การอภิปรายร่าง พ.ร.บ. งบประมาณประจำปี 2567 วันแรกเดือด สส. ฝ่ายรัฐบาลเดินหน้าหนุนยโยบายผู้ว่า CEO ด้าน สส. ฝ่ายค้าน ฉะ! รบ. ควรให้ความสำคัญกับ อปท. สร้างความเข้มแข็งท้องถิ่น หลังจัดสรรงบไม่ถึง 35%
เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567 ณ อาคารรัฐสภา นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเลย พรรคเพื่อไทย ได้อภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ว่า ย้อนกลับไปเมื่อครั้งรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภา (11 – 12 ก.ย. 66) สมาชิกสภาหลายคนมีความกังวลและตั้งข้อสังเกตไว้มากมายในเรื่องของ “นโยบายกระจายอำนาจ” ที่รัฐบาลได้กล่าวเอาไว้กว้าง ๆ ว่า รัฐบาลจะใช้การบริหารงานในรูปแบบของการกระจายอำนาจ (ผู้ว่าฯ CEO) สร้างประสิทธิภาพในการบริหารงานในแต่ละจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่
นายเลิศศักดิ์ กล่าวต่อว่า นโยบายผู้ว่าฯ CEO ในยุคปัจจุบันเป็นเรื่อง “แสลงหูของผู้คนในแวดวงการกระจายอำนาจ” โดยหลายคนมองว่านโยบายผู้ว่าฯ CEO เป็นเหมือนการกระจุกรวมอำนาจไม่สอดคล้องกับหลักการกระจายอำนาจ และเอื้อประโยชน์ในการจัดทำงบประมาณไปกระจุกไว้ที่จังหวัดและกลุ่มจังหวัด โดยใช้ประโยชน์จากอำนาจผู้ว่าฯ CEO ไปใช้จัดการงบประมาณจังหวัดและกลุ่มจังหวัด
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากร่างงบประมาณดังกล่าว ข้อกังวลของหลายคนน่าจะคลี่คลายลงไปได้ เพราะรัฐบาลยังคงให้ความสำคัญกับ อปท. โดยยังคงจัดงบประมาณให้กับ อปท. สูงถึง 101,306.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14,849.2 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.18 เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2566 ขณะที่รัฐบาลได้จัดสรรให้จังหวัดและกลุ่มจังหวัดเพียง 2.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นเพียง 1.5 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 7.33 จากเมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2566
เพราะฉะนั้น เรื่องอำนาจของผู้ว่าฯ CEO ในการจัดการกับงบประมาณจังหวัดและกลุ่มจังหวัด น่าจะเป็นข้อสงสัยที่ไม่น่าจะเป็นความจริง เพราะร่างงบประมาณดังกล่าวได้ตอบข้อสงสัยแล้วว่า งบประมาณที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยไม่ได้มีผลทำให้หลักเกณฑ์การใช้งบประมาณจังหวัดและกลุ่มจังหวัดเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด ซึ่งหลักเกณฑ์การใช้งบประมาณที่สำนักงบประมาณได้ตั้งหลักเกณฑ์เอาไว้ว่างบประมาณจังหวัดและกลุ่มจังหวัดจะใช้ได้นั้นต้องเป็นงบลงทุนไม่น้อยกว่า 75% และต้องไม่เป็นโครงการของ อปท. รัฐบาลชุดนี้จึงพยายามลด เลิก หลักเกณฑ์ดังกล่าว นั่นหมายความว่า อปท. สามารถไปใช้งบประมาณของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดได้
ตนมีความเชื่อว่าปัจจุบันโครงข่าย อปท. มีความเข้มแข็งมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันประชาชนก็มีความเข้าในบทบาทอำนาจหน้าที่ของ อปท. มากขึ้น จึงกล่าวได้ว่า อปท. เป็นหน่วยงานภาครัฐที่มีความใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชนมากที่สุด ในการให้บริการสาธารณะ
นายเลิศศักดิ์ กล่าวอีกว่า นโยบายผู้ว่าฯ CEO เป็นรูปแบบหนึ่งในการกระจายอำนาจ โดยกระจายอำนาจจากอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ไปสู่ผู้ว่าราชการจังหวัด ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกและสนับสนุนการทำงานของ อปท. เพราะท้องถิ่นต้องประสบปัญหาหลายอย่าง เช่น ปัญหาเรื่องการแก้ไขแบบแปลนโครงการก่อสร้าง ข้อสั่งการ กฎหมายต่าง ๆ ปัญหาเหล่านี้ท้องถิ่นต้องส่งเรื่องให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด และส่งต่อไปที่ สถ. ดำเนินการแก้ปัญหา ปัญหาในบางเรื่องต้องส่งต่อไปที่กรมบัญชีกลางซึ่งใช้เวลา 3 – 6 เดือน กว่าจะได้รับการพิจารณาวินิจฉัยออกมา แต่ถ้าถ่ายโอนอำนาจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาไว้ที่ผู้ว่าราชการจังหวัด ในการวินิจฉัยปัญหาได้ทันท่วงที ทำให้ท้องถิ่นแก้ปัญหาของตนเองได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น หากเป็นไปแนวทางนี้ นโยบายผู้ว่าฯ CEO จะมีประโยชน์และไม่ขัดต่อการกระจายอำนาจ
นายเลิศศักดิ์ กล่าวถึงตัวชี้วัดที่บ่งชี้ให้เห็นว่าการจัดสรรงบประมาณในร่างงบประมาณดังกล่าวยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องการกระจายอำนาจคือ สัดส่วนรายได้ของท้องถิ่นต่อรายได้สุทธิของรัฐบาลอยู่ที่ร้อยละ 29.1 อาจจะลดลงมาบ้างเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 29 พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ระยะเวลาในการบริหารงานแค่ 4 เดือน ไม่สามารถมาแก้ปัญหาให้สัดส่วนรายได้ของท้องถิ่นต่อรายได้สุทธิของรัฐบาลกระโดดไปถึง 35% นั้น เป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน แต่ตนเชื่อว่าสามารถทำได้โดยคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องถ่ายโอนภารกิจให้กับ อปท. มากขึ้น เมื่อถ่ายโอนภารกิจมากขึ้น เงินงบประมาณมจะเพิ่มขึ้นตามไป หากรัฐบาลชุดนี้มีเวลามากกว่านี้เชื่อว่าสัดส่วนรายได้ของท้องถิ่นต่อรายได้สุทธิของรัฐบาลที่แช่แข็งอยู่ 29% มาหลายปีจะเพิ่มสูงขึ้น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะไปถึงเป้าหมายร้อยละ 35 ที่ตั้งไว้ให้ได้
ขณะที่ขั้วของฝ่ายค้าน นายชัยชนะ เดชเดโช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายร่างงบประมาณปี 2567 ว่า รัฐบาลเปรียบเสมือน “ลิงได้แก้ว” โดยประชาชนต้องผิดหวังกับการรอค่อยเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่จะรับในเดือนมกราคม 2567 ที่สัญญาไว้ตอนหาเสียง แต่กลับไม่มีเงินกำหนดในงบประมาณ โดยงบประมาณทั้งหมด 3.48 ล้านล้านบาท ซึ่งประมาณรายจ่ายประจำ 72.8% และมีงบลงทุนเพียง 20.6% ที่เกินหลักเกณฑ์เล็กน้อย
โดยการจัดสรรงบประมาณต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แต่ในปีนี้มีงบกลางมากถึง 17.4% จากงบประมาณ 6.3 แสนล้านบาท ซึ่งมีเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินจำเป็น 9.5 หมื่นล้านบาท สูงกว่าเดิม 2 พันล้านบาท โดยนายกรัฐมนตรีสามารถใช้อำนาจโดยไม่ต้องผ่านคณะรัฐมนตรี ซึ่งประชาชนต้องติดตาม และงบบูรณาการ 2.15 แสนล้านบาท น้อยกว่าปีที่ผ่านมา (2566) แต่ความเป็นจริงควรตั้งไว้เยอะ เพราะต้องใช้ขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power ในการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน แต่กลับไปเกี่ยวข้องกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในการบริหารจัดการน้ำ 56,000 ล้านบาท ถึงสอบถามเกี่ยวกับโครงการในการจัดการ
สำหรับงบประมาณแยกตามกระทรวง นายชัยชนะ กล่าวว่า งบประมาณกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ถูกตัดงบลง 9,537.4 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 7.44 ซึ่งเป็นอาชีพหลักของประชาชนคนไทย จึงขอให้นายกรัฐมนตรีเห็นใจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และไม่เห็นด้วยกับการจัดสรรให้งบประมาณกับ อปท. 29% แต่เราต้องการให้มีการจัดสรรเพิ่มขึ้นเป็น 35% เพื่อกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น
โดยสัดส่วนรายได้ของ อปท. ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากส่วนกลางร้อยละ 29 เป็นเวลา 7 ปีติดต่อกัน ซึ่งประเทศไทยมี พ.ร.บ. กระจายอำนาจเมื่อปี 2540 แก้ไขเมื่อปี 2542 กรอบกฎหมายดังกล่าว พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เขียนไว้ชัดเจนว่า ต้องมีงบประมาณอุดหนุนให้กับท้องถิ่นไม่ต่ำกว่า 35% จากวันนั้นมาถึงวันนี้อยู่ที่ 29% แต่ 29% ที่ท้องถิ่นได้รับ ท้องถิ่นมีภาระหน้าที่มากมายวันนี้ เช่น ต้องรับโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจากกระทรวงสาธารณสุขโอนมาให้แต่ภารกิจ จนนายกท้องถิ่นไม่มีเงินจะบริหารราชการแล้ว ในฐานะที่ตนมาจากสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด น้ำไม่ไหลไฟป่า น้ำท่วม ไฟไม่ติด ประชาชนนึกถึงท้องถิ่นเป็นองค์กรแรก เกิดจนตายท้องถิ่นเป็นคนดูแล แต่รัฐบาลส่วนกลางไม่คิดจะให้เงินงบประมาณท้องถิ่นบ้างเลยหรือ ชัยชนะตั้งข้อสงสัย หรือว่าให้ท้องถิ่นบริหารภายใต้ของมันจำกัดอย่างนี้ไปตลอดเวลา นี่เป็นสิ่งที่ตนได้ฝากกับรัฐบาลนี้ไว้
ส่วนนโยบายที่รัฐบาลใช้หาเสียงและสัญญากับประชาชน นายชัยชนะ กล่าวว่า นโยบายส่วนใหญ่ของรัฐบาล ขาดการให้ความสำคัญในการใช้งบประมาณ โดยนโยบายที่พรรคเพื่อไทย หาเสียงเลือกตั้งทั้ง 13 นโยบายสำคัญที่แถลงต่อรัฐสภาเดือนตุลาคม 2566 ซึ่งมีการบรรจุไว้ในร่างงบประมาณเพียงเล็กน้อย
“รัฐบาลว่าควรให้ความสำคัญกับการดำเนินงานนโยบายของรัฐบาล ต้องยึดแนวทางภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังและยกระดับศักยภาพของประเทศในทุกระดับ และขอฝากนายกฯ แฟชั่น ควรให้ความสำคัญกับ อปท. เพิ่มศักยภาพถ่ายโอนภารกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อความเข้มแข็งของท้องถิ่น” นายชัยชนะ กล่าว