ปัญหาฝุ่นจิ๋ว หรือ PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานในช่วงฤดูหนาว เป็นภาวะวิกฤติทางสุขภาพที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญ ไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้น ทั้งประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย และอีกหลายประเทศ ต่างเร่งผลักดันมาตรการต่างๆ เพื่อลดความหนาแน่นของฝุ่นพิษลง ทั้งในระดับรัฐบาล และท้องถิ่น
หนึ่งในประเทศที่ประสบภาวะดังกล่าว และเริ่มมีการจัดการที่เป็นรูปธรรมหลายๆ ด้าน คือ “เกาหลีใต้” ภายใต้การนำของประธานาธิบดี มูน แจ อิน รัฐบาลได้ตั้งคณะทำงานพิเศษ “สภาแห่งชาติว่าด้วยคุณภาพอากาศและภูมิอากาศ” หรือ เอ็นซีซีเอ ขึ้นเมื่อต้นปี 2562 เพื่อร่วมกันหามาตรการลดฝุ่นพิษ
เอ็นซีซีเอ ที่มีนาย บัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติเป็นประธาน ได้คลอดมาตรการเร่งด่วนออกมา โดยมีเป้าหมายในการลดปริมาณ PM 2.5 ลงให้ได้ 20% ในช่วงฤดูหนาว (ธันวาคม 2562 – มีนาคม 2563) โดยให้โรงงานกว่า 100 แห่งในกรุงโซล นครอินช็อน และ จ.คย็องกีโด ซึ่งส่วนใหญ่ใช้พลังงานถ่านหินให้ลดชั่วโมงการผลิตลง รวมทั้งโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจะถูกจำกัดการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 80% เพื่อลดการปล่อยมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศ
ขณะที่ท้องถิ่นก็เริ่มขยับมาตรการในระดับภูมิภาคเช่นกัน “เทศบาลกรุงโซล” เริ่มดำเนินมาตรการในยะสั้น โดย สั่งงดการจัดกิจกรรมกลางแจ้ง รวมถึงสั่งงดให้บริการลานสเก็ตหน้าศาลาว่าการเมืองด้วย นอกจากนี้ยังออกคำสั่งห้ามพนักงานของรัฐขับรถมาทำงาน โดยให้ใช้ระบบขนส่งมวลชนแทน และสั่งปิดลานจอดรถที่เทศบาลเป็นผู้บริหารอีกหลายแห่ง เพื่อเป็นการจำกัดการใช้รถยนต์ส่วนตัวลง
สำหรับมาตรการในระยะยาวคือ การขึ้นภาษีรถใหม่ การกำหนดให้รถวิ่งเข้าเมืองตามป้ายทะเบียนเลขคี่และเลขคู่ และเตรียมความพร้อมสำหรับมาตรการห้ามรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลที่จดทะเบียนในปี 2545 หรือเก่ากว่านั้น และรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินที่จดทะเบียนในปี 2530 หรือเก่ากว่านั้น ไม่ให้วิ่งเข้ามาในกรุงโซล พร้อมกับจ่ายเงินชดเชยสูงสุด 1.65 ล้านวอน หรือประมาณ 46,700 บาท ส่วนรถบรรทุกน้ำหนัก 2.5 ตันขึ้นไป ก็จะได้รับเงินคันละ 1.43-9.28 ล้านวอน หรือประมาณ 40,000-264,000 บาท เพื่อติดตั้งอุปกรณ์กรองฝุ่นละอองจากท่อไอเสีย
“จีน” ประเทศที่ถูกจัดอันดับว่าเป็นผู้ปล่อยมลภาวะทางอากาศในลำดับต้นๆ ของโลก และประสบปัญหาภาวะฝุ่นพิษในระดับวิกฤติมานานกว่าแล้วกว่า 5 ปี ปัจจุบันได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศที่มีการจัดการฝุ่นพิษได้อย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด
ความจริงจังที่จะจัดการปัญหาด้านมลพิษของรัฐบาลจีน ได้แก่ การสั่งปิดโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ถ่านหิน และเร่งรัดให้ประชาชนเลิกใช้ถ่านหินในการให้พลังงานความร้อน, เก็บภาษีอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 12 หยวนต่อหน่วยการปล่อยมลพิษทางอากาศ ระงับโครงการก่อสร้าง ตั้งทีมขจัดควันพิษเพื่อตระเวณห้ามคนเมืองปิ้งย่างกลางแจ้ง สั่งห้ามขายอาหารปิ้งย่างบนท้องถนน รวมถึงห้ามเผาใบไม้ทุกชนิด
ในส่วนของภูมิภาค ระบุว่าเขตอุตสาหกรรมใหญ่ได้แก่ปักกิ่ง-เทียนจิน-เหอเป่ย เขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจปากแม่น้ำแยงซี และเขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจปากแม่น้ำจูเจียง ต้องดำเนินการลดใช้ถ่านหิน และจะไม่มีการอนุมัติก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ในภูมิภาคเหล่านี้
ขณะที่รัฐบาลจีนก็เตรียมลงดาบจัดการเอาผิดต่อผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในเมือง ที่ไม่สามารถควบคุม และลดการเกิดฝุ่นพิษเหล่านี้ได้ นั่นหมายถึง เหล่าบรรดาผู้บริหารท้องถิ่นต่างๆ นั่นเอง