มท.1 ลงนามระเบียบ มท. ว่าด้วยทุนส่งเสริมกิจการ อบต. ให้ อบต. กู้เงินไปใช้จ่ายในการทำกิจการ – บริการสาธารณะได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนในท้องถิ่น เบิกจ่ายได้ตั้งแต่ 5 แสนบาทถึง 5 ล้านบาท ดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 7 ต่อปี มีผลบังคับใช้อีก 60 วัน หลังประกาศราชกิจจาฯ
เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ระเบียบกระทรวงมหาดไทย (มท.) ว่าด้วยเงินทุนส่งเสริมกิจการองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2566 โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงระเบียบ มท. ไม่ว่าด้วยเงินทุนส่งเสริมกิจการ อบต. ซึ่งไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้ อบต. สามารถกู้เงินไปใช้จ่ายในการจัดทำบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนในท้องถิ่นยิ่งขึ้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 และมาตรา 83 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและอบต. พ.ศ. 2537 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1) จึงออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 60 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
ข้อ 4 ในระเบียบนี้
“เงินทุน” หมายความว่า เงินทุนส่งเสริมกิจการองค์การบริหารส่วนตำบล
“เงินสะสม” หมายความว่า เงินที่เหลือจ่ายจากเงินรายรับที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับไว้ภายในวันสิ้นปีงบประมาณ โดยรวมเงินสะสมคงเหลือจากปีก่อน ๆ ด้วย
สาระสำคัญ หมวด 1 คณะกรรมการเงินทุนส่งเสริมกิจการองค์การบริหารส่วนตำบล
ข้อ 6 ให้มีคณะกรรมการเงินทุนส่งเสริมกิจการ อบต. เรียกโดยย่อว่า ก.ส.ต. ขึ้นมาชุดหนึ่งมีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน และมีกรรมการชุดหนี่งที่ได้รับแต่งตั้งโดยตำแหน่ง
ข้อ 7 ให้ ก.ส.ต. มีหน้าที่และอำนาจ ดังนี้
(1) อำนวยการทั่วไป กำหนดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อใช้ในการดำเนินกิจการ การบริหารเงินทุน และควบคุมการดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบนี้
(2) พิจารณาอนุมัติให้ อบต. กู้ยืมเงิน เพื่อดำเนินกิจการที่เป็นการลงทุนหรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ตามหน้าที่และอำนาจของ อบต.
(3) พิจารณาอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีของสำนักงานเงินทุนส่งเสริมกิจการ อบต.
สาระสำคัญ หมวด 3 การจ่ายเงินทุนและการคิดดอกเบี้ย
ข้อ 18 เงินที่จ่ายให้ อบต. ให้คิดดอกเบี้ยในอัตราตามที่ ก.ส.ต. กำหนด แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 7 ต่อปี
ข้อ 21 การจ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีและการก่อหนี้ผูกพันของสำนักงาน ก.ส.ต. กำหนดเงื่อนไขในการจ่ายเงินไว้ ดังนี้
(1) จำนวนเงินที่จ่ายครั้งหนึ่งไม่เกิน 500,000 บาท (ห้าแสนบาทถ้วน) เป็นอำนาจของเลขานุการ อ.ส.ต.
(2) จำนวนเงินที่จ่ายครั้งหนึ่งเกิน 500,000 บาท (ห้าแสนบาทถ้วน) แต่ไม่เกิน 5,000,000 บาท (ห้าล้านบาทถ้วน) เป็นอำนาจของอนุกรรมการ อ.ส.ต. ซึ่งประธาน อ.ส.ต. มอบหมาย
(3) จำนวนเงินที่จ่ายครั้งหนึ่งเกิน 5,000,000 บาท (ห้าล้านบาทถ้วน) เป็นอำนาจของประธาน อ.ส.ต.
ข้อ 22 การตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อใช้จ่ายตามข้อ 21 ให้ตั้งงบประมาณรายจ่ายได้ไม่เกินร้อยละยี่สิบของเงินรายได้ของปีที่ผ่านมาแล้ว หลังหักจ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินฝากให้แก่ อบต. ตามข้อ 19
ทั้งนี้ ระเบียบฉบับดังกล่าว ลงนามโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ณ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2566