“ขอนแก่น” ได้รับคัดเลือกร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ระดับโลกของ UNESCO (GNLC) เชิดชูความพยายามทำให้การเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นจริงสำหรับทุกคนในระดับท้องถิ่น หลังยูเนสโกประกาศรายชื่อสมาชิกใหม่ในการประชุมระดับสูงแบบเสมือนจริง ‘เสริมศักยภาพผู้เรียนทุกวัย: เมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโกพลิกโฉมชีวิต’
เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ณ โรงแรมขอนแก่นโฮเต็ล นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น ร่วมรับชมการประชุมผ่านระบบ Zoom การประกาศผลการคัดเลือกสมาชิกเครือข่ายระดับโลกว่าด้วย “เมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก” (THE UNESCO GLOBAL NETWORK OF LEARNING CITIES: GNLC) โดยมี รองนายกเทศมนตรี เลขานุการนายกเทศมนตรี สมาชิกสภาเทศบาล รองปลัดเทศบาล ผู้อำนวยการสำนัก /กอง พนักงานเทศบาล ตลอดจนผู้บริหารโรงเรียนในสังกัดเทศบาล 11 โรงเรียน ตัวแทนจากบริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด พี่น้องชุมชน และสื่อมวลชน ร่วมเป็นสักขีพยาน นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)
นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น เปิดเผยว่า เทศบาลนครขอนแก่น (ทน.) ได้มีการนำเสนอต่อคณะกรรมการ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยในวันนี้ได้มีการประกาศชื่อเมืองที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ระดับโลกของ UNESCO (GNLC) ซึ่งเป็นการเชิดชูความพยายามอันโดดเด่นในการทำให้การเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นจริงได้สำหรับทุกคนในระดับท้องถิ่น ยูเนสโกประกาศรายชื่อเมืองที่เป็นสมาชิกใหม่ในการประชุมระดับสูงแบบเสมือนจริง ‘เสริมศักยภาพผู้เรียนทุกวัย: เมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโกพลิกโฉมชีวิต’ (Empowering Learners of All Ages: UNESCO Learning Cities Transform Lives) ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ณ กรุงปารีส
ผลปรากฏว่า ทน.ขอนแก่น ได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 3 ของประเทศไทย ร่วมกับกรุงเทพมหานครและเทศบาลนครยะลา และเป็น 1 ใน 64 เมืองจาก 35 ประเทศทั่วโลก ในฐานะการเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ของ UNESCO ขอนแก่นจะได้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวในระดับโลกเพื่อสนับสนุนและเร่งรัดกระบวนการให้มีการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยการส่งเสริมให้มีการหารือร่วมกันเชิงนโยบาย การเรียนรู้ระหว่างกันในหมู่สมาชิกเครือข่ายฯ การสร้างความเชื่อมโยง ความเป็นหุ้นส่วน ตลอดจนพัฒนาขีดความสามารถ และเครื่องมือเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานและติดตามความก้าวหน้าในการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้
นายธีระศักดิ์ กล่าวอีกว่า โดยการรับรองสมาชิกเมืองแห่งการเรียนรู้ของ UNESCO ในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง ทน.นครขอนแก่น กับบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) จำกัด ที่ได้ดำเนินโครงการวิจัย “ขอนแก่นสู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ของ UNESCO” โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน พบว่า ขอนแก่นมีความพร้อมที่จะเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ของ UNESCO ประกอบกับความร่วมมือในการขับเคลื่อนสร้างนิเวศเมืองแห่งการเรียนรู้จากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และชาวขอนแก่นทุกคน จนเกิดเป็นความสำเร็จในครั้งนี้
ด้าน นางออเดรย์ อาซูเลย์ ผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก กล่าวว่า เมืองต่าง ๆ ล้วนเป็นกุญแจสำคัญในการทำให้สิทธิด้านการศึกษากลายเป็นความจริงที่จับต้องได้สำหรับผู้คนทุกวัย ด้วยการเพิ่มสมาชิกใหม่ในครั้งนี้ เครือข่ายจึงประกอบด้วยเมืองสมาชิกทั้งหมด 356 เมืองจากทั่วโลก ซึ่งแบ่งปันความรู้เชิงปฏิบัติการและปูทางสำหรับโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับพลเมือง 390 ล้านคน
ทั้งนี้ เครือข่ายระดับโลกของเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก หรือ UNESCO GNLC มีวัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนและเร่งรัดให้เกิดการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างเป็นรูปธรรม โดยส่งเสริมให้เมืองต่าง ๆ พัฒนาสู่การเป็น “เมืองแห่งการเรียนรู้” ที่มีคุณลักษณะที่สำคัญคือ เป็นเมืองที่สามารถจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ในทุก ๆ ภาคส่วน เพื่อจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นเครือข่ายระหว่างประเทศที่ประกอบด้วยเมืองต่าง ๆ ที่ประสบความสำเร็จในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตในชุมชนทั้งหลายของตน เมืองแห่งการเรียนรู้ใหม่เหล่านี้ได้รับการเพิ่มเข้าไปในเครือข่ายตามคำแนะนำของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ เงื่อนไขสำคัญในการเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้คือ ความมุ่งมั่นอันแรงกล้าของนายกเทศมนตรีและฝ่ายบริหารของทางการเมืองต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตลอดจนต้องมีประวัติที่แสดงให้เห็นถึงความคิดริเริ่มด้านนโยบายและแนวปฏิบัติที่ดี