สำนักงบประมาณยันงบปี 64 ล่าช้าไม่เกิน ต.ค. ไม่กระทบเงินเดือนขรก. – เตรียมเร่งรัดการจัดซื้อจัดจ้างภายในพ.ย.
หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา ครม.มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ไปพลางก่อน ในสัดส่วนร้อยละ 25 หรือราว 8 แสนล้านบาท เพื่อให้ส่วนราชการเบิกจ่ายงบประมาณสำหรับขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ได้อย่างไม่สะดุด ทดแทนงบประมาณปี 64 ที่ยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้ ด้วยพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ประกาศใช้ไม่ทันในวันที่ 1 ตุลาคม 2563
นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อํานวยการสํานักงบประมาณ จึงมีทำหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 10 กันยายน 2563 แจ้งให้หน่วยงานราชการทั่วประเทศ ทราบว่าด้วยพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จะประกาศใช้บังคับไม่ทันในวันที่ 1 ตุลาคม 2563 อันเป็นวันเริ่มต้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยนายกรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจําปี งบประมาณ พ.ศ. 2563 ไปพลางก่อน ตามที่ผู้อํานวยการสํานักงบประมาณกําหนดแล้ว และผู้อํานวยการสํานักงบประมาณได้กําหนดวิธีปฏิบัติในการอนุมัติเงินจัดสรร การบริหารงบประมาณรายจ่าย และการหักงบประมาณรายจ่ายตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ไปพลางก่อน เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณจ่ายเงินหรือก่อหนี้ผูกพันตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขดังกล่าวได้ ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป
นายเดชาภิวัฒน์ เปิดเผยว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องปรับลดงบประมาณของส่วนราชการที่ยังไม่มีความจำเป็นและสามารถชะลอได้ เพื่อนำไปใช้เป็นงบเยียวยา บรรเทา และแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 จึงทำให้การจัดทำงบประมาณล่าช้าออกไป 3-4 สัปดาห์ ขณะนี้ขั้นตอนอยู่ระหว่างรอเข้าสภาผู้แทนราษฎรวาระ 2-3 ระหว่างวันที่ 17-18 กันยายน และวุฒิสภาระหว่างวันที่ 21-22 กันยายน เมื่อผ่านทั้ง 2 สภาจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ มีผลบังคับใช้เมื่อมีการโปรดเกล้าฯ ลงมาประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ผู้อํานวยการสํานักงบประมาณยืนยันว่าจะสามารถเบิกจ่ายได้ภายในเดือนตุลาคม 2563 ภาพรวมจะไม่กระทบต่อการจ่ายเงินเดือนข้าราชการและลูกจ้าง รวมถึงงบลงทุนในรายการที่ผูกพันหรือทำสัญญาไว้แล้ว ซึ่งสำนักงบฯจะอนุมัติงบให้ตามสัญญาดังกล่าว ส่วนที่จะต้องชะลอไว้ก่อนเป็นด้านงบลงทุนใหม่ของปีงบประมาณ 64
เมื่อคาดการณ์ว่างบประมาณปี 64 จะสามารถเบิกจ่ายได้ไม่เกินเดือนตุลาคม หลังร่างงบประมาณฯ ผ่านสภาฯในวาระ 2 และ 3 แล้ว ส่วนราชการเองต้องเตรียมความพร้อมในการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งโดยปกติจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 60 วัน ดังนั้นในเดือนพฤศจิกายนจึงน่าจะสามารถทำสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างได้ เพื่อให้โครงการต่างๆ สามารถดำเนินการได้ทันท่วงที
สำหรับงบประมาณเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและผู้พิการในเดือนกันยายน 2563 ที่ไม่สามารถจ่ายให้กับผู้มีสิทธิได้ในวันที่ 10 ตามกำหนด นายเดชาภิวัฒน์กล่าวว่า เป็นเรื่องของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ที่ต้องไปบริหารจัดการเองเนื่องจากการตั้งงบประมาณจะตั้งไว้คราวละ 5 ปี บางปีเหลือ บางปีขาด ในส่วนที่ขาด สถ.ต้องบริหารจัดการจากงบที่เหลือในปีอื่นที่ได้ให้ไว้ ยืนยันว่างบไม่ได้ขาด เพียงแต่มีปัญหาจากการเปลี่ยนระบบ จากการจ่ายผ่าน อปท. มาเป็นจ่ายตรงถึงผู้มีสิทธิผ่านระบบ E-Payment ทำให้การคำนวณจำนวนผู้มีสิทธิรับเบี้ยอาจคลาดเคลื่อนไปบ้าง ทั้งนี้ เตรียมหารือกับ อปท.เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการจ่ายเบี้ยในปี 2564 ไม่ให้เกิดความผิดพลาดขึ้นอีก