ร่างแก้รธน.ปลดล็อคท้องถิ่นฉบับกลุ่มก้าวหน้า ถูกคว่ำ หลังเสียง 2 สภา โหวตรับหลักการเพียง 254 เสียง ไม่ถึงครึ่ง จาก 722 เสียง ส.ว.ออกเสียงหนุนเพียง 6 เสียงจาก 250
ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภา ว่า เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565 ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่นโดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม ซึ่งภายหลังใช้เวลาในการลงมติกว่า 2 ชั่วโมง แบบการขานชื่อรายบุคคลว่าผลการลงมติมีผู้ลงมติรับหลักการ 254 เสียง ไม่รับหลักการ 245 เสียงและงดออกเสียง 129 เสียง ถือว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่ถูกรับหลักการ เนื่องจากได้เสียงไม่เกินกึ่งหนึ่ง จากจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 722 คน ซึ่งต้องมีเสียงสนับสนุนไม่น้อยกว่า 361 เสียง
โดยมีเสียงลงมติสนับสนุนรับหลักการเพียง254 เสียง แบ่งเป็นส.ส. จำนวน 248 เสียง และ ส.ว.มีความเห็นรับหลักการเพียง 6 เสียง จากจำนวนเสียงที่ต้องการสนับสนุนคือ 1ใน 3 คือ 84 คนขึ้นไป และงดออกเสียง129 เสียง แบ่งเป็น ส.ส. 119 เสียง และส.ว. 10 เสียง ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญของคณะก้าวหน้าเป็นอันตกไป ไม่ได้รับการพิจารณาต่อในวาระที่หนึ่งดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการขานชื่อลงมติรายบุคคลนั้น ส.ส.ฝ่ายค้านส่วนใหญ่โหวตรับหลักการ ขณะที่การลงมติของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ปรากฏว่า เสียงแตก อาทิ พรรคพลังประชารัฐโหวตไม่รับหลักการ พรรคประชาธิปัตย์โหวตรับหลักการ พรรคภูมิใจไทยโหวตงดออกเสียง
โดยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวาง จากนักวิชาการ สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทยและสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย พร้อมทั้ง ส.ส.ฝ่ายค้านส่วนใหญ่ ได้แก่ พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล
ในทางตรงกันข้าม ส.ว.ส่วนใหญ่ได้แสดงความคิดเห็น ไม่เห็นด้วยและคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวอย่างรุนแรง อาทิ เสรี สุวรรณภานนท์ โดยแสดงความเห็นว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ ขณะที่นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวเป็นผลไม้พิษ ทำให้รัฐบาลกลางเป็นรัฐบาลเป็ดง่อย องค์การบริหารส่วนตำบลจะเต็มไปด้วยผู้มีอิทธิพลและพ่อค้ายาเสพติด
นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ส.ส.พรรคภูมิใจไทย พร้อมด้วย นายคารม พลพรกลาง ส.ส. พรรคก้าวไกล ร่วมกันแถลงถึงการลงมติงดออกเสียงว่า เห็นด้วยที่มีการกระจายอำนาจสู่การปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นเจริญ แต่การที่ไม่มีความชัดเจนเรื่องการบริหารงาน การกำหนดนโยบาย และการบริหารงบประมาณ เกรงว่าจะเกิดปัญหา จึงได้ลงมติงดออกเสียงกับร่างดังกล่าว
ด้านนายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวในฐานะเป็น 1 ในผู้ที่ลงมติรับหลักการ ตนเห็นว่าควรแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจที่แท้จริง ทั้งนี้ เนื้อหาของร่างแก้ไขที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะนำไปสู่การยุบกำนัน ผู้ใหญ่บ้านนั้น ตนมองว่าในชั้นกรรมาธิการสามารถแก้ไขปรับปรุงได้ แต่ในการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ผ่านการรับหลักการของรัฐสภา ซึ่งตนมองว่ากระจายอำนาจไปสู่ประชาชนยังเป็นความสำคัญ
ส่วนคณะก้าวหน้าและพรรคก้าวไกล ร่วมแถลงข่าวภายหลังที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติไม่รับหลักการทันที นำโดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า,นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ,นายพริษฐ์วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบาย พรรคก้าวไกล และนายวีระศักดิ์ เครือเทพ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
นายธนาธร กล่าวว่า บางฝ่ายให้ความเห็นว่าแนวคิดของพวกเราสุดโต่งเกินไป แต่การปล่อยให้ปัญหาของประชาชนอยู่มานานโดยไม่ได้รับการแก้ไขอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คนที่กักขังประเทศไว้แบบนี้ต่างหากที่สุดโต่ง นอกจากนี้ ร่างฉบับนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน แต่ให้จัดทำแผนยกเลิกส่วนภูมิภาค และทำประชามติถามประชาชนว่าจะยกเลิกหรือไม่ภายใน 5 ปี มาถกเถียงกันว่าเมื่อกระจายอำนาจและงบประมาณไปให้ท้องถิ่นเต็มที่แล้ว ราชการส่วนภูมิภาคควรมีบทบาทอย่างไร และสุดท้ายคือเรื่องการทุจริต ตนคิดว่าทุกรายงานยืนยันตรงกัน ว่าส่วนกลางและส่วนภูมิภาค มีมูลค่าการทุจริตมากกว่าท้องถิ่น
“ขอยืนยันความตั้งใจของเรา ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่เป็นการทำให้การบริการของภาครัฐมีประสิทธิภาพมากขึ้น หลายข้อกล่าวหาที่เราได้รับจึงไม่ได้ตั้งอยู่บนความจริง แต่ตั้งอยู่บนอคติที่ผิด เสียดายเวลาและโอกาสของประเทศ ทั้งที่หากเราเห็นไม่ตรงกัน รัฐสภาควรรับหลักการในวาระ 1 เพื่อไปถกเถียงแลกเปลี่ยนในวาระ 2 ต่อ เพราะเรายืนยันชัดเจนว่าพร้อมประนีประนอม แต่แม้วันนี้ทำไม่สำเร็จ คณะก้าวหน้าจะเดินหน้ารณรงค์เรื่องการกระจายอำนาจต่อไป และเชื่อว่าเพื่อนร่วมงานของเราในพรรคก้าวไกล จะสานต่อภารกิจนี้” นายธนาธร กล่าว
ส่วนนายพิธา กล่าวว่า การกระจายอำนาจอย่างแท้จริงเป็นหนทางเดียวของประเทศไทย เป็นนโยบายที่จะปราศรัยทุกเขต เช่นนโยบายยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ล้วงลูกการทำงานของท้องถิ่น หรือการเพิ่มงบของท้องถิ่นทั่วประเทศ 200,000 ล้านบาท ภายใน 4 ปี โดยที่ผ่านมาเห็นว่าเป็นนโยบายที่ได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี จากการลงพื้นที่ ตนได้เห็นท้องถิ่นที่มีศักยภาพ แต่หากไม่มีการแก้ไขกฎหมายให้กระจายอำนาจมากขึ้น ประเทศไทยก็จะกระจุกตัวต่อไป
ขณะที่นายวีระศักดิ์ เครือเทพ กล่าวว่า ผลการลงมติที่ออกมา สะท้อนว่าผู้ลงคะแนนเอาเรื่องการเมืองมาปนกับคุณภาพชีวิตประชาชน ทำให้บางครั้งการตัดสินใจมีอคติ เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องคิดต่อในอนาคต คือประชาชนจะยอมปล่อยให้เรื่องของตนเองอยู่ในกำมือของผู้มีอำนาจเพียงเท่านั้นหรือไม่ หรือควรต้องตื่นตัวมาเรียกร้องเคลื่อนไหวเรื่องนี้ต่อไป
ด้านนายรังสิมันต์ โรมและนายพริษฐ์วัชรสินธุ ส.ส.พรรคก้าวไกล กล่าวชี้แจงต่อกรณีมีความกังวลในประเด็นที่ที่ถูกสะท้อนออกมาผ่านแถลงการณ์ของชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 2/2565 วันที่ 6 ธ.ค. 65 จึงขอชี้แจงเพื่อคลายความกังวลต่าง ๆ ดังนี้ 1.ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องที่มีลักษณะที่แตกต่างกัน โดยส่วนภูมิภาคประกอบด้วยจังหวัดและอำเภอ ซึ่งราชการส่วนภูมิภาคเหล่านี้มาจากการแต่งตั้ง แต่ในส่วนของท้องที่ ที่ประกอบไปด้วยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นั้นมาจากการเลือกและถูกคาดหวังให้ประสานงานระหว่างราชการส่วนภูมิภาคกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ดังนั้น เมื่อทั้ง 2 ส่วนที่มีการแยกออกจากกันจึงต้องย้ำอีกครั้งว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของทางคณะ ไม่ได้มีข้อเสนอใด ๆ ที่ไปเกี่ยวข้องกับราชการส่วนท้องที่ จะมีเฉพาะข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับราชการส่วนภูมิภาคเท่านั้น ดังนั้นข้อเสนอของทางคณะจะไม่มีทางนำไปสู่การยกเลิกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แต่อย่างใด
2. ทางคณะมีข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขบทบาทสถานะของราชการส่วนภูมิภาคแต่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้นำไปสู่การยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคโดยทันที เพียงแต่เป็นการเสนอให้มีการเปิดบทสนทนาให้สังคมได้มีการพิจารณาถกเถียงกันเกี่ยวกับบทบาทและสถานะของราชการส่วนภูมิภาคและให้คณะรัฐมนตรีจัดแผนรองรับอย่างชัดเจนและรอบคอบก่อนให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินผ่านการลงประชามติที่จะจัดภายใน 5 ปี ว่าเห็นควรจะมีการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคหรือไม่ จึงขอย้ำว่าไม่ได้มีการเสนอให้มีการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคในทันที
3. หากมีการจัดประชามติและผลประชามติออกมาว่าประชาชนเห็นชอบให้มีการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค ซึ่งในเชิงปฏิบัติเราสามารถวางหลักประกันได้ใน 2 ส่วน คือ 1) สำหรับข้าราชการส่วนภูมิภาค หากมีการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคเราสามารถวางหลักประกันได้ว่าจะไม่มีใครตกงานหรือสูญเสียผลประโยชน์และความก้าวหน้าทางอาชีพ โดยอาจต้องเปลี่ยนสังกัดมาอยู่ราชการส่วนกลางหรือส่วนท้องถิ่นเท่านั้น และ 2) เจ้าหน้าที่รัฐส่วนท้องที่ อาทิ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทางคณะยืนยันว่า แม้จะมีการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคผ่านประชามติแล้ว เจ้าหน้าที่รัฐส่วนท้องที่ยังคงอยู่เช่นเดิมและเราสามารถพูดคุยตกลงร่วมกันได้ว่าจะทำการดูแลเจ้าหน้าที่เหล่านี้ภายใต้สังกัดใด และอาจเป็นการเปิดช่องให้มีการออกแบบรูปแบบการทำงานที่อาจจะตอบโจทย์ยิ่งกว่าเดิม ทั้งค่าตอบแทน ความก้าวหน้าทางอาชีพ และการทำงานที่ยึดโยงกับประชาชน
จึงขอยืนยันว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทางคณะเสนอนั้น ได้ถูกออกแบบบนพื้นฐานของการนำผลประ โยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งและการส่งเสริมการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นที่เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกพื้นที่