วันที่ 8 มิถุนายน 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด – 19
ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 และได้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง และมีประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์ที่นายกรัฐมนตรีกำหนดตามประกาศ เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2564 นั้น เพื่อเร่งรัดให้การขับเคลื่อนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด – 19 ตามวาระแห่งชาติไปสู่การปฏิบัติ อย่างเป็นรูปธรรมมีประสิทธิภาพ และประชาชนได้รับประโยชน์โดยเร็ว เป็นไปตามมาตรการเร่งรัด การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคตามข้อ 5 ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 23) ลงวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19 โดยข้อเสนอ ของศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19 และคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกัน โรคโควิด – 19 จึงได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด – 19 ดังนี้
ข้อ 1 ให้มีการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด – 19 ที่มีคุณภาพและมีจำนวนเพียงพอ แก่ประชาชนโดยอย่างน้อยให้ครอบคลุมร้อยละ 70 ของจำนวนประชากร (ไม่น้อยกว่าจำนวนประชากร ห้าสิบล้านคน)
ข้อ 2 ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ประสานงาน ส่งเสริม และสนับสนุนผู้ผลิต วัคซีนป้องกันโรคโควิด -19 ในการดำเนินการขึ้นทะเบียนวัคซีนให้เป็นไปอย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ
ข้อ 3 ให้กรมควบคุมโรค องค์การเภสัชกรรม สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สภากาชาดไทย ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือหน่วยงานของรัฐ ที่มีหน้าที่และอำนาจในการให้บริการทางการแพทย์ หรือสาธารณสุข แก่ประชาชน ร่วมมือกันในการดำเนินการจัดหา สั่ง หรือนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคโควิด -19 อย่างเร่งด่วน เพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพอย่างรวดเร็วและทั่วถึง ภายใต้กฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง หรือตามหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานนั้น ๆ กำหนด
ข้อ 4 เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด – 19 ได้มากขึ้น สถานพยาบาลเอกชนและภาคเอกชนอาจจัดหาหรือขอรับการสนับสนุนวัคซีนป้องกันโรคโควิด – 19 จากหน่วยงานตามข้อ 3 ภายใต้กฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาให้บริการประชาชนหรือบุคลากรในความดูแลได้ตามความเหมาะสม โดยวัคซีนดังกล่าวต้องเป็นวัคซีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยยา และต้องพิจารณากำหนดราคาวัคซีนและการให้บริการ ที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสมเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชน
ข้อ 5 โดยที่ในปัจจุบันวัคซีนป้องกันโรคโควิด – 19 ที่ผลิตหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักร ยังมีจำนวนจำกัด หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด – 19 มาให้บริการ แก่ประชาชนในพื้นที่ ให้จัดหาจากหน่วยงานตามข้อ 3 และต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงหลักเกณฑ์หรือแผนการใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และต้องสอดคล้องกับแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด – 19 ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19 หรือนายกรัฐมนตรีกำหนด
การดำเนินการตามวรรคหนึ่งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ ให้เป็นไปตามแนวทาง หรืออยู่ในการกำกับดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เพื่อมิให้เกิด ความเหลื่อมล้ำในการจัดหาวัคซีนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีศักยภาพด้านงบประมาณและรายได้ที่แตกต่างกัน และเพื่อให้การกระจายวัคซีนในห้วงเวลาวิกฤติมีความเป็นธรรมมากที่สุด
ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุนและให้ความสำคัญในการอำนวยความสะดวก แก่ประชาชนในพื้นที่ในการเข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด – 19 เพื่อประโยชน์ต่อประชาชน ส่วนรวมของประเทศ
ข้อ 6 ให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทุกภาคส่วนเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูล กับระบบแพลตฟอร์มหมอพร้อมของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของประชาชน ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด -19 และเพื่อให้การบริหารจัดการข้อมูลเป็นไปอย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2564
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19