“พัฒนา สัพโส” สส. พรรคเพื่อไทย เสนอแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ. ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น ยกเลิกคำสั่ง คสช. ให้ท้องถิ่นจัดสอบแข่งขันคัดเลือกข้าราชการ พร้อมเสนอข้าราชการ อบจ. สามารถโอนไปสังกัด อบจ. อื่นได้ เพิ่มความคล่องตัวและประสิทธิภาพการบริหารงาน สอดคล้องกับความต้องการของ อปท. แต่ละรูปแบบ
เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 17 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) โดยมีระเบียบวาระการประชุม เรื่องที่ที่ประชุมเห็นชอบให้เลื่อนขั้นมาพิจารณาก่อน มีการเสนอ “ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่…) พ.ศ. ….” เข้าที่ประชุม โดยนายพัฒนา สัพโส สส. พรรคเพื่อไทย และคณะ
โดย นายพัฒนา สัพโส สส. พรรคเพื่อไทย ระบุถึงเหตุผลการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ว่า เพื่อแก้ไขปัญหาการรวมศูนย์อำนาจการบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 8/2560 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการบริหารงานส่วนบุคคลท้องถิ่น ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2560 ให้อำนาจหน้าที่คณะกรรมการกลางข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ก.อบจ.) คณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล (ก.ท.) คณะกรรมการกลางพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.) และคณะกรรมการกลางการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น (กสถ.) ในการจัดและดำเนินการสอบแข่งขันสอบคัดเลือก และคัดเลือกข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่น
ซึ่งมาตรการและกลไกดังกล่าวขัดหลักการการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. ทำให้เกิดระบบอุปถัมภ์ และมีการทุจิตอย่างกว้างขวาง จึงควรกำหนดให้ ก.อบจ., ก.ท. และ ก.อบต. มีอำนาจจัดและดำเนินการสอบแข่งขัน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรแต่ละ อปท. มีความคล่องตัวรวดเร็ว และสอดคล้องกับความต้องการและความจำเป็นของ อปท. แต่ละรูปแบบ แต่ทั้งนี้ยังคงอยู่ภายใต้มาตรฐานทั่วไปที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น
นอกจากนี้ การโอนข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่น กรณีที่มีเหตุผลความจำเป็น เพื่อให้การบริหารงานของ อปท. และการปฏิบัติราชการของข้าราชการและพนักงาน อปท. เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพหรือพระราชบัญญัตินี้ เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ และไม่สามารถดำเนินการโอนข้าราชการ พนักงาน อปท. ตามหลักความสมัครใจได้ ให้ ก.อบจ., ก.ท. และ ก.อบต. พิจารณาและมีมติให้ข้าราชการพนักงาน อปท. โอนไปสังกัด อปท. อื่นได้ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
นายพัฒนา กล่าวอีกว่า การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลท้องถิ่น พ.ศ. 2542 มีสาระสำคัญดังนี้
1. ยกเลิกอำนาจหน้าที่ ก.อบจ., ก.ท., ก.อบต. และ กสถ. ในการจัดและดำเนินการสอบแข่งขันสอบคัดเลือก และคัดเลือกข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่น ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 8/2560 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการบริหารงานส่วนบุคคลท้องถิ่น ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2560
2. กำหนดให้ ก.อบจ. มีอำนาจจัดการและดำเนินการสอบแข่งขัน สอบคัดเลือกและคัดเลือกข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่น (แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 13)
3. ในกรณีที่มีเหตุผลความจำเป็นเพื่อให้การบริหารงานของ อบจ. และการปฏิบัติราชการของข้าราชการ อบจ. เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ หรือเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ และไม่สามารถดำเนินการโอนข้าราชการ อบจ. ระหว่าง อบจ. ตามหลักความสมัครใจได้ ให้ ก.อบจ. พิจารณา และมีมติให้ข้าราชการ อบจ. โอนไปสังกัด อบจ. อื่นได้ (แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 17)
ทั้งนี้ ที่ประชุมยังพิจารณารวมกับร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักการทำนองเดียวกันอีก จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 8/2560 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการบริหารงานส่วนบุคคลท้องถิ่น ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2560 พ.ศ. …. ซึ่งนายวรภพ วิริยะโรจน์ กับคณะ เป็นผู้เสนอ (เรื่องตามระเบียบวาระที่ 6), ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งนายชัยชนะ เดชเดโช กับคณะ เป็นผู้เสนอ (ยังไม่ได้บรรจุระเบียบวาระ) และร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งนายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม กับคณะ เป็นผู้เสนอ (ยังไม่ได้บรรจุระเบียบวาระ)
โดยที่ประชุมมีมติรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. จำนวน ๓ ฉบับ และร่างพระราชบัญญัติยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 8/2560
เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการบริหารงานส่วนบุคคลท้องถิ่น ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2560 พ.ศ. …. และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 31 คน โดยกำหนดระยะเวลาแปรญัตติ 15 วัน
โดยใช้ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งนายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม กับคณะ เป็นผู้เสนอ เป็นร่างหลักในการพิจารณาในวาระที่ 2