พิธานำทีมก้าวไกล หารือร่วม ชัชชาติ สางปัญหากทม. ชูประเด็น P.M2.5 – เก็บภาษีที่ดินนายทุนทำเกษตรพื้นที่สีแดง – ปัญหาจราจรและการใช้ตั่วร่วม หวังรัฐบาลใหม่ทำงานร่วมกับกทม.ไร้รอยต่อ
วันที่ 6 มิถุนายน 2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยสมาชิกผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เขตกรุงเทพมหานคร 32 คน และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ของพรรคก้าวไกล จัดการประชุมหารือความร่วมมือและร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนประเด็นการพัฒนากรุงเทพมหานคร ณ ห้องประชุมรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการ กทม.1 เสาชิงช้า
ก่อนการประชุมนายชัชชาติ ได้กล่าวว่า “ดีใจที่ได้มาหารือกัน เพราะถือเป็นพลังของคนรุ่นใหม่ และจะได้ร่วมงานกันในอนาคต ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ตนเชื่อว่ากทม. ก็เป็นจุดสำคัญของการเปลี่ยนแปลง”
ในขณะที่นายพิธา กล่าวว่า พรรคก้าวไกลจะเข้ามาทำงานอย่างไร้รอยต่อ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่ยังแก้ไขไม่ได้ และความท้าทายใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วง 2 – 3 ปี ก็จะทำให้เรื่องหนักเป็นเบาได้
สำหรับการประชุมหารือระหว่าง นายชัชชาติ และนายพิธา ในครั้งนี้เน้นเรื่องความร่วมมือในการพัฒนากรุงเทพฯ และการให้บริการประชาชน ที่ต้องประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นเพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาให้กับกทม. เช่น พ.ร.บ. กทม. 2528 การแก้วิกฤติฝุ่น PM2.5 รวมถึงการย้ายท่าเรือคลองเตย ออกจากกรุงเทพฯ เพื่อลดประมาณฝุ่น PM2.5 จากภาคการขนส่งรถบรรทุกสินค้าและลดปัญหาจราจรหนาแน่นได้อีกทาง อีกทั้งยังมีประเด็นปัญหาการจราจรที่ต้องแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ เช่น การปรับปรุงสัญญาณไฟตามแยกจราจร และประเด็นการขอให้รัฐบาลใหม่ พิจารณาการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพิ่มขึ้น ในที่ดินเปล่าเชิงพาณิชย์ ตามเฉดผังเมืองสีแดง ที่ปัจจุบันมีนายทุนไปปลูกกล้วยหรือทำการเกษตรเพื่อเลี่ยงจ่ายภาษี อีกทั้งยังร่วมพุดคุยถึงประเด็นระบบการใช้ตั๋วร่วมที่ยังไม่สำเร็จ ครั้งนี้ กรุงเทพฯ ก็ขอให้เดินหน้าระบบตั๋วร่วมสำหรับรถสาธารณะในกรุงเทพฯ และที่เชื่อมต่อปริมณฑล รวมถึงการลดราคาค่าโดยสารระบบขนส่งสาธารณะ ที่ขณะนี้สังกัดกระทรวงคมนาคมและเอกชนเป็นหลัก
หลังจากการประชุมเสร็จ นายพิธา ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ขอบคุณท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติ ที่โฆษณาให้ก้าวไกล จะก้าวให้ไกล ต้องก้าวด้วยกัน เป็นสิ่งที่ก้าวไกลคิดมาตลอด การทำงานอย่างไร้ร้อยต่อ ปัญหาต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ ที่คาราคาซังมานาน ปัญหาใหม่ที่เป็นความท้าทายในช่วง 2- 3 ปีทีผ่านมา ถ้าสามารถแก้ไขได้ ตั้งแต่ระดับรัฐบาล นายกฯ สภาผู้แทนราษฎร ผู้ว่าฯ กทม. สภาฯ กทม. ผมคิดว่าการแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดทางด้านงบประมาณ ด้านกฎหมาย แม้แต่การประสานงานเล็กๆ จะสามารถทำให้งาน กทม. ทำงานได้คล่องตัวมากขึ้น
“วันนี้การประชุมรับข้อเสนอจากผู้ว่าฯ ทั้งหมด 21 ข้อ ในการผ่านกฎหมาย ให้ท่านผู้ว่าทำงานได้ ยกตัวอย่างการแก้ไขปัญหา PM2.5 ใน กทม. ส่วนใหญ่มาจากการเดินทางของรถ ถ้าต่ำกว่า 4 ล้อ กทม. มีอำนาจกำหนด แต่ถ้ามากกว่า 4 ล้อ เป็นอำนาจของกระทรวงอื่น เป็นต้น ว่าการทำงานแบบไร้รอยต่อ (Seamless Bangkok) จะสามารถแก้ปัญหาใน กทม.ได้ขนาดไหน
นายพิธากล่าวต่อว่า ประเด็นที่ 2 กฎหมาย 45 ฉบับที่ก้าวไกลต้องการนำเสนอ มีส่วนได้ส่วนเสียอยู่ที่กรุงเทพฯ เหมือนกัน คือการทำ พ.ร.บ.กรุงเทพมหานคร ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯเขต ซึ่งก็ได้นำเสนอให้ท่านผู้ว่าได้รับทราบไว้
ประเด็นที่ 3 การตั้งคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านในการทำงานระหว่างกรุงเทพมหานครและพรรคก้าวไกล หรือที่เรียกว่า Bangkok transition team ที่ก้าวไกลได้นำเสนอคุณพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรค เป็นประธานทางฝั่งพรรคก้าวไกล ทุกท่านที่ยืนอยู่ที่นี่จะเป็นส่วนประกอบของคณะกรรมการการฝั่งพรรคก้าวไกล ในส่วน กทม.ท่านผู้ว่าฯ ก็กรุณาให้ท่านต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าฯ เป็นประธาน ทำงานร่วมกันอย่างไร้รอยต่อเป็นรูปธรรม
“การประชุมในวันนี้ ไม่ใช่การประชุมครั้งสุดท้าย แต่คงจะกำหนดประเด็นพิจารณา และสามารถประชุมครั้งต่อไปได้ อย่างมีเนื้อหาและรายละเอียด เพื่อประโยชน์และการเปลี่ยนแปลงที่มีประสิทธิภาพของพี่น้องชาว กรุงเทพฯ ทุกคน” นายพิธากล่าว