วันที่ 26 พฤษภาคม 2562 เมื่อเวลา 09.09 น. พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ ถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบ ที่โรงพยาบาลพระมุงกุฎเกล้า หลังจากมีอาการป่วยด้วยระบบหัวใจล้มเหลว สิริอายุรวม 98 ปี
พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เกิดเมื่อ 26 สิงหาคม 2463 ต.บ่อยาง อ.เมือง จ.สงขลา สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าเมื่อปี 2484 โรงเรียนทหารม้า และอีกหลายสถาบันรวมทั้งวิทยาลัยการทัพบก และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรรุ่นที่ 9 หลังจบการศึกษาได้เข้ารับราชการทหาร เข้าร่วมในสงครามอินโดจีน และสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายหลังจึงเข้าสู่การเมืองในที่สุด
ตำแหน่งทางการเมืองสูงสุดคือ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 16 ของประเทศไทย และดำรงตำแหน่งนี้ถึง 3 สมัย สมัยที่ 1 ตั้งแต่ 3 มีนาคม 2523 – 29 เมษายน 2526 สิ้นสุดลงภายหลังการยุบสภา ในวันที่ 19 มีนาคม 2526 สมัยที่ 2 ตั้งแต่ 30 เมษายน 2526 – 4 สิงหาคม 2529 สิ้นสุดลงภายหลังการยุบสภา ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2529 และสมัยที่ 3 วันที่ 5 สิงหาคม 2529 – 3 สิงหาคม 2531 สิ้นสุดลงภายหลังการยุบสภา ในวันที่ 29 เมษายน 2531
หลังพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พลเอกเปรม เป็นองคมนตรี ในวันที่ 23 สิงหาคม 2531 จากนั้นในวันที่ 29 สิงหาคม 2531 ได้รับโปรดเกล้าฯ ยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษ และในวันที่ 4 กันยายน 2541 มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นประธานองคมนตรี
พลเอกเปรมเป็นบุคคลที่มีความสำคัญต่อบทบาทการเมืองในประเทศไทยมากที่สุดคนหนึ่ง ในช่วงที่วิกฤติการเมือง 6 ตุลาคม 2519 โดยเป็นคนผลักดันนโยบาย “การเมืองนำทหาร” นำไปสู่การออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับผู้แปรพักตร์ในยุคที่มีคอมมิวนิสต์ ทำให้นักศึกษาที่หลบหนีเข้าป่า ได้ออกมาในที่สุด
คนส่วนใหญ่จะรู้จักพลเอกเปรม ในนาม “ป๋าเปรม” ซึ่งมีที่มาจาก ในช่วงที่ พลเอกเปรมดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้าเมื่อปี 2511 มักจะเรียกแทนตัวเองต่อผู้ที่อาวุโสน้อยกว่าว่า “ป๋า” และเรียกผู้ที่อาวุโสน้อยกว่าว่า “ลูก” จนเป็นที่มาของคำว่าป๋า หรือ ป๋าเปรม ขณะที่พลเอกเปรมมีบุคคลิกส่วนตัวเป็นคนพูดน้อย ในช่วงหนึ่งจึงได้รับฉายาว่า “เตมีย์ใบ้”