ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 โดยมีสาระสำคัญคือ การยกเลิกแผนการบริหารราชการแผ่นดินและแผนนิติบัญญัติที่ออกโดยอำนาจของ พ.ร.ฎ.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 เนื่องจากเห็นว่ามีความซ้ำซ้อนกับ พระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 และพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2560 ที่ออกตามอำนาจของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่กำหนดให้รัฐจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ยังกำหนดให้การปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการบริการประชาชนและการติดต่อประสานงานระหว่างหน่วยงานราชการด้วยกันต้องใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง เพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิรูปประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการและการบริหารราชการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ด้านสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ได้จัดทำสรุปสาระสำคัญของ พ.ร.ฎ.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562 ดังนี้
- การจัดทำแผนปฏิบัติราชการ
- ยกเลิกแผนบริหารราชการแผ่นดินและแผนนิติบัญญัติ
- ปรับการจัดทำแผนปฏิบัติราชการของส่วนราชการให้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนอื่นที่เกี่ยวข้อง
- เปลี่ยนจากการจัดทำแผนปฏิบัติราชการระยะ 4 ปี เป็นการจัดทำแผนปฏิบัติราชการระยะ 5 ปี โดยจัดทำแผนระยะที่ 1 ในห้วงเวลา 3 ปีแรก คือ ปีงบประมาณ พ.ศ.2563 – ปีงบประมาณ พ.ศ.2565
- ปรับโครงสร้างส่วนราชการ
- ให้ส่วนราชการทบทวนภารกิจของหน่วยงานว่าภารกิจใดมีความจำเป็น หรือ สมควรยกเลิก ปรับปรุง หรือเปลี่ยนแปลงการดำเนินการ (มาตรา 7)
- ห้ามจัดตั้งส่วนราชการที่มีภารกิจหรือหน้าที่เหมือนกันส่วนราชการที่ยุบเลิก โอน หรือรวมไปแล้ว ยกเว้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐหรือเศรษฐกิจของประเทศ หรือการรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน และต้องได้รับความเห็นชอบจาก ก.พ.ร. จึงจะจัดตั้งได้ (มาตรา 8)
- การยกระดับการทำงานของภาครัฐโดยการเชื่อมโยงแพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง
- การให้บริการประชาชนและการติดต่อประสานงานระหว่างหน่วยงานราชการด้วยกันต้องกระทำโดยแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางที่สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) จัดทำขึ้น (มาตรา 6)
- สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) จัดทำแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางภายใน 90 วัน หลังจากนั้นหัวหน้าส่วนราชการจะต้องดำเนินการให้มีการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลกลางให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี (มาตรา 10) เพื่อสามารถติดต่อประสานงานระหว่างหน่วยราชการและให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ก.พ.ร. ยังจัดทำข้อมูลเหล่านี้ในรูปแบบคลิบวิดีโอสำหรับเผยแพร่เพื่อเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติราชการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย
พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562