มท.1 เป็นประธานพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ภาคีเครือข่ายการป้องกัน ต่อต้าน และปราบปรามการทุจริตการสอบแข่งขันท้องถิ่น 5 หน่วยงาน เพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ประจำปี 2567
เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2567 เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมราชสีห์ กระทรวงมหาดไทย (มท.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1) เป็นประธาน “พิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ภาคีเครือข่ายการป้องกัน ต่อต้าน และปราบปรามการทุจริตการสอบแข่งขันท้องถิ่น เพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ประจำปี 2567”
โดยมี นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย คือ นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. นายณรงวิทย์ สุวรรณสิทธิ์ ผู้แทนเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. พลตำรวจตรี ประสงค์ เฉลิมพันธ์ ผู้บังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ และนายคำรณ โกมลศุภกิจ ประธานกรรมการกลางการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น (กสถ.) ร่วมลงนาม
พร้อมด้วย นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายพรพจน์ เพ็ญพาส รองปลัดกระทรวงมหาดไทยรักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมที่ดิน นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง นายอุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะผู้บริหารระดับสูง และสื่อมวลชน ร่วมงาน
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มท. กล่าวว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จะมีการจัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่นในปี พ.ศ. 2567 นี้ ซึ่งมีตำแหน่งว่างประมาณ 6,238 อัตรา โดยคาดว่าจะมีผู้สมัครสอบมากกว่า 600,000 คน กระจายไปตามภูมิภาคของศูนย์สอบ และสนามสอบต่าง ๆ ทั่วประเทศ ได้ปรากฏข่าวว่ามีกระบวนการทุจริตการสอบแข่งขันหลายกลุ่ม
ดังนั้น เพื่อให้การสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นเป็นไปด้วยด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ จึงได้จัดทำพิธีลงนามทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือภาคีเครือข่ายการป้องกัน ต่อต้าน และปราบปรามการทุจริตการสอบแข่งขันท้องถิ่นเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการ หรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ระหว่าง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) และคณะกรรมการกลางการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น (กสถ.)
โดยมีเจตนารมณ์ในการร่วมเป็นภาคีเครือข่ายป้องกัน ต่อต้าน และปราบปรามการทุจริตทุกรูปแบบเกี่ยวกับการสอบแข่งขัน และจะร่วมกันส่งเสริม สนับสนุน เผยแพร่ และประสานงานให้เกิดความร่วมมือกันในการป้องกันการทุจริตการสอบแข่งขัน รวมทั้งรวมตัวกันในการจัดกิจกรรมต่อต้านการทุจริตการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นด้วย
เพื่อแสดงจุดยืนของ มท. จึงมอบนโยบายและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น คือ
1. มหาวิทยาลัยที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหน่วยงานในการจัดสอบแข่งขัน ต้องมีมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดและรัดกุม เพื่อป้องกันมิให้ข้อสอบและคำตอบรั่วไหลในทุกขั้นตอน หากปรากฏหลักฐานว่ามีการทุจริตที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดสอบ มหาวิทยาลัยต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย 2. ผู้สมัครสอบแข่งขัน ต้องให้ความร่วมมือ และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติในการสมัครเข้าสอบแข่งขัน หากปรากฏหลักฐานว่ามีการสมยอมให้มีการเรียกรับเงิน เพื่อแลกกับการช่วยเหลือให้เป็นผู้สอบแข่งขันได้ ผู้สมัครสอบต้องถูกปรับให้ตก และถูกตัดสิทธิ์ไม่ให้สมัครสอบแข่งขันเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น ไปตลอดชีวิต รวมทั้งต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา อีกด้วย
3. ข้าราชการ ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และท้องถิ่น ห้ามมิให้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในทางใด ๆ อันจะส่งผลให้การสอบแข่งขันดังกล่าวมีการทุจริต หรือมีการเรียกรับเงินเกิดขึ้น หากปรากฏหลักฐานว่ามีการกระทำดังกล่าวต้องถูกลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรง
4. บุคคลอื่นใด หรือกลุ่มบุคคลใด หรือสถาบันติวใด หากปรากฏหลักฐานว่ามีส่วนรู้เห็น หรือร่วมกระทำการทุจริต หรือเรียกรับผลประโยชน์เพื่อช่วยเหลือให้เป็นผู้สอบแข่งขันได้ ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญาด้วย
ด้าน นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า สำหรับพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ เกิดขึ้นจากกรณีที่ปรากฏข่าวว่ามีการทุจริตการสอบแข่งขันขึ้น มีการเรียกรับเงินจากผู้สมัครสอบในหลายจังหวัด ประชาชนถูกหลอกจำนวนมาก มีการฟ้องร้อง และเป็นคดีอยู่จำนวนมาก
จากนโยบายที่ มท.1 ต้องการให้การจัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่นในครั้งนี้ เป็นไปด้วยความโปร่งใส ไร้ทุจริต มท. โดย สถ. จึงต้องดำเนินการให้มีมาตรการเพื่อป้องกันการทุจริตในทุกช่องทาง รวมทั้งไม่ให้มีการเรียกรับเงิน เหมือนกับที่ปรากฎเป็นข่าวในอดีตที่ผ่านมา โดยการกำกับดูแลการจัดสอบแข่งขันให้เป็นไปด้วยความสุจริต ยุติธรรม และถูกต้อง ในทุกขั้นตอน
ดังนั้น เพื่อให้การสอบแข่งขันบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น เป็นไปโดยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้ จึงได้จัดให้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ฉบับนี้ขึ้น เพื่อขับเคลื่อนการสอบแข่งขันท้องถิ่นให้ปราศจากการทุจริต ร่วมกันให้คำปรึกษา เสนอแนะแนวทาง รวมถึงการติดตามและประเมินผลในการดำเนินการสอบแข่งขันท้องถิ่น