“ธนาธร” ร่อนจดหมายเปิดผนึกถึงอปท.ทั่วประเทศผ่านเฟซบุ๊ก ให้ช่วยส่งเสียงเรียกร้องสมาชิกรัฐสภารับหลักการร่างแก้รธน.แก้ไขเพิ่มเติม หมวด 14 ปลดล็อกอำนาจท้องถิ่น ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาในวาระแรก 29-30 พ.ย. 65 หลังรวบรวมรายชื่อประชาชนกว่า 80,000 ชื่อผ่านการรับฟังความเห็นนำยื่นต่อสภา
วันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้าได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คแฟนเพจ ThanathornJuangroongruangkit-ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ โดยระบุว่าเป็นจดหมายเปิดผนึกถึงประชาชน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศ เพื่อเรียกร้องให้ช่วยกันรณรงค์ส่งเสียงไปยังสมาชิกรัฐสภา ให้สนับสนุนออกเสียงลงคะแนนเพื่อรับหลักการ ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาในวาระแรก วันที่ 29-30 พ.ย.2565 ที่จะถึงนี้
ด้วยร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นประชาชนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 เรียบร้อยแล้ว หลังจากคณะก้าวหน้าซึ่งเป็นกำลังหลักในการผลักดันให้มีการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น ได้รณรงค์จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นใน 30 จังหวัดภายใต้โครงการ “ขอคนละชื่อปลดล็อกท้องถิ่น” เพื่อขจัดอุปสรรคในการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญปัจจุบัน โดยจัดให้มีการรณรงค์ผ่านเวทีรับฟังความคิดเห็นมาตั้งแต่ 1 เมษายน 2565 และมีประชาชนร่วมลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญรวมทั้ง 80,722 รายชื่อ และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบรายชื่อ มีเอกสารครบถ้วน จำนวน 76,591 รายชื่อ
สำหรับตัวแทนของผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายที่จะเข้าไปชี้แจงในสภา ประกอบไปด้วย 1.นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า 2.นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า 3.นายวีระศักดิ์ เครือเทพ นักวิชาการด้านการคลังท้องถิ่นและการกระจายอำนาจและคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4.นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลาและอดีตนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และ 5.นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการสื่อสารและการรณรงค์นโยบายพรรคก้าวไกล
สาระสำคัญของ ปลดล็อคท้องถิ่น ฉบับร่าง “ปลดล็อกท้องถิ่น” ต้องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น มีสาระสำคัญคือการเสนอ 4 ปลดล็อก คือ 1.ปลดล็อกงานเพิ่มอำนาจให้องถิ่นเป็นหลักในการจัดทำบริการสาธารณะ 2.ปลดล็อกเงิน เพิ่มงบประมาณ การหารายได้ใหม่ของท้องถิ่น3.ปลดล็อกคน เพิ่มความดึงดูดของงานการเมือง ราชการในท้องถิ่น และ4.ปลดล็อกอำนาจ เพิ่มอำนาจประชาชน คืนอำนาจสู่ท้องถิ่น
โดยให้มีการแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อยกเลิกบทบัญญัติในหมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น ตั้งแต่มาตรา 249 ถึงมาตรา 254 และเพิ่มบทบัญญัติหมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น มาตรา 249 ถึงมาตรา 254/6 ขึ้นมาใหม่ โดยนำเนื้อหาที่ดีๆจากรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 เข้ามา พร้อมเพิ่มเติมบทบัญญัติใหม่ๆที่เป็นการแก้ไขปัญหาการกระจายอำนาจที่เรื้อรังมาเกือบ 3 ทศวรรษ
ในรายละเอียด ร่างดังกล่าวเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมาย ดังนี้ 1. บัญญัติรับรองหลักความเป็นอิสระของท้องถิ่น และหลักการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น 2. บัญญัติให้ท้องถิ่น มีอำนาจหน้าที่ทั่วไปในการจัดทำบริการสาธารณะ เว้นบางเรื่องที่ทำไม่ได้ เช่น ความมั่นคงในราชอาณาจักร ระบบเงินตรา การต่างประเทศและการป้องกันประเทศ โดยสามารถร้องขอให้ส่วนกลางและภูมิภาคเข้ามาช่วย 3. บทบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรเรื่องอำนาจหน้าที่มีความชัดเจน เพื่อทลายความซ้ำซ้อนกับการทำงานของราชการส่วนกลางและภูมิภาค 4. กำหนดระยะเวลาถ่ายโอนแผนงานจากส่วนกลางมาท้องถิ่นให้มีความชัดเจน5. ผู้บริหารและสมาชิกท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้งทุกกรณี 6. เพิ่มสัดส่วนรายรับ ให้ท้องถิ่นและส่วนกลาง ได้รับร้อยละ 50:50 เท่ากัน จากเดิมอยู่ที่ 35:65 เท่านั้น 7. เพิ่มความคล่องตัวและความยืดหยุ่นให้กับท้องถิ่นในการคิดค้นรูปแบบและช่องทางในการหารายได้ รวมทั้งการจัดทำบริการสาธารณะด้วยตนเอง8. รักษาความเป็นของท้องถิ่นในการทำงานอย่างแท้จริง ให้ส่วนกลางและภูมิภาคมีอำนาจเพียงการกำกับดูแล ไม่ให้เกิดการแทรกแซงหรือบังคับบัญชา 9.สนับสนุนการมีส่วนร่วมพลเมืองในการตรวจสอบการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น อาทิ ด้วยการจัดตั้งสภาพลเมือง เป็นต้น10. ให้ คณะรัฐมนตรี วาง Road Map และจัดทำประชามติ ถามประชาชนว่า ควรยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคได้แล้วหรือไม่
นอกจากนี้หลักการที่สำคัญในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปลดล็อกท้องถิ่นฉบับนี้ คือต้องการเปลี่ยนวิธีมอง กลับมุมมองวิธีคิด โดยการเขียนให้ท้องถิ่นทำได้ทุกอย่าง ภายใต้หลักการ “General competence” ยกเว้นเพียงบางเรื่องที่ทำไม่ได้ เช่น การทหาร ความมั่นคง ระบบเงินตรา เพื่อยืนยันหลักการว่า อปท. ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนในพื้นที่ ต้องมีอำนาจเต็มในการจัดบริการสาธารณะในท้องถิ่นทุกเรื่อง และยืนยันว่า ท้องถิ่นเป็นหน่วยงานที่ต้อง ทำก่อน หน่วยงานอื่นๆ หากเกิดปัญหาเกี่ยวกับบริการสาธารณะทั้งหมดในพื้นที่ เช่น ถนนพัง ไฟฟ้าดับ ขนส่งสาธารณะไม่เพียงพอหรือไม่มีประสิทธิภาพ ประชาชนก็จะได้รู้แน่ชัดว่าความรับผิดชอบเป็นของหน่วยงานใด เขาต้องไปติดต่อใครเพื่อคลี่คลายความทุกข์ร้อนเหล่านั้น
นายธนาธรกล่าวว่า มีการเสนอการจัดสรรรายได้แก่ท้องถิ่นเสียใหม่ จากปัจจุบัน แบ่งเป็น 70% ให้ส่วนกลาง อีก 30% ให้ท้องถิ่น 7 พันกว่าแห่งไปหารกันเอง ถ้าคิดตามปีงบประมาณ 2565 คือ 2.49 ล้านล้านบาท จะมีเงินรายได้มาถึงท้องถิ่นเพียง 7 แสนล้านบาท เฉลี่ยไปในท้องถิ่น 7 พันกว่าแห่งเท่านั้นแต่ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ การจัดสรรภาษีจะถูกเปลี่ยนเป็น 50-50 ท้องถิ่นจะได้งบประมาณรวมกันกว่า 1.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5 แสนล้านบาท เมื่อหาร 7 พันกว่าแห่ง เท่ากับว่าท้องถิ่นทุกที่จะได้งบประมาณเพิ่มขึ้นอีกที่ละเฉลี่ย 63 ล้านบาทต่อปี
นายธนาธร กล่าวว่า จากประสบการณ์และจากการพูดคุยกับประชาชนหลายกลุ่ม ได้รับคำตอบว่าระบบราชการ การบริหารแบบรัฐรวมศูนย์ของไทย ที่ล่ามโซ่ตรวนประเทศไทยเอาไว้ ไม่ว่าเราจะมีของดีเท่าไหร่ แต่ขาดคนบริหารที่มองเห็นและเข้าใจของดีเหล่านั้น การแก้ปัญหาที่ล่าช้า นโยบายที่ไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชน คนรู้วิธีแก้ปัญหากลับไม่มีงบประมาณและอำนาจในการแก้ปัญหา ต้องรอคำสั่งจากส่วนกลางที่นั่งในห้องแอร์
นายธนาธร กล่าวอีกว่าพวกเราคณะก้าวหน้าและพรรคก้าวไกล เชื่อว่าหากประเทศไทยไม่จัดการเรื่องปัญหาการกระจายอำนาจ ไม่ให้อิสระกับท้องถิ่น เราจะไม่มีวันไปไกลกว่านี้ได้ การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 จึงมีเป้าหมายเพื่อขจัดอุปสรรคในการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญปัจจุบัน