จากกรณีศาลอาญาคดีทุจริตฯ ภาค 9 มีคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ อท 58/2563 เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 63 ที่พนักงานอัยการคดีปราบปรามทุจริตฯ ภาค 9 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายไพร พัฒโน อดีตนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ เนื่องจากเป็นผู้อนุมัติจ่ายขาดเงินสะสมจำนวน 20 ล้านบาท ของเทศบาลนครหาดใหญ่ มอบให้มูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัยในพระราชูปถัมภ์ ใช้เป็นทุนในการจัดทำโครงการจัดสร้างวัตถุมงคล “หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด รุ่นมงคลมหาราช” แทนเทศบาลนครหาดใหญ่ ให้พุทธศาสนิกชนเช่าบูชาเพื่อหารายได้ในการบูรณะซ่อมแซ่มและปิดทององค์พระ “พระพุทธมงคลมหาราช” พระพุทธรูปประจำเมืองหาดใหญ่
โดยจำเลยไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้างของทางราชการในโครงการจัดสร้างวัตถุมงคลหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด รุ่น “มงคลมหาราช” ไม่ได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการกำหนดราคากลาง และอื่นๆ ไม่ได้ทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง ไม่ได้จัดทำฎีกาเบิกเงินค่าจ้าง ตามระเบียบของทางราชการ
คดีนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ให้ความเห็นว่า นายไพร และสมาชิกสภาในขณะนั้น ไม่มีอำนาจในการสั่งจ่ายงบดังกล่าว ต่อมาอัยการสูงสุดมีคำสั่งรับดำเนินคดีอาญาฟ้องจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151, 157 อันเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท รวมทั้งหมด 7 กรรม
และต่อมาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 มีคำพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จำคุก 2 ปี ต่อมาจำเลยได้ให้การปฏิเสธและยื่นอุทธรณ์
ล่าสุดเมื่อวานนี้ (10 พ.ย. 64) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 9 จ.สงขลา ได้อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว เห็นว่า โครงการสร้างวัตถุมงคลดังกล่าว เป็นกิจการเกี่ยวเนื่องกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงศาสนาวัฒนธรรมอยู่ในอำนาจหน้าที่ของเทศบาลนครหาดใหญ่ที่สามารถกระทำได้ แม้ไม่ได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายไว้แต่ ได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ให้ยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยวิธีการงบประมาณ ขององค์กรส่วนปกครองท้องถิ่นพ.ศ.2541 ข้อ 9 และข้อ 34
และสภาเทศบาลนครหาดใหญ่ยังได้อนุมัติให้มีการจ่ายขาดเงินสะสมซึ่งเป็นเงินนอกงบประมาณจำนวน 20 ล้านบาทให้แก่มูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัย ฯ เพื่อให้จัดสร้างวัตถุมงคลหลวงปู่ทวด ฯ และให้ประชาชนทั่วไปเช่าบูชาเพื่อนำรายได้ไปใช้ซ่อมแซมพระพุทธมงคลมหาราช จำเลยจึงได้อนุมัติโอนเงินสะสมจำนวน 20 ล้านบาทดังกล่าวให้มูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัย ฯ และมูลนิธิได้ออกใบอนุโมทนาบัตรให้เทศบาลนครหาดใหญ่ด้วยจึงเท่ากับเป็นการเบิกจ่ายขาดเงินสะสมแก่มูลนิธิฯ เป็นผู้ดำเนินการจัดสร้างวัตถุมงคลแล้ว เงินจำนวน 20 บาทดังกล่าวย่อมตกเป็นของมูลนิธิฯ
เทศบาลนครหาดใหญ่จึงไม่ใช่ผู้รับผิดชอบโครงการ และไม่ต้องดำเนินการตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุ ของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นพ.ศ 2535 อีก และการที่จำเลยแจ้งให้ ผอ.มูลนิธิ ฯจ่ายเงินรวม 3 ครั้ง เป็นการจ่ายเงินที่พ้นสภาพ จากการเป็นเงินของเทศบาลนครหาดใหญ่แล้ว การจ่ายเงินจึงไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวอีกเช่นกัน ที่ศาลชั้นต้น ยกฟ้องในส่วนนี้ ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยอนุมัติให้มีการจ่ายเงิน ค่าจัดสร้างวัตถุมงคล 3 ครั้งจากบัญชีมงคลมหาราชเทศบาลนครหาดใหญ่ ให้ผู้จัดการโรงงานสร้างวัตถุมงคลนั้น ได้ความจากผู้แทนมูลนิธิฯว่า ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างวัตถุมงคลเป็นเงินจำนวน 35 ล้านบาทเศษ แต่ขอให้เทศบาลนครหาดใหญ่ให้การสนับสนุนเบื้องต้น 20 ล้านบาท ทำให้น่าเชื่อว่าค่าใช้จ่ายในการสร้างวัตถุมงคลต้องมากกว่า 20 ล้านบาท
เทศบาลนครหาดใหญ่จึงเปิดให้มีการจองหรือเช่าวัตถุมงคลล่วงหน้า เพื่อนำเงินไปเป็นค่าใช้จ่ายในการสร้างวัตถุมงคล โดยเงินนั้นนำเข้าบัญชี “มงคลมหาราช” พอฟังได้ว่าเทศบาลนครหาดใหญ่กระทำการแทนมูลนิธิฯเพื่อนำเงินมาชำระค่าจัดสร้าง
ดังนั้นเงินในบัญชี จึงยังไม่ใช่รายได้ของเทศบาลนครหาดใหญ่จนกว่าจะมีการชำระหนี้ค่าจัดสร้างครบถ้วนแล้ว การที่จำเลยอนุมัติให้มีการจ่ายเงิน และไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตาม ป.อ.มาตรา 151, 157 ที่ศาลอาญาคดีทุจริตฯ พิพากษาลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 157 มานั้น ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตฯ ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลย