กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น หนุนอบต.และเทศบาล จัดให้มีสภาเด็กและเยาวชนตำบล-เทศบาล เพื่อรองรับการถ่ายโอนภารกิจด้านกิจการสภาเด็กและเยาวชน เตรียมจัดโครงการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรท้องถิ่นด้านกิจการสภาเด็กและเยาวชน 1,400 คน
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้มีหนังสือเวียนถึง นายอำเภอ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ และนายกเทศมนตรีเมืองทุกแห่ง ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในระดับท้องถิ่นให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ และจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนที่อยู่ในความรับผิดชอบ ตรมพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติปี พ.ศ.2550 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่2) พ.ศ.2560 มาตรา 8 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำแผนพัฒนาเด็กและเยาวชน ในระดับท้องถิ่นให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติและจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนที่อยู่ในความรับผิดชอบ และมาตรา 22 กำหนดให้ องค์การบริหารส่วนตำบลและเทศบาล จัดให้มีสภาเด็กและเยาวชนตำบล-เทศบาล
ประกอบกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพและมูลนิธินวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันเรื่องการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้านการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสภาเด็กและเยาวชน กำหนดให้มีการพัฒนาศักยภาพบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านกิจการสภาเด็กและเยาวชน (พี่เลี่ยงสภาเด็กและเยาวชน) จึงได้จัดทำโครงการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรท้องถิ่นเพื่อรองรับการถ่ายโอนภารกิจด้านกิจการสภาเด็กและเยาวชนประจำปี 2566
สำหรับเป้าหมายของการจัดโครงการอบรมในครั้งนี้เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ความเข้าในใจโลกทัศน์ ยุคใหม่กับสถานการณ์และปัญหาของเด็กและเยาวชน และนวัตกรรมองค์ความรู้ ทักษะการดำเนินงานด้านกิจการสภาเด็กและเยาวชน สามารถออกแบบกิจกรรมโครงการ ในการเสริมสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยโดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของสภาเด็กและเยาวชนตลอดจนเป็นการเตรียมความพร้อมของบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อรองรับการถ่ายโอนกิจการ สภาเด็กและเยาวชนต่อไป
โครงการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรท้องถิ่นเพื่อรองรับการถ่ายโอนภารกิจด้านกิจการสภาเด็กและเยาวชนประจำปี 2566 เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย ในการส่งเสริมสนับสนุนบทบาทของสภาเด็กและเยาวชนในการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น จึงมอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มอบหมายบุคลากรเข้ารับการฝึกอบรม ประกอบด้วย นักวิชาการศึกษา นักวิเคราะห์นโยบายและแผน นักพัฒนาชุมชน นักสันทนาการ หรือผู้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมอบหมายแห่งละ 2 คน เข้ารับการอบรม ตามสถานที่ วัน เวลา ดังกล่าว
โครงการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรท้องถิ่นเพื่อรองรับการถ่ายโอนภารกิจด้านกิจการสภาเด็กและเยาวชนประจำปี 2566 มีจำนวน 6 รุ่น รุ่นละ 240 คน จำนวนทั้งสิ้น 1440 คน ระหว่างวันที่ 20 ธันวาคม 2565 ถึง 24 มีนาคม 2566 ณ โรงแรมบ้านไทย บูทีค เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร
สำหรับความเคลื่อนไหวนโยบายขับเคลื่อน การสร้างกระบวนการเรียนรู้ด้านการมีส่วนร่วมของสภาเด็กและเยาวชน ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในรูปแบบกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนตั้งแต่ปี 2564-2566 โดยได้มีการประกวดรางวัลและจัดพิธีมอบรางวัลเชิดชูเกียรติตำบลต้นแบบสร้างการเรียนรู้ด้านการมีส่วนร่วมของสภาเด็กและเยาวชนขึ้นโดยนายทวี เสริมภักดีกุล รองอธิบดี เมื่อวันที่ 21 พ.ย.2565 ณ อุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
โดยมีผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาเด็กและเยาวชน พร้อมด้วยผู้แทนจากสำนักสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ มูลนิธินวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กรมกิจการเด็กและเยาวชน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าร่วมกิจกรรม
นายทวี เสริมภักดีกุล เปิดเผยว่า ที่ผ่านมากรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และภาคีเครือข่าย ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้มีความรู้ความเข้าใจในการส่งเสริมสภาเด็กและเยาวชน ตลอดจนการขยายผลพื้นที่ต้นแบบ โดยได้ร่วมขับเคลื่อนโครงการตำบลต้นแบบสร้างการเรียนรู้ ด้านการมีส่วนร่วมของสภาเด็กและเยาวชน ส่งเสริมให้เกิดระบบสนับสนุนเด็กและเยาวชน
ในท้องถิ่นและเครือข่ายตำบลต้นแบบฯ เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความสนใจในงานสภาเด็กและเยาวชน รองอธิบดี สถ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอแสดงความชื่นชมต่อผู้บริหารท้องถิ่นทั้ง 30 ท่านจากเทศบาลตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบลทั่วประเทศซึ่งเป็นต้นแบบในด้านการมีส่วนร่วมของสภาเด็กและเยาวชน ซึ่งดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ระหว่างปี 2564-2566 ทำให้เกิดระบบสนับสนุนสภาเด็กและเยาวชนในท้องถิ่นและพัฒนายกระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสู่การเป็นต้นแบบในด้านการมีส่วนร่วมของสภาเด็กและเยาวชน สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ ทั้งเป็นแหล่งขยายผลให้กับท้องถิ่นในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป