สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา เห็นชอบโครงสร้าง กทม. แบบ 2 ระดับ เสนอเปลี่ยน “เขต” เป็น “เทศบาล” ปั้นโมเดลมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ เพื่อสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น
เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567 คณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา ได้นำเสนอรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง โครงสร้างกรุงเทพมหานครตามแนวทางการกระจายอำนาจ ต่อที่ประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 12 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2)
โดย นายสุรชัย พรหมพันธุ์ อนุกรรมาธิการ การปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา รายงานต่อที่ประชุมว่า ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ให้ความสำคัญในเรื่อง การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และจัดให้มีการปกครองท้องถิ่นตามหลักการปกครองตนเอง ซึ่งปัจจุบันบริบททางสังคมของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ทำให้ กทม. ต้องเผชิญกับปัญหาและความท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมากมาย
ขณะเดียวกันประสิทธิภาพการให้บริการสาธารณะระดับเขตกลายเป็น “ข้อจำกัด” เพราะความรวมศูนย์และความเป็นองค์กรที่ใหญ่เกินไป ทำให้ต้องเน้นการแก้ปัญหาและการพัฒนาเชิงระบบในภาพใหญ่ของเมือง เพื่อแก้ไขปัญหาความเป็นเมืองศูนย์กลางของประเทศ ที่มี “โครงสร้างชั้นเดียว” ซึ่งบริหารโดยผู้ว่าฯ กทม. ที่มาจากการเลือกตั้งและสภา กทม. ทำให้โครงสร้างชั้นล่างถูกละเลย ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในเชิงการบริหารและนิติบัญญัติของในแต่ละเขต
สุรชัย กล่าวต่อว่า กทม. ต้องปรับโครงสร้างเป็น “ระบบ 2 ชั้น” เพื่อก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหาร และการจัดทำบริการสาธารณะของ กทม. โดยเฉพาะการบริการและการมีส่วนร่วมของประชาชน ผ่านกลไกการดำเนินการของรูปแบบ “นคร” เป็น 50 นคร ซึ่งเป็นโครงสร้างชั้นล่างที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนและชุมชนมากที่สุด เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางการกระจายอำนาจ และเสนอเป็นร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการ กทม. ที่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางปฏิบัติต่อไป
ด้าน นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา อดีตปลัดกระทรวงการคลัง อภิปรายว่า ตนเห็นด้วยกับรายงานดังกล่าว พร้อมตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันประเทศไทยมีการปกครอง 3 ระดับ คือ ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น โดยมีความพยายามที่จะลดราชการส่วนภูมิภาคให้เหลือเฉพาะราชการส่วนกลาง และราชการส่วนท้องถิ่น ตามความเหมาะสมของสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ในส่วนราชการส่วนท้องถิ่นตามที่คณะกรรมาธิการฯ ได้รายงานว่า ปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ รูปแบบทั่วไปและรูปแบบพิเศษ
สถิตย์ ตั้งข้อสังเกตว่า โครงสร้างของราชการส่วนท้องถิ่นควรเป็นรูปแบบเดียว ไม่ควรมีรูปแบบทั่วไป หรือรูปแบบพิเศษ และแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ ระดับจังหวัดและระดับเทศบาล ในส่วนของ กทม. ก็ควรแบ่งออกเป็นระดับจังหวัดและระดับเทศบาลเช่นกัน โดยในระดับจังหวัดมีผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง ในระดับเขตมี 50 เขต ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ เสนอให้เป็น 50 นคร ตนเสนอว่า 50 เขตดังกล่าว ควรเป็น “เทศบาล” ตามรูปแบบเทศบาลทั่วไป โดยอาจจะแบ่งตามขนาดของแต่ละเทศบาล เช่น เทศบาลนคร หรือเทศบาลเมืองตามดุลยพินิจ และในภาพรวมของประเทศ รูปแบบโครงสร้างของ อปท. ควรเป็นแบบ 2 ชั้น ตามที่คณะกรรมาธิการฯ เสนอ ประกอบด้วย ระดับจังหวัด คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด และในระดับการบริหารท้องถิ่นควรมีเฉพาะรูปแบบของ “เทศบาลเท่านั้น”
สถิตย์ เสนอในตอนท้ายว่า ต้องมีการจัดวางโครงสร้างที่สมดุลระหว่างส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ให้มีความชัดเจน กล่าวคือ ระหว่างกระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าฯ กทม. โดยผู้ว่าฯ กทม. จะมีหน้าที่ดูแลภาพรวมในเชิงมหภาคของ กทม. ส่วนเทศบาลทำหน้าที่บริหารท้องถิ่นในพื้นที่ที่รับผิดชอบ โดยรูปแบบนี้จะเป็นต้นแบบไปสู่จังหวัดอื่น ๆ ที่มีความพร้อมต่อไป สำหรับองค์การบริหารส่วนตำบลให้ปรับเปลี่ยนเป็น “เทศบาลตำบล” จะได้มีเพียงรูปแบบจังหวัดกับเทศบาลเท่านั้น
ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบด้วยกับรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการ และมีมติให้ส่งไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการต่อไป