หลังจากที่เข้าสู่ฤดูฝนมากว่าครึ่งเดือนแล้ว แต่หลายพื้นที่ยังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมายังไม่เพียงพอ ขณะที่บางพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากทุกปี ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยถึงแผนการบริหารจัดการน้ำว่า สทนช.เตรียมผลักดันบทบาทของหน่วยงานระดับท้องถิ่นหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ให้เป็นผู้ขับเคลื่อนและดูแลด้านการพัฒนาแหล่งน้ำในท้องถิ่นของตัวเองโดยตรง
เนื่องจากการบริหารจัดการน้ำที่ผ่านมา พบว่ามีช่องโหว่ในเรื่องของเจ้าภาพ ที่จะเป็นผู้ดูแลบริหารจัดการแหล่งน้ำ โดยเฉพาะแหล่งน้ำขนาดเล็กที่กระจายอยู่ทั่วประเทศจำนวน 142,234 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นอ่างเก็บน้ำ 716 แห่ง และแหล่งน้ำธรรมชาติ 140,614 แห่ง โดยพบว่าเป็นแหล่งน้ำที่ยังไม่มีเจ้าภาพหลักในการบริหารจัดการอยู่ถึง 141,330 แห่ง ซึ่งไม่สามารถหาเจ้าภาพหลักดูแลและวางเป้าหมายการพัฒนาได้อย่างชัดเจน แหล่งน้ำเหล่านี้จึงอยู่ในสภาพสูญเปล่าไม่มีใครเป็นหลักในการรักษาฟื้นฟู
“ตัวแปรสำคัญที่จะทำให้การบริหารจัดการน้ำเกิดประสิทธิภาพได้ในอนาคตก็คือ การสร้างกลไกการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กในท้องที่ต่างๆ ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และสามารถ บูรณาการเชื่อมโยงการทำงานให้ต่อเนื่องถึงกันได้ตลอดทั้งลุ่มน้ำ” ดร.สมเกียรติ กล่าว
กลไกการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กจะมีบทบาทมากขึ้นต่อการบริหารจัดการน้ำของประเทศ เนื่องจากปัจจุบันการดำเนินโครงการพัฒนาลุ่มน้ำขนาดใหญ่แทบจะมีความเป็นไปได้น้อยมาก เพราะลุ่มน้ำที่มีความเหมาะสมได้รับการพัฒนาไปเกือบหมดทุกลุ่มน้ำแล้ว รวมทั้งอาจเกิดกระแสคัดค้านจากผู้ที่เห็นต่างทำให้ต้องใช้เวลาและงบประมาณค่อนข้างมากกว่าที่จะดำเนินการได้
ขณะที่การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กนั้น ไม่เพียงแต่จะดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและเข้าถึงชุมชนได้ทั่วถึงมากกว่า โดยเฉพาะบริเวณนอกเขตเกษตรน้ำฝนเท่านั้น แต่การพัฒนาที่เกิดขึ้นยังตอบโจทย์ปัญหาของแต่ละพื้นที่ได้ตรงจุดมากกว่าด้วย
คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จึงมีคำสั่งที่ 2/2563 ลงวันที่ 18 มีนาคม 2563 แต่งตั้ง คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดเล็ก เพื่อเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนแผนงานด้านการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมในพื้นที่ โดยทำหน้าที่สำคัญๆ เช่น การจัดทำแผนโครงการ ประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำกับดูแล ติดตาม ประเมินผลการดำเนินโครงการ หรือแม้แต่การเชิญผู้แทนส่วนราชการหรือหน่วยงานภาคเอกชน มาชี้แจงหรือให้ข้อมูล รวมทั้งมีการรายงานผลให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้โดยตรง
“ทิศทางการพัฒนาแหล่งน้ำที่จะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ จึงเป็นมุ่งพัฒนาศักยภาพของแหล่งน้ำขนาดเล็กที่มีอยู่นับแสนแห่งทั่วประเทศ โดยมี อปท. เป็นกลไกสำคัญในการลงมือปฏิบัติ ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยงานด้านน้ำในพื้นที่ ซึ่งจะบูรณาการด้านการจัดการน้ำได้ตลอดทั้งสาย เป็นการพลิกโฉมการทำงานด้านการบริหารจัดการน้ำของประเทศ ที่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่ได้อย่างตรงจุด” เลขาธิการ สทนช.กล่าว