กรมส่งเสริมฯ สั่งเทศบาล – พัทยา สำรวจผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายชุมชน ส่งรายงานทุกวันไม่เว้นวันหยุด เพื่อวางแผนควบคุมป้องกันการแพร่ระบาด
นายทวี เสริมภักดีกุล รองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทน อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้มีบันทึกข้อความด่วนที่สุด เรื่อง การสำรวจข้อมูลผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) รายชุมชน ลงวันที่ 13 ส.ค. 64 ส่งถึงท้องถิ่นจังหวัด ทุกจังหวัด ยกเว้น จ.บึงกาฬ ระบุว่า ด้วยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) ขอให้ดำเนินการสำรวจและตรวจสอบผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายชุมชน เพื่อประโยชน์ในการประเมินสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ วางแผนควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ให้มีประสิทธิภาพ โดยขอให้เทศบาล/เมืองพัทยาที่มีชุมชนดำเนินการ ดังนี้
- สำรวจข้อมูลผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายชุมชน ทุกแห่ง ตามแบบสำรวจข้อมูล
- มอบหมายให้เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูลตามข้อ 1 ในระบบสารสนเทศ ศบค.มท. Thai QM 2021 https://thaiqm.dopa.go.th หัวข้อ รายงานข้อมูลผู้ติดเชื้อฯ รายชุมชน พร้อมสำรวจข้อมูลให้ถูกต้องและครบถ้วน กำหนดให้รายงานเป็นประจำทุกวัน (ไม่เว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์) ภายในเวลา 15.00 น. โดยระบบฯ จะเริ่มรายงานได้ตั้งแต่วันที่ 18 ส.ค. 64
- ให้ปลัดเทศบาล/ปลัดเมืองพัทยา หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ตรวจสอบ และลงนามรับรองข้อมูลจาก ระบบฯ กรณีเทศบาลส่งให้ท้องถิ่นอำเภอ กรณีเมืองพัทยา ส่งให้สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดทางเอกสาร หรือ ทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือช่องทางออนไลน์ต่างๆ เป็นประจำทุกวัน (ไม่เว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์) ภายในเวลา 15.00 น.
- ท้องถิ่นอำเภอตรวจสอบข้อมูลฯ พร้อมลงนามรับรองข้อมูลจากระบบฯ และรายงานให้จังหวัดทราบ โดยให้ท้องถิ่นจังหวัดมอบหมายเจ้าหน้าที่ของสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดตรวจสอบข้อมูลในภาพรวมของจังหวัดและลงนามรับรอง ก่อนจะรายงานให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์เป็นประจำทุกวัน (ไม่เว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์) ภายในเวลา 16.30 น.
- ขอให้ท้องถิ่นจังหวัด เจ้าหน้าที่สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดที่เกี่ยวข้อง และท้องถิ่นอำเภอ เข้าร่วมประชุมรับฟังแนวทางการสำรวจในวันที่ 17 ส.ค. 64 ผ่านระบบบ Web Conference
สำหรับผู้นำชุมชนหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย กำหนดให้เก็บข้อมูลผู้ติดเชื้อ (ผู้ติดเชื้อที่ยังคงรักษาอยู่ ณ ปัจจุบัน) จำนวน 3 ประเภท ประกอบ 1. ผู้ติดเชื้อฯ ที่อาศัยอยู่ในชุมชนเดิม แล้วติดเชื้อจากคนภายในพื้นที่จังหวัดเดียวกัน (นับทุกระบบการรักษา ได้แก่ รักษาตัวที่โรงพยาบาล / สถานพยาบาล / โรงพยาบาลสนาม การกักตัวในศูนย์พักคอยทั้งภาครัฐและเอกชน การกักตัวในชุมชน การแยกกักตัวที่บ้าน ฯลฯ) 2. ผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่จังหวัดอื่น ซึ่งตอนเดินทางเข้ามานั้น ไม่พบการติดเชื้อ แต่พบการติดเชื้อเมื่ออยู่ในชุมชนแล้ว (นับทุกระบบการรักษา) และ 3. เป็นผู้ติดเชื้ออยู่แล้ว ซึ่งเดินทางเข้ามาจากพื้นที่จังหวัดอื่น (นอกจังหวัด) เข้ามามาในพื้นที่ชุมชน (นับเฉพาะ Home Isolation : HI)