SIY จับมือ สถ. และ สสส. จัด “มหกรรม Learn เล่น เห็น Local” ร่วมกับ อปท. 47 พื้นที่ทั่วประเทศ เปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนออกแบบท้องถิ่นของตนเอง เพื่อสร้างพื้นที่ที่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน ด้าน พริษฐ์ เผย ไม่ใช่แค่รับฟัง แต่ต้องให้พื้นที่แสดงออกด้วย
เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2567 มูลนิธินวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม (SIY) ร่วมกับ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการขยายผลท้องถิ่นต้นแบบด้านการมีส่วนร่วมของสภาเด็กและเยาวชน สานพลังหนุนท้องถิ่น จัดงาน “มหกรรม Learn เล่น เห็น Local” ซึ่งพื้นที่โชว์ศักยภาพของพี่น้องท้องถิ่นกว่า 47 พื้นที่จากทั่วประเทศ เพราะเล็งเห็นว่า “เด็กและเยาวชน” คือ จุดเริ่มต้นของการพัฒนาคุณภาพชีวิต “ท้องถิ่น” โดยกลุ่มคนเหล่านี้สามารถลุกขึ้นมาออกแบบท้องถิ่นที่อยากใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้ และร่วมสร้างท้องถิ่นที่เป็นของประชาชนทุกคนจริง ๆ
การจัดงานในครั้งนี้เป็นการนำเสนอผลงานครึ่งทางของการสร้าง “ระบบสนับสนุนเด็กและเยาวชน 6+1 ร่างไอเดียนวัตกรรมทางสังคม และสถานีการเรียนรู้” ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่เข้าร่วมโครงการฯ โชว์ให้เห็นว่าการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายที่ได้บ่มเพาะกันมาเป็นอย่างไร ความฝัน ความหวัง ของคนรุ่นใหม่และคนรุ่นใหญ่ในท้องถิ่นหน้าตาเป็นแบบไหน ได้เห็นพื้นที่เรียนรู้ที่จะถูกกระจายไปทั่วทุกภูมิภาคอย่างแท้จริงด้วยความคิดสร้างสรรค์ของตนเอง
โดยมีนายสุรพล เจริญภูมิ รองอธิบดี สถ. กล่าวเปิดงาน พร้อมด้วย นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว และนายพริษฐ์ วัชรสินธุ ประธานกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน นอกจากนี้ ยังมีภาคีเครือข่ายกว่า 30 องค์กรเข้าร่วมชมผลงานของเด็กและเยาวชนพร้อมกับให้คำแนะนำเพื่อต่อยอดร่างไอเดีย ก่อนที่ทุกท้องถิ่นจะนำไปทำให้เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ของตัวเองพร้อมกับมอบประกาศนียบัตรให้กับร่างไอเดียนวัตกรรมยอดเยี่ยม
นายสุรพล เจริญภูมิ รองอธิบดี สถ. กล่าวว่า เด็กที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพได้ เด็กคนนั้นต้องได้รับการเลี้ยงดูที่ดี ได้มีโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง ไม่ว่าเขาจะอยู่ท้องถิ่นใดก็ตาม ซึ่งเป็นภารกิจของ อปท. ที่จะต้องส่งเสริมให้มีพื้นที่เรียนรู้และเติบโตอย่างปลอดภัย เพื่อรองรับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางสังคมในโลกยุคใหม่ ปัจจุบัน สถ. มีความพร้อมที่ส่งเสริมให้ อปท. ขับเคลื่อนงานสภาเด็กเยาวชนท้องถิ่น
ด้าน นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. กล่าวชวนให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและเด็กเยาวชนตระหนักถึง “4C” Soft Skills ทักษะที่เด็กยุคใหม่ที่ต้องมี คือ การสื่อสาร (communication) การทำงานร่วมกัน (collaboration) การคิดเชิงวิพากษ์ (critical Thinking) ความคิดสร้างสรรค์ (creativity) เด็กและเยาวชนจำเป็นต้องได้พัฒนาทักษะเหล่านี้ จากการเข้าร่วมกิจกรรมใด ๆ ก็ตาม และที่สำคัญเด็กเยาวชนเองจะต้องมีส่วนในการให้คะแนนกิจกรรมต่าง ๆ ของท้องถิ่น หรือหน่วยงานต่าง ๆ ว่ามีส่วนช่วยให้พวกเขาพัฒนาทักษะเหล่านี้อย่างไร และสภาเด็กและเยาวชนต้องส่งเสียงดัง ๆ บอกผู้ใหญ่ว่าพวกเขาต้องการอะไรด้วย
ส่วน นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ประธาน กมธ.พัฒนาการเมืองฯ ชี้ให้เห็นว่า กระแสการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนกำลังเติบโตในหลายประเทศ ถ้าประเทศไทยต้องการให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง จะต้องไม่ใช่แค่การรับฟังพวกเขา แต่ต้องให้เอาข้อเสนอของเด็กเยาวชนไปพิจารณาและนำไปสู่ลงมือจริงด้วย สิ่งที่จะต้องช่วยกันเฝ้ามอง คือ การที่เด็กและเยาวชนดูเสมือนว่ามีส่วนร่วม แต่กลับถูกครอบงำทางความคิดโดยผู้ใหญ่ ทำให้เด็กและเยาวชนไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง จึงอยากชวนให้สภาเด็กและเยาวชนท้องถิ่น เป็นกลไกหนึ่งที่เชื่อมโยงกับสภาท้องถิ่น นำข้อเสนอของตนเอง และสภาท้องถิ่นต้องรับฟังและรับข้อเสนอต่าง ๆ ไปดำเนินการต่อ เป็นต้น