close

หน้าแรก

menu
search

ล้วงลึกสมรภูมิเดือดสนามเลือกตั้ง “นายก อบจ.”

schedule
share

แชร์

ปัจจุบันสถานการณ์การเมืองท้องถิ่นกำลังเป็นที่จับตามองจากทุกฝ่ายทั้งนักวิชาการ นักวิเคราะห์ ตลอดจนประชาชน ซึ่งในอนาคตอันใกล้ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดให้เป็นวันเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) จำนวน 47 จังหวัด ประกอบด้วย กระบี่ จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตรัง ตราด นครนายก นครปฐม นครพนม นครราชสีมา นนทบุรี นราธิวาส น่าน บึงกาฬ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี ปัตตานี พังงา พัทลุง พิจิตร แพร่ ภูเก็ต มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยะลา ระยอง ลพบุรี ลำปาง ลำพูน ศรีสะเกษ สกลนคร สงขลา สตูล สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี หนองคาย หนองบัวลำภู และอำนาจเจริญ พร้อมเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) พร้อมกันทั่วประเทศทั้ง 76 จังหวัด

สืบเนื่องจากการเลือกนายก อบจ. ครั้งแรกหลังจากการรัฐประหารคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2563 โดยเป็นการเลือกตั้ง อบจ. พร้อมกันทั้งหมด 76 จังหวัดทั่วประเทศไทย ซึ่งนับจากวันเลือกตั้งดังกล่าว นายก อบจ. ทั้งหมดจะต้องหมดวาระลงในวันที่ 19 ธันวาคม 2567 อย่างไรก็ตาม มีเหตุให้อย่างน้อย 27 จังหวัดต้องเลือกตั้งนายก อบจ. คนใหม่ก่อนครบวาระ โดยเฉพาะในปี 2567 ปีสุดท้ายก่อนครบวาระมีถึง 23 จังหวัดที่มีการเลือกตั้งใหม่

5 สาเหตุต้องเลือกตั้งก่อนครบวาระ

สำหรับประเด็นที่ถูกจับตามากที่สุดอย่างการชิงลาออกก่อนครบวาระ ถือเป็นหนึ่งในสาเหตุใหญ่ที่ทำให้มีการจัดเลือกใหม่ก่อนครบวาระ ด้าน iLaw องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน ได้สรุปสาเหตุของการเลือกตั้งใหม่ไว้ดังนี้

1. ศาลสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่

การเลือกตั้งนายก อบจ. กาฬสินธุ์ ในวันที่ 20 ธันวาคม 2563 ผู้ชนะเลือกตั้งคือ ชานุวัฒน์ วรามิตร โดยเอาชนะผู้สมัครตัวเต็งจากพรรคเพื่อไทย อย่างไรก็ตามหลังจากนั้น ชานุวัฒน์ ถูกศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ จากกรณีที่มีทีมงานผู้ช่วยหาเสียงโพสต์เฟซบุ๊กประกาศเชิญชวนผู้คนให้มาเอาป้ายหาเสียงไปใช้ประโยชน์ก่อนวันเลือกตั้ง เป็นผลให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม โดยมีการจัดการเลือกตั้งนายก อบจ.กาฬสินธุ์ ใหม่เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 โดยผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ชานุวัฒน์ แพ้ เฉลิมขวัญ หล่อตระกูล จากพรรคเพื่อไทย

2. ศาลเพิกถอนสิทธิทางการเมือง

การเลือกตั้งนายก อบจ. ร้อยเอ็ด ในวันที่ 20 ธันวาคม 2563 ผู้ชนะเลือกตั้งคือ เอกภาพ พลซื่อ อย่างไรก็ตามหลังจากนั้น เอกภาพ ถูกศาลอุทธรณ์ภาค 4 ตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี จากการปราศรัยใส่ร้ายผู้สมัครคู่แข่ง (มังกร ยนต์ตระกูล) ด้วยความเท็จ ส่งผลให้ตำแหน่งนายก อบจ. ของเอกภาพเป็นอันสิ้นสุดลง หลังจากนั้นมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2567 ผลคือเศกสิทธิ์ ไวนิยมพงศ์ จากพรรคเพื่อไทย เอาชนะ รัชนี พลซื่อ อดีตนายก อบจ. และภรรยาของเอกภาพ

3. ลาออกเพื่อเปลี่ยนตำแหน่งทางการเมือง

สำหรับการเพื่อเปลี่ยนตำแหน่งทางการเมืองมีอย่างน้อยสามครั้ง คือ การเลือกตั้งนายก อบจ. สระแก้ว เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2566 ที่ขวัญเรือน เทียนทอง ตัดสินออกจากตำแหน่งเพื่อเตรียมไปลงสมัคร สส. ในนามพรรคพลังประชารัฐ และลูกชาย ฐานิสร์ เทียนทอง อดีต สส.พรรคพลังประชารัฐ มาลงสมัครนายก อบจ. ผลการเลือกตั้งทั้งสองคนได้รับเลือกตั้งตามความคาดหมาย

การเลือกตั้งนายก อบจ.กาญจนบุรี เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง สส. ในเดือนพฤษภาคม 2566 เมื่อสุรพงษ์ ปิยะโชติ ตัดสินใจลาออกเพื่อไปรับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในโควตาพรรคเพื่อไทย ทำให้มีการเลือกตั้งใหม่เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2566 โดยผู้ชนะเลือกตั้งคือ ประวัติ กิจธรรมกูลกิจ จากกลุ่มพลังกาญจ์ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สส.กาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย

เลือกตั้งนายก อบจ.พะเยา ครั้งใหม่เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2567 เกิดขึ้นจากการตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายก อบจ.พะเยา ของอัครา พรหมเผ่า น้องชาย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สส.พรรคพลังประชารัฐ เดิมทีอัคราถูกวางตัวว่าจะลงนายกอบจ.อีกสมัยภายใต้สังกัดพรรคเพื่อไทย แต่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระดับชาติเมื่อพรรคพลังประชารัฐถูกถอดจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล และตั้งรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของแพทองธาร ชินวัตร ทำให้อัคราได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขณะเดียวกันสนามเลือกตั้ง อบจ.พะเยา ครั้งนี้ยังต่ออยู่ภายใต้คนของพรรคเพื่อไทย คือ ธวัช สุทธวงศ์ ที่สามารถชนะเลือกตั้งได้

4. ลาออกเพื่อหลีกเลี่ยงข้อกฎหมายที่ทำให้การทำงานมีข้อจำกัด

ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 มีเงื่อนไขด้านเวลาสองประการที่ทำให้นายก อบจ. หลายคนตัดสินใจลาออกก่อนครบวาระการดำรงตำแหน่ง เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการตีความกฎหมายที่อาจสุ่มเสี่ยงที่จะโดนจับผิดจากคู่แข่ง และโดนลงโทษจาก กกต. และศาล

เงื่อนไขแรก ตามมาตรา 64 กำหนดให้ระยะเวลา 180 วัน หรือประมาณหกเดือนก่อนครบวาระ ให้นับเป็นช่วงเวลาหาเสียง ซึ่งหมายความว่า ถ้านายก อบจ. ที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่ต้องการลงสมัครเลือกตั้งอีกสมัย การกระทำต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้จะเข้าข่ายเป็นการกระทำตามกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น เช่น ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้จะต้องถูกตีความเพื่อนำไปคิดเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ซึ่งแตกต่างจากการลาออกจากตำแหน่งที่มาตรการดังกล่าวจะมีผลนับตั้งแต่วันที่ประกาศให้มีการเลือกตั้ง

เงื่อนไขที่สอง ตามมาตรา 65 กำหนดให้ 90 วัน หรือ สามเดือนก่อนครบวาระหรือก่อนลาออก ห้ามผู้บริหารท้องถิ่นกระทำการดังต่อไปนี้

(1) จัดทำ ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด

(2) ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดไม่ว่าจะโดยตรง หรือโดยอ้อมแก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัดหรือศาสนสถานอื่น สถานศึกษา สถานสงเคราะห์ หรือสถาบันอื่นใด

(3) ทำการโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่าง ๆ

(4) เลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงผู้ใด

(5) หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครใด

ถ้าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อนุมัติโครงการหรือกิจกรรมใหม่ที่มีลักษณะดังกล่าวภายใน 90 วันก่อนวันครบวาระหรือก่อนการลาออกจากตำแหน่งของผู้บริหารท้องถิ่น ให้ถือว่าเป็นกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย รวมทั้งการช่วยเหลืองานบุญ งานทางสังคมต่าง ๆ ก็อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นด้วย

พล.ต.อ.สมศักดิ์ จันทะพิงค์ นายก อบจ.นครสวรรค์ ซึ่งได้ลาออกก่อนครบวาระตำแหน่งเป็นเวลาหกเดือน กล่าวถึงเงื่อนไขทางกฎหมายที่ทำให้ต้องลาออกก่อนครบวาระว่า “ไม่ต้องการให้การบริหารงานของ อบจ. จะเกิดอุปสรรคและติดขัด … โดยเฉพาะการใช้งบประมาณในช่วง 180 วันก่อนการเลือกตั้ง และค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ซึ่งห้ามเกิน 7.5 ล้านบาท … ซึ่งจะถูกนำไปนับรวมในการเลือกตั้งได้ … ผู้บริหารท้องถิ่นไม่มีอำนาจอนุมัติโครงการใหม่ 90 วันก่อนครบวาระและต้องรายงานการใช้งบประมาณทั้งหมดต่อ กกต. … ถ้าอยู่จนครบวาระก็จะไม่มีอำนาจนานถึง 3 เดือน”

5. ลาออกเพื่อชิงความได้เปรียบทางการเมือง

ในแง่มุมทางการเมืองการลาออกก่อนครบวาระเท่ากับเป็นการชิงความได้เปรียบทางการเมืองจากคู่แข่ง ณัฐกร วิทิตานนท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบายประเด็นนี้ไว้ในเว็บไซต์ the101.world ว่า การลาออกก่อนครบวาระเป็นกลยุทธ์ทางการเมือง เพื่อสร้างความได้เปรียบดังนี้ ให้คู่แข่งรายสำคัญที่ยังมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนลงสมัครไม่ได้ เช่น มีชื่อในทะเบียนบ้านไม่ถึงหนึ่งปีนับถึงวันสมัคร พรรค/กลุ่มการเมืองที่มีแผนจะส่งคนลงไม่สามารถหาตัวผู้สมัครได้ทันจึงถอนตัว การเลือกตั้งเฉพาะตำแหน่งฝ่ายบริหารทำให้คนเดิมที่มีเครือข่ายสมาชิกสภารองรับอยู่ก่อนสามารถยึดกุมฐานเสียงในพื้นที่ต่าง ๆ ได้ง่ายกว่าคนใหม่ อีกทั้งยังช่วยประหยัดงบประมาณกว่าการส่งลงแบบเป็นทีมเพราะไม่ต้องเลือกพร้อม ส.อบจ. นอกจากนี้ยังเป็นการหลีกเลี่ยงกระแสการเมืองระดับชาติ

สนามเลือกตั้งซ่อมกับกองหนุนหลังบ้าน

สำหรับสาเหตุที่ว่า ทำไมจึงมีการเลือกตั้งนายก อบจ. เพียง 47 จังหวัด เพราะก่อนหน้านี้มี 29 จังหวัดได้ทยอยกันเลือกตั้งนายก อบจ.ไปก่อนหน้านี้แล้ว แบ่งได้เป็น 2 กรณี

กรณีแรก จำนวน 27 จังหวัด ที่เกิดเหตุการณ์นายก อบจ. ลาออกก่อนครบวาระ ด้วยเหตุผลหลายประการดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

กรณีที่สอง จำนวน 2 จังหวัด มีการเลือกตั้งใหม่ตามคำสั่งศาลและ กกต. ได้แก่ กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด

โดยภาพรวมเรื่องเครือข่ายความสัมพันธ์ของกองหนุนหลังบ้านกับตัวผู้สมัคร ประชาไท ระบุไว้ว่า เครือข่ายพรรคการเมืองมีการส่งผู้สมัครในนามพรรค เนื่องจากการเลือกตั้งนายก อบจ. ไม่ได้มีข้อกำหนดให้ผู้สมัครต้องสังกัดพรรคการเมือง ทำให้ผู้สมัครจำนวนมากลงสมัครในนามอิสระหรือในนามกลุ่มการเมืองท้องถิ่นที่ตัวเองสังกัดโดยไม่ได้มีความเกี่ยวข้องการพรรคการเมืองโดยตรง แต่โดยความสัมพันธ์ส่วนตัวพบว่า ผู้ชนะเลือกตั้ง นายก อบจ. หลายคนมีความสัมพันธ์ทางการเมืองกับพรรคการเมืองต่าง ๆ โดยอาจกล่าวได้ว่าเป็นเครือข่ายกันผ่านการส่งเครือญาติหรือคนในกลุ่มเป็น สส.หรือดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองต่าง ๆ

องค์กร Rocket Media Lab ซึ่งเป็นองค์กรภาคเอกชนที่รวบรวมข้อมูลใหญ่ได้สำรวจการเลือกตั้งนายก อบจ. ในการเลือกตั้งใหม่ มี 14 จังหวัดที่ นายก อบจ. คนเดิม ได้รับการเลือกตั้งกลับมา คือ

กำแพงเพชร “สุนทร รัตนากร” คว้าชัยอีกสมัยด้วยคะแนนทิ้งห่างธานันท์ หล่าวเจริญ กว่า 1 แสนเสียง สามารถรักษาเก้าอี้ตำแหน่งเดิมไว้ได้อีกครั้ง

ชุมพร “นพพร อุสิทธิ์” อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชุมพร ซึ่งลาออกจากตำแหน่งไป โดยกลับมาลงสมัครใหม่อีกสมัย และยังเป็นผู้สมัครเพียงคนเดียวแบบไร้คู่แข่งชาวบ้านลงคะแนนให้ 156,806 คะแนน จนรักษาเก้าอี้ไว้ได้สำเร็จ

นครสวรรค์ “สมศักดิ์ จันทะพิงค์” แชมป์เก่า ชนะการเลือกตั้งตามคาด โกยคะแนนนำลิ่วทิ้งห่างคู่แข่ง  นางสาวขนิษฐา ดอกไม้ทองกว่าแสนคะแนน หลังยื่นลาออกกะทันหัน และกลับมาลงสมัครใหม่อีกสมัย

พระนครศรีอยุธยา “สมทรง พันธ์เจริญวรกุล” อดีตนายก อบจ.พระนครศรีอยุธยา 5 สมัย ที่อยู่มายาวนานร่วม 20 ปี ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับพรรคสีน้ำเงิน เพราะมีลูกชายและหลานเป็นรัฐมนตรีและ สส.พระนครศรีอยุธยา พรรคภูมิใจไทย โดยเอาชนะนายวัชรพงศ์ ระดมสิทธิพัฒน์ อดีตนายก อบต.บ้านใหม่ ที่ลงสมัครในนามกลุ่มก้าวใหม่อยุธยาแบบขาดลอย

พิษณุโลก “มนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์” คว้าชัยชนะเลือกตั้ง อบจ.พิษณุโลก อีกสมัย ส่วนสิริพรรณ คุณประจักษ์นุกูล จากพรรคประชาชน พ่ายให้แก่แชมป์เก่ากว่าแสนคะแนน

เพชรบุรี “ชัยยะ อังกินันทน์” คะแนนทิ้งห่าง ผู้ท้าชิง กว่าหมื่นคะแนน ซึ่งคาดว่าน่าจะเกิดจากกระแสความนิยมในตัวบุคคล โดยมีผู้สมัครลงแข่งขันเพียง 2 คน คือ นายชัยยะ อังกินันทน์ อดีตนายก อบจ. ที่ลาออกก่อนครบวาระ และนายกฤษณ์ แก้วอยู่ ลงสมัครในนามพรรคพลังประชาชน

เพชรบูรณ์ “อัครเดช ทองใจสด” อดีตนายก อบจ.เพชรบูรณ์ 6 สมัย ซึ่งลาออกก่อนหมดวาระ และลงสมัครอีกครั้ง ทำคะแนนทิ้งห่างคู่แข่งเป็นอย่างมาก เอาชนะผู้ท้าชิงอีก 2 คน ไปกว่า 2 แสนคะแนน

ยโสธร “วิเชียร สมวงศ์” อดีตนายก อบจ.ยโสธร ลาออกก่อนครบวาระ แชมป์เก่าจากเพื่อไทย ชนะเลือกตั้งนายก อบจ.ยโสธร คว้าชัยแบบขาดลอย 169,068 เสียง

ราชบุรี “วิวัฒน์ นิติกาญจนา” มีคะแนนนำทิ้งห่าง ชัยรัตน์ ศักดิ์อิสระพงศ์ จากพรรคประชาชน มีคะแนนนำกว่าหกหมื่นคะแนน ส่งผลให้นายวิวัฒน์ นิติกาญจนา อดีตนายก อบจ.ราชบุรี รักษาเก้าอี้ไว้ได้อีกสมัย

สุโขทัย “มนู พุกประเสริฐ” แชมป์เก่ารักษาเก้าอี้นายก อบจ.สุโขทัย ไว้ได้ด้วยคะแนน 142,840 คะแนน ซึ่งเป็นอดีตนายก อบจ.สุโขทัย ที่ก่อนหน้านี้ลาออกจากตำแหน่งก่อนครบวาระ ทำให้ต้องจัดเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างลง และนายมนูลงสมัครชิงตำแหน่งอีกครั้ง

อ่างทอง “สุรเชษ นิ่มกุล” ผู้สมัครเพียงคนเดียว ปักธงเก้าอี้นายก อบจ. สำหรับการได้รับเลือกตั้งของผู้สมัครรับการเลือกตั้ง เนื่องจากว่าจำนวนผู้สมัครมีเพียงรายเดียว ซึ่งตามกฎหมาย พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ปี พ.ศ.2562 มาตรา 111 ได้กำหนดว่า กรณีที่มีผู้สมัครเท่าจำนวนที่จะพึงมี ซึ่งมีผู้สมัครลงเลือกตั้งเพียง 1 คน กับตำแหน่งที่ลงสมัครมีจำนวนเท่ากัน

อุทัยธานี “เผด็จ นุ้ยปรี” อดีตนายก อบจ.อุทัยธานี ลาออกก่อนครบวาระ โดยกลับมาสมัครชิงตำแหน่งเดิม และเป็นผู้สมัครเพียงคนเดียวในนาม “กลุ่มคุณธรรม” ผู้สมัครมีประชาชนลงคะแนนเกินร้อยละ 10 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง นับว่า นายเผด็จเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุทัยธานี สมัยที่ 5 คนต่อไป

และอุบลราชธานี “กานต์ กัลป์ตินันท์” แชมป์เก่าอย่าง นายกานต์ กัลป์ตินันท์ สามารถเอาชนะ นางจิตรวรรณ หวังศุภกิจโกศล ซึ่งถือเป็นบ้านใหญ่อีกบ้านในพื้นที่ไปได้ โดยคะแนนอย่างไม่เป็นทางการของอันดับ 1 ทิ้งห่างอันดับ 2 อยู่ที่ 64,470 คะแนน

โดยมี 7 จังหวัดที่เป็นเครือข่ายหรือพรรคเดิมได้รับการเลือกตั้งเข้าไป คือ

กาญจนบุรี “ประวัติ กิจธรรมกูลนิจ” ได้รับเลือกให้เป็นนายก อบจ.กาญจนบุรี ซึ่งเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง สส. ในเดือนพฤษภาคม 2566 เมื่อสุรพงษ์ ปิยะโชติ ตัดสินใจลาออกเพื่อไปรับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในโควตาพรรคเพื่อไทย ทำให้มีการเลือกตั้งใหม่เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2566 โดยผู้ชนะเลือกตั้งคือ ประวัติ กิจธรรมกูลกิจ จากกลุ่มพลังกาญจ์ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สส.กาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย

ชัยนาท “จิตร์ธนา ยิ่งทวีลาภา” คว้าชัยชนะนายก อบจ.ชัยนาท ซึ่งเป็นอดีตประธานสโมสรชัยนาท ฮอร์นบิล ที่บ้านใหญ่ตระกูลนาคาศัยเป็นเจ้าของ โดยเป็นพี่สาวนายอนุชา นาคาศัย สส.ชัยนาท อดีตรมช.เกษตรและสหกรณ์ จากพรรครวมไทยสร้างชาติ แต่มีข่าวว่าเลือกตั้งรอบหน้าจะย้ายกลับไปพรรคเพื่อไทย เพื่อไปอยู่กับนายสมศักดิ์ เทพสุทิน และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ โดยนางจิตร์ธนา ลงสมัครนายก อบจ.ชัยนาท แทนน้องชาย นายอนุสรณ์ นาคาศัย อดีตนายก อบจ.ชัยนาท ก่อนหน้านี้ที่ลาออกก่อนหมดวาระ แล้วเปิดทางให้พี่สาวลงสมัครแทน

ตาก “อัจฉรา ทวีเกื้อกูลกิจ” ชนะการเลือกตั้ง ได้ 98,601 คะแนน ด้านพ.ต.ท.อนุรักษ์ จิรจิตร ได้ 88,827 คะแนน สำหรับ นางอัจฉรา ทวีเกื้อกูลกิจ เป็นอดีตรองนายก อบจ.ตาก ภรรยาของ นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ อดีต สส.ตาก และลูกสะใภ้ของ นายณัฐวุฒิ ทวีเกื้อกูลกิจ อดีตนายก อบจ.ตาก ที่ลาออกจากตำแหน่ง ส่วนคู่แข่ง พ.ต.ท.อนุรักษ์ จิรจิตร เคยเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์) มาก่อน

พะเยา “ธวัช สุทธวงค์” จังหวัดพะเยา พื้นที่การเมืองสำคัญของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ มีการแถลงเปิดตัว ว่าจะส่งนายอัครา พรหมเผ่า อดีตนายก อบจ.พะเยา สมัยที่ผ่านมา แต่สุดท้ายมีการเปลี่ยนแผน โดยส่งนายธวัช สุทธวงค์ คนสนิทของนายอัคราลงสมัครแทน ซึ่งผลการเลือกตั้งที่ออกมา ไม่มีอะไรพลิกล็อกเพราะนายธวัช จากเครือข่ายจากบ้านใหญ่พะเยา-ตระกูลพรหมเผ่า ชนะเลือกตั้งแบบขาดลอย ด้วยคะแนน 157,560 คะแนน ทำให้เอาชนะ นายชัยประพันธ์ สิงห์ชัย อดีตผู้สมัครสส.พะเยา เขต 3 พรรคก้าวไกล ในการเลือกตั้งที่ผ่านมาไปได้แบบขาดลอย เพราะนายชัยประพันธ์ อดีตนายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลห้วยลาน อ.ดอกคำใต้ ได้แค่ 31,557 คะแนน

เลย อดีตผู้ว่าฯ เลย นายชัยธวัช เนียมศิริ ผู้สมัครนายก อบจ.เลย ชนะขาดผู้ลงสมัครอีก 3 คน จนได้นั่งเก้าอี้ท้องถิ่นสมใจ ซึ่งมีเผยเป็นคนแรกที่เกษียณราชการจากตำแหน่งผู้ว่าฯ และชิงเก้าอี้นายก อบจ.เมืองเลย สำเร็จ สำหรับการลงสมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่นสนาม อบจ.ครั้งนี้ นายชัยธวัชได้รับการสนับสนุนเต็มที่จากตระกูลทิมสุวรรณ ในนามพรรคเพื่อไทย

สระแก้ว “ฐานิสร์ เทียนทอง” ครองแชมป์นายก อบจ.สระแก้ว หลังชนะขาดทั้ง 9 อำเภอ แทนนางขวัญเรือน เทียนทอง ที่ตัดสินออกจากตำแหน่งเพื่อเตรียมไปลงสมัคร สส. ในนามพรรคพลังประชารัฐ โดยมีผู้ลงสมัครอีก 3 คน ประกอบด้วย น.ส.อัคลีมา คลังเพชร นายบรรจง โพธิ์คำ และนายวราวุธ สุวิทยพันธุ์

และอุดรธานี “ศราวุธ เพชรพนมพร” จากพรรคเพื่อไทยคว้าคะแนนเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี ไปทั้งหมด 327,487 คะแนน ทิ้งห่างคู่แข่งตัวเต็งอย่าง “คณิศร” พรรคประชาชนไปกว่า 58,812 คะแนนเสียง

ในขณะที่อีก 8 จังหวัด ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งมาจากกลุ่มใหม่ ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับนายก อบจ. คนเดิม ได้แก่

กาฬสินธุ์ “เฉลิมขวัญ หล่อตระกูล” ผู้สมัครเบอร์ 2 จากพรรคเพื่อไทย ลูกสาวนายยงยุทธ หล่อตระกูล อดีตนายก อบจ.กาฬสินธุ์ มีคะแนนนำคู่แข่งเป็นอันดับ 1 ด้วยคะแนน 248,657 ขณะที่นายชานุวัฒน์ วรามิตร อดีตนายก อบจ.กาฬสินธุ์ ผู้สมัครหมายเลข 1 ได้คะแนน 150,237 และนางเขมจิรา อนันทวรรณ ผู้สมัครหมายเลย 3 ได้คะแนน 13,769 คะแนน

ขอนแก่น “วัฒนา ช่างเหลา” ประธานสโมสรฟุตบอลขอนแก่น ยูไนเต็ด และเป็นอดีต สส.ขอนแก่นเขต 2 ล้มแชมป์ 6 สมัย นั่งเก้าอี้นายก อบจ.ขอนแก่น คนใหม่ได้สำเร็จ มีคะแนนทิ้งห่างพงษ์ศักดิ์ ตั้งวานิชกพงษ์ อดีตนายก อบจ.ขอนแก่น 6 มากถึงสี่หมื่นคะแนน

ชัยภูมิ “สุรีวรรณ นาคาศัย”ภรรยา นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย (ภท.) เขต 3 จ.ชัยภูมิ ล้มแชมป์เก่าอย่าง นายอร่าม โล่ห์วีระ ผู้สมัครหมายเลข 3 อดีตนายก อบจ.ชัยภูมิ ซึ่งเป็นพ่อของนายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เขต 7 ชัยภูมิ ได้สำเร็จ กวาดเรียบ 9 อำเภอ จากทั้งหมด 16 อำเภอ

นครศรีธรรมราช “วาริน ชิณวงศ์” ผู้สมัครหน้าใหม่คู่แข่งจากสายสีน้ำเงินพรรคภูมิใจไทย ที่ได้คะแนนไปมากถึง 328,823 คะแนน ทิ้งห่างนางกนกพร เดชเดโช อดีตนายก อบจ.นครศรีธรรมราช ไปกว่า 3 หมื่นคะแนน

ระนอง “สีหราช สรรพกุล” ทีมระนองก้าวหน้าคว้าชัยเลือกตั้งนายก อบจ.ระนอง เอาชนะธนกร บริสุทธิญาณี อดีตนายก อบจ.ระนอง ทิ้งห่างเกือบ 9,600 คะแนน

สุรินทร์ “ธัญพร มุ่งเจริญพร” คะแนนพลิกช่วงท้ายคว้าชัยไปได้ด้วยคะแนน 222,724 หลังการนับคะแนนช่วงกลางตามพรชัย มุ่งเจริญพร ไปได้ด้วยคะแนนที่ห่างกันเพียงหมื่นกว่าคะแนน เป็นการเลือกแทนตำแหน่งที่ว่างลง หลังจากที่นายพรชัย ลาออกจากตำแหน่ง ก่อนหมดวาระ 3 เดือน 

ร้อยเอ็ด “เศกสิทธิ์ ไวนิยมพงศ์” ในนามพรรคเพื่อไทย ลงสนามเลือกตั้งซ่อม นายก อบจ.ร้อยเอ็ด ทิ้งห่างอันดับ 2 จุรีพร สินธุไพร ลงในนามอิสระ (พปชร.เดิม) มากกว่า 1.3 แสนคะแนน

และปทุมธานี “พล.ต.อ.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง” (การเลือกตั้งหลัง พล.ต.อ.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ลาออก ได้นายชาญ พวงเพ็ชร์ และต่อมาโดนใบเหลือง ) กกต. สั่งให้มีการเลือกตั้งนายก อบจ.ปทุมธานี ใหม่ หลังจากนายชาญ พวงเพ็ชร ผู้ได้คะแนนสูงสุดในการเลือกตั้ง อบจ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา โดนใบเหลือง เป็นที่น่าสังเกตว่าผลคะแนนรอบนี้ ในส่วนของนายชาญหายไปหลายเขตซึ่งเคยเป็นฐานเสียงเดิม ศึกครั้งนี้ถือเป็นนัดล้างตา โดยบิ๊กแจ๊สสามารถแก้เกมเอาคืนนายชาญได้สำเร็จ

ทั้งนี้ ข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่า อดีตนายก อบจ. ที่ลาออกก่อนหมดวาระทั้งหมด เลือกที่จะยังลงสมัครต่อ หรือไม่ก็ส่งทายาทลงท้าชิง ไม่มีอดีตนายก อบจ. คนใดเลย ที่วางมือออกจากเกมเลือกตั้ง โดยไม่ลงสมัครเองและไม่ส่งทายาทมาแทนที่ ทั้งนี้ อดีตนายก อบจ. ส่วนใหญ่ เลือกหวนคืนสู่สนามการเลือกตั้งอีกครั้ง ด้วยหวังที่จะคว้าชัยในสมัยถัดไป ข้อมูลยังแสดงให้เห็นว่า การลาออกก่อนอาจได้เปรียบจริง เนื่องจากได้เป็น นายก อบจ. ต่อถึง 22 คน เทียบกับไม่ได้เป็นต่อ 7 คน (จาก 29 จังหวัด) นอกจากนี้ ข้อมูลดังกล่าวยังแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของบ้านใหญ่ ที่สามารถรักษาฐานของตัวเองไว้ได้อย่างเหนียวแน่น แม้จะลงเอง หรือส่งต่อให้ทายาททางการเมืองของตัวเองก็ตาม ผลการเลือกตั้งไม่ได้เพียงแต่สะท้อนความแข็งแรงของบ้านใหญ่เท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์กับ ‘พรรคการเมืองระดับประเทศ’ อย่างเลี่ยงไม่ได้

หลายฝ่ายแนะ “แก้กฎหมายป้องกัน นายก อบจ. ลาออก”

จากกรณีนายก อบจ. หลายจังหวัด ลาออกก่อนครบวาระในวันที่ 19 มกราคม 2568 ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น ได้รับเสียงวิพากย์วิจารณ์อย่างหนักจากหลายฝ่าย ไม่เว้นแม้แต่ นายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยนายบัญญัติ บรรทัดฐาน และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ทำหนังสือถึงประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เรื่องการจัดการเลือกตั้ง ส.อบจ. และนายก อบจ. ที่มีบางจังหวัดนายก อบจ. ลาออกก่อนครบวาระ ทำให้ต้องมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ และจะต้องมีการจัดการเลือกตั้งเฉพาะตำแหน่งสมาชิกอบจ.ในบางจังหวัดที่อยู่ครบวาระอีกครั้ง ซึ่งจะทำให้องค์การบริการส่วนจังหวัดเดียวกัน ต้องจัดการเลือกตั้งถึง 2 ครั้ง ในระยะเวลาที่ไม่ห่างกัน ทำให้สูญเสียงบประมาณแผ่นดินซึ่งเป็นภาษีของประชาชน และยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนต่อระบบการเมือง การปกครอง เพิ่มภาระการคลังของประเทศ และประชาชนโดยไม่จำเป็น จึงขอให้มีการพิจารณา และศึกษาแนวทางเพื่อปรับปรุงกฎหมาย และเสนอต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องต่อไป

ขณะที่ นายสติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า  การที่นายก อบจ. บางจังหวัดชิงลาออกก่อน  ก่อให้เกิดปัญหาอาทิเรื่องงบประมาณ เพราะต้องจัดการเลือกตั้งสองครั้งโดยไม่มีความจำเป็น เช่น จังหวัดอุบลราชธานี ที่เพิ่งจัดการเลือกตั้งนายก อบจ. ไปเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม2567 เมื่อถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ระยะเวลาห่างจากกันเพียงเดือนเศษ ๆ ก็ต้องจัดการเลือกตั้ง ส.อบจ. อีกรอบ เมื่อเลือกตั้งแยกจากการที่นายก อบจ. ชิงลาออกก่อน จะทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปใช้สิทธิน้อยลง เพราะต้องไปเลือกตั้งหลายรอบ อาจจะทำให้ไม่อยากไปอีก

“ต้องแก้กฎหมาย กำหนดวาระของนายก อบจ. และ ส.อบจ. ให้เหมือนกัน โดยเอาแนววาระการดำรงตำแหน่งของ ส.อบจ.  คือถ้านายก อบจ. ลาออกก่อนครบวาระ คนที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาใหม่จะอยู่ได้จนแค่ครบวาระ 4 ปีตามระยะเวลาในแบบ ส.อบจ. หรือลาออกในช่วง 6 เดือนสุดท้าย ก็อาจจะไม่ต้องเลือกตั้งใหม่ก็ได้ตามที่กฎหมายเขียนเอาไว้เหมือน ส.อบจ. การแก้กฎหมายเป็นแบบนี้จะทำให้คนที่จะชิงลาออกก่อนน้อยลง  

หรือจัดเลือกตั้งด้วยเครื่องมืออื่น ที่ไม่จำเป็นจะต้องเดินทางกลับบ้านเพื่อไปเข้าคูหาเท่านั้น หรือการเลือกตั้งนอกเขต  อาจเป็น กกต. เป็นผู้จัดการเลือกตั้ง เหมือนการเลือกตั้งระดับชาติ ซึ่งจัดเลือกตั้งล่วงหน้าและนอกเขตได้ เหมือนการเลือกตั้ง สส.” นายสติธร กล่าว

สำหรับ อาจารย์เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการด้านกฎหมาย มองว่า การลาออกกลางคันก่อนครบวาระ จะตีความว่าเป็นการผิดจริยธรรมโดยตรงก็คงไม่ถนัดนัก อาจเป็นการช่วงชิงพื้นที่ทางการเมือง มากกว่าซึ่งวิธีการนี้ต่างประเทศก็ทำกัน ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับไทยจึงไม่ใช่เรื่องแปลก แต่หากใช้โอกาสที่ประชาชนกำลังเดือดร้อน หาเสียงบนความทุกข์ยากของประชาชน เตรียมตัวได้เลย นักร้องเรียน ถือเอกสารไปยื่นตรวจสอบแน่นอน

ขณะเดียวกัน ก็มีหลายข้อเสนอที่น่าสนใจ อย่างเช่น ควรจัดการเลือกตั้งทุกระดับ พร้อม ๆ กับ กำหนดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งให้เท่ากัน เพื่อลดความได้เปรียบ เสียเปรียบทางการเมือง และการต่อตำแหน่งให้กันด้วย และที่สำคัญน่าจะต้องแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับเลือกตั้งท้องถิ่นให้เป็นธรรมมากขึ้นด้วย

ด้าน นายเชาว์ มีขวด ทนายความ ระบุว่า ไม่เพียงแค่ศึกษาแนวทางปรับปรุงกฎหมาย และเสนอต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องต่อไป แต่ กกต. ที่มีอำนาจอยู่ในมือ ต้องฟ้องนายก อบจ. เหล่านั้นให้ ชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐ เป็นคดีตัวอย่าง ซึ่ง ตามมาตรา 22 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 บัญญัติให้ กกต. มีหน้าที่และอำนาจในการควบคุมกำกับดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม หรือเป็นไปโดยชอบด้วกฎหมาย ให้ถือเป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการที่จะต้องดำเนินการสอดส่ง และสอบสวน หรือไต่สวน เพื่อป้องกันและขจัดการกระทำ หรือการงดเว้นการกระทำใดอันจะก่อให้เกิดความไม่สุจริต หรือเที่ยงธรรมในการเลือกตั้งได้ ไม่ว่าจะเป็นเวลาในระหว่างประกาศใช้พระราชกฤษฏีกาให้มีการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม

“จึงเห็นได้ชัดว่า นายก อบจ. ที่ลาออกแล้วกลับมาสมัครใหม่ ถือเป็นการใช้สิทธิ์โดยไม่สุจริต จงใจก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐและประชาชนโดยแจ้งชัด เพราะการเลือกตั้ง แต่ละครั้ง ไม่ใช่เฉพาะค่าใช้จ่าย ในการ จัดการเลือกตั้ง ที่จะต้องสูญเสียงบประมาณแผ่นดิน แต่ยังมี ค่าเสียหายอื่นที่เกิดขึ้นกับประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ต้อง เสีย ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และต้องเสียเวลาทำมาหากิน ที่ประเมินค่า แล้วมีค่าเสียหายไม่ต่ำกว่าค่าจัดการเลือกตั้งด้วย” นายเชาว์ ระบุทิ้งท้าย

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

มท. ประกาศยกฐานะ “นครบางบัวทอง” อย่างเป็นทางการ

มท. ประกาศยกฐานะ “นครบางบัวทอง” อย่างเป็นทางการ

มท. ออกประกาศยกระดับฐานะจาก “เทศบาลเมืองบางบัวทอง” สู่ …

schedule
สุดยิ่งใหญ่พิธีเปิด “นนทบุรีเกมส์ 2024”

สุดยิ่งใหญ่พิธีเปิด “นนทบุรีเกมส์ 2024”

อบจ.นนทบุรีจัดใหญ่กว่า 5 พันชีวิต ร่วมพิธีเปิดการแข่งขั…

schedule
สมาคมสันนิบาตปลุกพลัง คิดไกล คิดใหม่ เพื่อชาวเทศบาล

สมาคมสันนิบาตปลุกพลัง คิดไกล คิดใหม่ เพื่อชาวเทศบาล

สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย จัดการประชุมและการสัมม…

schedule
อบจ.นนทบุรี พร้อม! เจ้าภาพรอบคัดเลือกภาคกลาง “นนทบุรีเกมส์”

อบจ.นนทบุรี พร้อม! เจ้าภาพรอบคัดเลือกภาคกลาง “นนทบุรีเกมส์”

อบจ.นนทบุรี ประกาศความพร้อมเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬานักเ…

schedule

นิตยสารผู้นำท้องถิ่นออนไลน์ รวมข่าวสารอัพเดทของคนท้องถิ่น

ติดต่อเรา

อีเมล : [email protected]