แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในประเทศไทยจะดีขึ้นตามลำดับ ไม่พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศเป็นเวลา 64 วันแล้ว แต่ทว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลกยังคงวิกฤติอย่างต่อเนื่อง กระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ ขาดรายได้หมุนเวียนด้านการท่องเที่ยวจากการปิดรับคนต่างชาติ โดยเฉพาะเมืองหน้าด่านอย่าง กทม. แชมป์ 4 ปีซ้อน เมืองนักท่องเที่ยวมาเยือนมากที่สุดในโลก
เมื่อเปิดรายได้ กทม.ปี 2562 ตามหนังสือรายงานวิเคราะห์สรุปผลการจัดเก็บรายได้กรุงเทพมหานคร ปีงบประมาณ 2562 พบจัดเก็บได้สูงกว่าที่ประมาณการไว้ร้อยละ 4.17 โดยตั้งประมาณการรายได้ไว้ 80,000 ล้านบาท แต่เก็บได้ถึง 83,338.64 ล้านบาท ส่วนที่เพิ่มขึ้นมาจากประมาณการพบว่าเป็นรายได้ที่ กทม.จัดเก็บเองจาก ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีป้าย ตามนโยบายเร่งรัดการจัดเก็บภาษีที่ กทม.กำหนดให้ทุกสำนักงานเขตถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
ส่งผลต่อการวิเคราะห์งบประมาณในปี 2563 ที่ตั้งประมาณการรายได้ไว้สูง 83,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 จำนวน 3,000 ล้านบาท เนื่องมาจากการแก้ไขกฎหมายและข้อบังคับหลายฉบับเกี่ยวกับการจัดเก็บรายได้ ที่มีผลบังคับใช้ในปี 2563 จะช่วยให้กทม.มีรายได้ที่จัดเก็บเองเพิ่มขึ้น
กทม.สะเทือนหนัก รายได้ลด 1.5 หมื่นล้าน
ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้คาดการณ์ว่าการจัดเก็บรายได้ของ กทม.ในปี 2563 นั้นอาจจะลดลงถึงร้อยละ 18.07 จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 83,000 ล้านบาท เหลือเพียง 68,000 ล้านบาท สูญรายได้กว่า 15,000 ล้านบาท ทั้งจากรายได้ที่รัฐบาลจัดเก็บให้ตามคาดการณ์เดิม 62,500 ล้านบาท และรายได้ที่คาดว่าจะจัดเก็บเอง 20,500 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในช่วงต้นปี 2563 กทม.ตั้งเป้าวางแผนงานจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะเริ่มเก็บได้ในเดือนสิงหาคม 2563 อย่างรัดกุม เพื่อชดเชยรายได้ที่จะสูญเสียจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยตั้งเป้ารายได้จากส่วนนี้ไว้ 14,000 ล้านบาท แต่ทว่า เมื่อ พ.ร.ก. ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท 90 % มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา ตามนโยบายช่วยลดผลกระทบของประชาชนจากสถานการณ์โควิด-19 ของรัฐบาล ทำให้คาดว่าจะจัดเก็บได้เพียง 5,000 ล้านบาท
รวมถึงการเลื่อนเก็บค่าธรรมเนียมขยะ จาก 40 บาทเป็น 80 บาท จากเดิมที่จะเก็บได้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ถูกเลื่อนไป 1 ตุลาคม 2563 เนื่องจากความไม่พร้อมของข้อกฎหมาย ทำให้ กทม.ต้องหามาตรการมาอุดช่องโหว่ในงบการเงินที่หายไป
ปรับตัวลดงบทุกหน่วยงานร้อยละ 10
ตามคาดการณ์ว่ารายได้ กทม.จะหายไปว่า 15,000 ล้านบาท ทำให้คณะกรรมการปรับแผนบริหารงบประมาณสั่งปรับลดงบประมาณรายจ่ายของทุกหน่วยงานลงร้อยละ 10 ภาพรวมลดรายจ่ายไปได้แล้ว 13,540 ล้านบาท ส่วนที่ยังเหลืออีกกว่า 1,500 ล้านบาท ให้ปรับลดค่าตอบแทนใช้สอยและวัสดุลงอีกร้อยละ 10 เพื่อให้เป็นไปตามเป้า โดยเน้นย้ำไม่ให้กระทบต่อค่าตอบของของบุคลากร