พอช. ร่วมมือกับหน่วยงานภาคี ลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก องค์กรชุมชน สพบ. มูลนิธิยุวพัฒน์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ผ่านการพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก เริ่ม 60 แห่งทั่วประเทศไทย ตามแนวทางการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ของเด็ก หรือ ‘Active Learning’ พัฒนาเด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพ เป็นผู้ใหญ่ที่พัฒนาชุมชนได้ในอนาคต
เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2566 ณ ห้องประชุมโรงพยาบาลท่าวุ้ง อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี มีการลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่าง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก, เครือข่ายองค์กรชุมชน, สถาบันพัฒนาระบบบริการสุขภาพองค์รวม (สพบ.), มูลนิธิยุวพัฒน์ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) เพื่อเข้าร่วมโครงการ การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนผ่านการพัฒนาคน โดยใช้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเป็นฐาน การลงนามในวันนี้มีผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, นายกเทศมนตรี, นายกองค์การบริหารส่วนตำบล, ผู้แทนศูนย์เด็กเล็กจำนวน 60 แห่งจากทั่วประเทศ รวมถึงผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงาน ประมาณ 150 คน
Active Learning หรือ แนวทางการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ของเด็ก
การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ คือ ทุกฝ่ายเห็นถึงความสำคัญของการเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กก่อนปฐมวัยอย่างบูรณาการ โดยเด็กเล็กเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ ด้วยการส่งเสริมพัฒนาการเด็กตามแนวทางการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ของเด็ก หรือ Active Learning ซึ่งจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็กในชุมชนได้อย่างชัดเจน และจะนำไปสู่การเสริมสร้างศักยภาพชุมชนท้องถิ่นและความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนในอนาคต
นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า บุตรหลานคือหัวใจของครอบครัว และเป็นความหวังของประเทศ เราให้ความสำคัญในเรื่องของการพัฒนาคน และการพัฒนาเด็กให้เป็นคนดี คนเก่ง และมีคุณภาพ ซึ่งถูกระบุไว้ในแผนการพัฒนายุทธศาสตร์ระดับชาติ เพื่อให้เด็กเติบโตอย่างมีจิตใจที่ดี มีจิตสาธารณะ เป็นกำลังสำคัญของสังคม โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. มุ่งหวังให้ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งทั้งแผ่นดิน ผู้นำองค์กรชุมชนมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยนำพาการพัฒนาประเทศ
การพัฒนาเด็กเล็กในครั้งนี้เป็นข้อต่อของการเชื่อมระหว่างครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่น ผ่านการพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก ที่ได้รับความร่วมมือจาก มูลนิธิยุวพัฒน์ ICAP สพบ. เป็นการ ‘สร้างผู้นำตั้งแต่ฟันน้ำนม’ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญของการพัฒนาในปี 2566 นี้ โดย พอช. สนับสนุนการขับเคลื่อนงานภายใต้โครงการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนผ่านการพัฒนาคน โดยใช้การพัฒนาศูนย์เด็กเล็กเป็นฐาน จำนวน 60 ศูนย์ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อให้เกิดต้นแบบและจะขยายผลการพัฒนาต่อไปให้ครอบคลุมมากที่สุด ผอ.พอช. กล่าว
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า ตนมีความสนใจเรื่องการพัฒนาเด็ก โดยเมื่อ 20 กว่าปีก่อน เคยเขียนบทความชิ้นหนึ่ง มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเตรียมคนไทยเพื่อไปสู่ศตวรรษที่ 21 อย่างไร เพื่อเป็นการเตรียมคนสู่อนาคต และได้พบกับคุณหมอท่านหนึ่งที่โรงพยาบาลรามาธิบดีที่ทำวิจัยเกี่ยวกับเด็กปฐมวัย ซึ่งค้นพบว่า เด็กไทยที่เกิดมามี IQ ไม่แตกต่างจากเด็กต่างประเทศ แต่เมื่อเติบโตขึ้นมาในช่วง 6 ปี เด็กไทยมี IQ เฉลี่ยอยู่ที่ 80-90 ในขณะที่ทั่วโลกอยู่ในระดับ 100-110 และเมื่อเติบโตขึ้นในช่วงวัย 12 ปี เด็กไทยมี IQ ไม่แตกต่างจากเดิม ดังนั้น การเสริมสร้างพัฒนาการในช่วงวัย 0-6 ปีจึงเป็นช่วงวัยที่สำคัญ ปัจจุบัน IQ ของเด็กไทยยังอยู่ในระดับเท่าเดิม เนื่องจากเด็กไทยจำนวนมากยังขาดการดูแลและการเรียนรู้ที่เหมาะสม รวมถึงโภชนาการตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 6 ขวบ รวมทั้งข้อจำกัดและการเข้าถึงโอกาสของประชาชน ส่งผลให้พัฒนาการของเด็กไทยเข้าถึงระบบการศึกษาไม่ดีเท่าที่ควร และเมื่อตนได้เข้ารับตำแหน่งประธานคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ จึงได้ทำเรื่องการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กขึ้นมา ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการปูพื้นฐานสู่ระบบการศึกษาถัดไป
โดย พอช. ร่วมกับโครงการ ICAP มูลนิธิยุวพัฒน์ และภาคเอกชน จะช่วยดูแลเด็กให้มีพัฒนาการที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการลงพื้นที่ดูกระบวนการของศูนย์เด็กเล็ก การประเมินผลในแต่ละวัน ส่งผลให้เด็กกล้าแสดงออก กล้าคิด กล้าถาม เห็นถึงคุณภาพของเด็กที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จนนำไปสู่การกระจายผลไปสู่พื้นที่ต่าง ๆ ในปี 2566 กว่า 60 ศูนย์ เพื่อสร้างต้นแบบในการดำเนินงาน สร้างเด็กทุกช่วงวัย ดร.กอบศักดิ์ กล่าว
นพ.สันติ ลาภเบญจกุล (ผอ.รพ.ท่าวุ้ง) ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาระบบบริการสุขภาพองค์รวม (สพบ.) ในฐานะประธานคณะทำงานพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก กล่าวว่า ตนและทีมงานมีความตั้งใจที่จะให้เด็กทุกคนที่อยู่ในศูนย์ที่ผ่านการคัดเลือกเป็นเด็กที่มีความสุข โดยได้วางแผนการพัฒนาในระดับพื้นที่ จำนวน 60 ศูนย์ ซึ่งจะมีทีมวิทยากรกระบวนการลงไปทำงานร่วมกับคุณครู บุคลากรภายในศูนย์ ส่วนเป้าหมายของการพัฒนาในระดับพื้นที่ คือ 1) การปรับและจัดสภาพแวดล้อมของศูนย์เด็กเล็กให้เหมาะสมกับเด็ก 2) การปรับหลักสูตร/กิจกรรมการเรียนการสอน ทั้งนี้ ต้องอาศัยการเปิดใจในการเรียนรู้และความร่วมมือจากคุณครูและบุคลากรของศูนย์เด็กเล็ก รวมถึงกำลังใจจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการต่อยอดการทำงานและสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาศูนย์เด็กเล็กในอนาคตร่วมกัน
ICAP โครงการพัฒนาศักยภาพเด็กปฐมวัย
โครงการ ICAP เป็นโครงการพัฒนาศักยภาพเด็กปฐมวัย ดำเนินการโดยมูลนิธิยุวพัฒน์ เป็นรูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ตามแนวทาง High Scope ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายคือ เด็กปฐมวัยช่วงอายุ 2-6 ปี ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียน เริ่มดำเนินการที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลบางคู้ ในปี 2564 หลังจากนั้นได้ขยายไปยังศูนย์เด็กเล็กหลายแห่งในจังหวัดลพบุรีและจังหวัดอื่น ๆ ซึ่งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งนี้ถือเป็นต้นแบบในการจัดการเรียนการสอนแบบ High Scope ได้รับการสนับสนุนจาก อบต.บางคู้ และโครงการ ICAP (Integrated Child-Centered Active Learning Project) ปัจจุบันมีเด็กจำนวน 75 คน แบ่งออกเป็น 3 ห้องเรียนตามวัย มีครู 7 คน
กระบวนการพัฒนาศักยภาพเด็กปฐมวัยของ ICAP ประกอบด้วย กิจกรรมหลักของกระทรวงศึกษาธิการ และผสมผสานสาระสำคัญ ดังนี้ ยึดหลักตามแนวคิด High Scope โดยมีวงล้อการเรียนรู้ 5 ส่วน คือ
- การเรียนรู้แบบลงมือกระทำเพื่อให้เด็กมีประสบการณ์สำคัญ, มีความคิดริเริ่ม, มีพัฒนาการสมวัย, มีทักษะสมอง EF, มีทักษะศตวรรษที่ 21, มีความมั่นคง มั่นใจ และเชื่อมั่นในศักยภาพของตน
- ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ใหญ่-เด็ก จิตวิทยาและวินัยเชิงบวก ส่งเสริมการแก้ปัญหาด้วยตนเองผ่านกลยุทธ์ปฏิสัมพันธ์
- การจัดสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ สื่อ พื้นที่ การจัดเก็บ
- กิจวัตรประจำวัน เพื่อเด็กสามารถกำกับตนเอง วางแผน ลงมือทำ ทบทวนตนเอง ผ่านกิจกรรมกลุ่มใหญ่/กลุ่มย่อย ให้โอกาสครูและเด็กเรียนรู้ร่วมกัน
- การประเมินพัฒนาการเด็ก, แผนการจัดประสบการณ์ และคณะทำงาน ผ่านการบันทึกประจำวัน
ปลูกฝังพฤติกรรมสุขอนามัยพื้นฐานเพื่อการมีสุขภาพกายและจิตใจที่ดี ให้ความสำคัญกับการประสานความร่วมมือระหว่าง ครู-หมอ (เจ้าหน้าที่สาธารณสุข), พ่อ-แม่ (ผู้ปกครอง) เพื่อการพัฒนาเด็กร่วมกัน สร้างระบบ “เพื่อนคู่คิด มิตรคู่ครู” ร่วมปรึกษาในประเด็นต่าง ๆ เช่น การบริหารจัดการชั้นเรียน การจัดกระบวนการเรียนรู้ และการประเมินอย่างต่อเนื่อง
ทั่วโลกนิยมจัดการเรียนรู้แบบ High Scope หัวใจหลักของ High Scope มีพื้นฐานแนวคิดมาจาก ‘ทฤษฎีของเพียเจต์’ (นักจิตวิทยาชาวสวิตเซอร์แลนด์ ผู้เชี่ยวชาญทฤษฎีพัฒนาการทางด้านสติปัญญา) ที่เน้นการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติ ซึ่งเด็กสามารถสร้างความรู้ได้เองโดยใช้กระบวนการสร้างสรรค์การเรียนรู้ ผ่านการกระทำของตน และการประเมินผลงานอย่างมีแบบแผน
ในปี 2562 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ได้นำร่องสนับสนุนการจัดการเรียนรู้แบบ High Scope ในระดับชั้นอนุบาลหรือเด็กปฐมวัยในโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด จำนวน 82 แห่งทั่วประเทศ การจัดการเรียนรู้แบบ High Scope เป็นการจัดการเรียนรู้ที่เน้นการลงมือทำผ่านมุมกิจกรรมที่หลากหลาย โดยใช้สื่อและการจัดกิจกรรมที่เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กเป็นตัวช่วย ปล่อยให้เด็กเป็นผู้ริเริ่มการเล่นหรือกิจกรรมต่าง ๆ อย่างอิสระด้วยตัวเอง
โดย ดร.เดวิด ไวคาร์ท ประธานมูลนิธิวิจัยการศึกษา High Scope ได้ร่วมทำงานกับคณะวิจัย เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ High Scope โดยใช้พื้นฐานจากโครงการเพอรี่ พรี สคูล ที่มีมาตั้งแต่ปี 2505 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสให้มีการศึกษาที่เหมาะสมและประสบความสำเร็จในชีวิต
ในการศึกษาวิจัย มูลนิธิได้ศึกษาเปรียบเทียบเด็ก 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. กลุ่มที่ได้รับการสอนจากครูโดยตรง 2. กลุ่มเนิร์สเซอรีแบบดั้งเดิม และ 3. กลุ่มที่ได้รับประสบการณ์โปรแกรม High Scope ซึ่งจากการศึกษาติดตามเด็กเหล่านี้ตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงอายุ 29 ปี พบว่า “กลุ่มที่เรียนด้วยโปรแกรม High Scope นั้นมีปัญหาพฤติกรรมทางสังคมและอารมณ์ เช่น การถูกจับข้อหาลักขโมย ทำร้ายผู้อื่น บกพร่องทางอารมณ์ และล้มเหลวในชีวิต น้อยกว่าอีก 2 กลุ่มขั้นต้น จึงอนุมานได้ว่า โปรแกรมนี้มีผลดีต่อการเรียนรู้ของเด็กและการเติบโตในอนาคต”
6 องค์ประกอบที่เป็นจุดเด่นและทำให้ไฮสโคปแตกต่างจากการจัดการเรียนรู้แบบอื่น ๆ และทำให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพ
- เปิดโอกาสให้เด็กเป็นผู้ริเริ่มในการเลือกและตัดสินใจทำกิจกรรมและใช้เครื่องมือต่าง ๆ ตามความสนใจของตัวเอง จะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้มากกว่าได้รับการบอกต่อความรู้จากผู้ใหญ่
- จัดเตรียมสื่อและวัสดุอุปกรณ์ในห้องเรียนให้มีความหลากหลายและเหมาะสมกับอายุของเด็ก เพื่อให้เด็กมีโอกาสเลือกวัสดุอุปกรณ์อย่างอิสระ และจัดเก็บอย่างเหมาะสม เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งานของเด็ก ซึ่งองค์ประกอบนี้จะช่วยให้เด็กรู้จักการเชื่อมโยงการกระทำต่าง ๆ การเรียนรู้ในเรื่องของความสัมพันธ์ และมีโอกาสในการแก้ปัญหามากขึ้น
- ต้องมีพื้นที่เพียงพอต่อการทำกิจกรรมของเด็ก ทั้งการทำกิจกรรมคนเดียวและการทำกิจกรรมเป็นกลุ่ม รวมถึงมีการจัดมุมประสบการณ์ต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านการเล่นผ่านบทบาทสมมุติในมุมประสบการณ์ต่าง ๆ และควรจัดสรรเวลาในการดำเนินกิจกรรมในแต่ละวันให้เพียงพอ ไม่มากหรือน้อยเกินไป ซึ่งจะช่วยให้เด็กรู้จักการรักษาเวลา
- เน้นให้เด็กใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ในการเรียนรู้ เพื่อให้เด็กคุ้นเคยกับวัตถุและนำไปสู่การเรียนรู้เรื่องความสัมพันธ์และความเกี่ยวข้องของวัตถุนั้นได้ด้วยตัวเอง
- ภาษาจากเด็ก เป็นสิ่งที่เด็กสะท้อนประสบการณ์และความเข้าใจของเด็กออกมาเป็นคำพูด ซึ่งเด็กมักจะเล่าว่าตนเองกําลังทำอะไร หรือทำอะไรไปแล้วในแต่ละวัน เมื่อเด็กมีอิสระในการใช้ภาษาเพื่อสื่อความคิด เด็กจะรู้จักรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น และมีความเชื่อมั่นในตนเองมากขึ้น
- ครูคือผู้สนับสนุนและชี้แนะ ซึ่งครูในรูปแบบของการจัดการเรียนรู้แบบไฮสโคปนั้น จะต้องเป็นบุคคลที่คอยรับฟังและส่งเสริมให้เด็กคิดและทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง และเป็นผู้สร้างสรรค์ห้องเรียนเพื่อให้เด็กได้พบกับประสบการณ์สำคัญมากมายในชีวิตประจำวันอย่างเป็นธรรมชาติ