็นดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การจัดตั้งงบประมาณโครงการสร้างฝายเอลนีโญ เป็นไปตามขั้นตอน หลักเกณฑ์ ระเบียบ และข้อกฎหมายกำหนดไว้ทุกขั้นตอน มีกระบวนการพิจารณาโครงการในหลายขั้นตอน โดยการดำเนินการทั้งหมดเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ประกอบกับความเห็นของนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งได้ผ่านขั้นตอนการพิจารณางบประมาณขากสำนักงบประมาณ ทั้งนี้ จึงขอยืนยันว่าทุกกระบวนการจัดตั้งงบประมาณ ตลอดจนดำเนินโครงการ กระทรวงมหาดไทย โดย สถ. ดำเนินการด้วยความโปร่งใส และเปิดเผยได้ ซึ่งโครงการก่อสร้างฝ่ายเอลนีโญก่อให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชน ช่วยเหลือ แก้ไขปัญหา และป้องกันภัยพิบัติและภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะการรับมือกับปรากฏการณ์เอลนีโญในปีนี้รวมถึงในอนาคต ซึ่งเป็นหน้าที่และพันธกิจหลักของกระทรวงมหาดไทยในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข” นายขจร กล่าว