พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ลั่นกลางสภาฯ “ผมกลับมาแล้วครับท่านประธาน” ประเดิมอภิปรายปัญหาขยะ อปท. สับงบไม่สอดคล้อง GDP เสนอกรอบการทำงาน กมธ. แก้ปัญหาขยะ 5 ข้อ
เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2567 ณ รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ เป็นประธานการประชุมพิจารณาญัตติเรื่อง ขอให้สภาฯ ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องบริหารจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ของนางสาวมัลลิกา จิระพันธ์วาณิช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ลพบุรี และนายสฤษฎ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย เป็นผู้เสนอ พร้อมญัตติทำนองเดียวกันอีก 4 ฉบับ ให้พิจารณาในคราวเดียวกัน
ในเวลา 11.50 น. ก่อนเริ่มการอภิปรายญัตติการบริหารจัดการขยะชุมชนของ อปท. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า “ผมกลับมาแล้ว อาจจะเป็นเวลานานถึง 6 เดือนที่ไม่ได้มีโอกาสเข้ามาอภิปรายปัญหาของพี่น้องประชาชนในสภาฯ แห่งนี้”
พิธา ได้ยกประสบการณ์การลงพื้นที่ 2 แห่ง ระหว่างถูกหยุดปฏิบัติหน้าที่ ประกอบการอธิบาย ได้แก่ บ่อขยะตำบลแพรกษาใหม่จังหวัดสมุทรปราการ และบ่อขยะเทศบาลนครจังหวัดภูเก็ต ที่มีความแตกต่างกัน สำหรับสมุทรปราการเป็นเมืองอุตสาหกรรม ส่วนภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยว
พร้อมเปิดภาพบ่อขยะตำบลแพรกษาใหม่ จ.สมุทรปราการ ที่มีความสูงเทียบเท่ากับตึก 5 – 10 ชั้น ปริมาณขยะ 2,830 ตัน/วัน โดยสามารถจัดการขยะได้อย่างถูกต้องตามสุขลักษณะ 300 ตัน/วัน และมีขยะที่ถูกจัดการไม่ถูกต้อง 2,530 ตัน/วัน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพชาวสมุทรปราการ ตรวจพบสารพิษสูงเกินมาตรฐานในน้ำบาดาลเพื่อการบริโภค ถัดจากบ่อขยะเป็นโรงเรียนเด็กเล็ก เสี่ยงอัคคีภัยที่เกิดจากการไม่มีระบบรวมแก๊สที่เกิดขึ้นจากการฝังกลบ เมื่อดู GDP จ.สมุทรปราการ อยู่ที่ 660,865 ล้านบาท เทียบกับงบประมาณ อปท. ในเขตสมุทรปราการ 1,654 ล้านบาท คิดเป็น 0.25% ของ GDP ของสมุทรปราการ
ขณะที่บ่อขยะเทศบาลนครภูเก็ต ซึ่งอยู่ใกล้กับทะเลอยู่ในระดับ Emergency และอาจกลายเป็นสรวงสวรรค์ที่เต็มไปด้วยขยะ โดยในภูเก็ตมีปริมาณขยะสูงสุด 871 ตัน/วัน มีความสามารถในการเผา 700 ตัน/วัน ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวอย่างชัดเจน GDP ภูเก็ตอยู่ที่ 202,555 ล้านบาท เทียบงบประมาณ อปท. ในภูเก็ต 10 แห่ง 633 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.31%
“นี่คือภาพจุลภาคที่เห็นในท้องถิ่นที่ทำให้ผมกลับมาแล้วรู้สึกสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ ว่าถ้าเป็นในระดับชาติ ถ้ามีการตั้ง กมธ.วิสามัญ เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เกิดขึ้น ควรที่จะจับประเด็นในระดับประเทศอย่างไร การจัดการขยะจะมองเป็นจุด ๆ ไม่ได้ ต้องมองเป็นโซ่มูลค่าตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทางของการบริหารจัดการขยะ ถ้าต้นทางไม่สามารถลดขยะได้ให้เลิกคิด กลางทาง ปลายทาง เพราะเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” พิธา กล่าว
หลังโควิดเป็นต้นมา เมื่อเศรษฐกิจต้องการกระตุ้น นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทำให้ขยะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จากข้อมูลพบว่ามีในไทยมีปริมาณขยะที่ได้รับจัดการเพียง 88% ซึ่งไม่รู้ว่าได้รับการจัดการแบบมาตรฐานหรือไม่ ขณะที่จำนวนหลุมขยะในประเทศไทยมี 1,941 หลุม ได้มาตรฐานเพียงแค่ 72 หลุม ส่วนเตาเผามีจำนวน 105 เตา ถูกต้องมาตรฐานเพียงแค่ 11 เตา
ทั้งนี้ พิธา ได้เสนอการวางกรอบการทำงานของ กมธ.วิสามัญฯ 5 ข้อ ครอบคลุมการจัดการขยะ ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง โดยมีรายละเอียดดังนี้
ต้นทาง
1. ลดขยะต้นทางโดยการส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จัดตั้งหน่วยงานเฉพาะที่ทำหน้าที่รับผิดชอบ
2. ออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการขยะและการหมุนเวียนทรัพยากร ทำให้ผู้ผลิตต้องรับผิดชอบกับขยะที่เกิดขึ้นจากการผลิตและการใช้ซ้ำ
กลางทาง
3. โอนอำนาจให้หน่วยงานส่วนท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการขยะ
ปลายทาง
4. เพิ่มงบประมาณสำหรับการดำเนินการบริหารจัดการขยะ หากใช้งบประมาณ 20 ล้านบาทต่อบ่อ งบประมาณการจัดการขยะกับเศรษฐกิจหมุนเวียนในปีนี้รวมกันแค่ 1,800 กว่าล้านบาท ต้องเพิ่มอีกอย่างน้อย 20 เท่า ถึงจะแก้ปัญหาบ่อขยะในประเทศไทยได้
5. ออกมาตรการด้านกองทุนฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนและสำหรับผู้รับบำบัดกำจัดขยะ เพื่อลดจำนวนขยะ ป้องกันปัญหาก่อนจะเกิด
“ถ้าเราวางแผนได้แบบนี้ จะสามารถลดจำนวนขยะ ป้องกันก่อนเกิดปัญหา บริหารจัดการตอนที่ปัญหาเกิดแล้ว และสามารถบริหารจัดการผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาการจัดการขยะที่ไม่ได้ประสิทธิภาพในประเทศไทย” พิธากล่าวในตอนท้าย