close

หน้าแรก

menu
search

พร้อมใช้งาน “โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ” เทศบาลนครอุดรธานี

schedule
share

แชร์

  เทศบาลนครอุดรธานี ได้รับส่งมอบงาน “โรงไฟฟ้าพลังงานขยะอุดรธานี” ที่ทำสัญญาก่อสร้างและบริหารจัดการระบบกำจัดขยะมูลฝอยชุมชน พร้อมระบบบำบัดน้ำเสียกับบริษัทเอกชน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ภายใต้สัญญา 25 ปี ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงทดสอบการใช้งาน และจะเปิดใช้งานจริงวันที่ 1 ตุลาคม 2562 หรือวันแรกของปีงบประมาณ 2563

  นายอิทธิพนธ์ ตรีวัฒนสุวรรณ นายกเทศมนตรีนครอุดรธานี เปิดเผยข้อมูลกับนิตยสารผู้นำท้องถิ่น ออนไลน์ ว่า โรงไฟฟ้าพลังงานขยะอุดรธานีสามารถรองรับขยะมูลฝอยได้สูงสุด 600 ตันต่อวัน แบ่งเป็น 2 ชุด สามารถกำจัดขยะได้ชุดละ 300 ตันต่อวัน โดยหนึ่งในสองชุดนี้ ถูกออกแบบให้รองรับได้ทั้งขยะสดและขยะเก่าจากหลุมฝังกลบ ข้อดีของการออกแบบระบบคัดแยก 2 ชุดนี้คือ ช่วยให้ระบบมีความมั่นคง สามารถเดินเครื่องได้ตลอดปี แม้ว่าจะหยุดเครื่องชุดใดชุดหนึ่งเพื่อซ่อมบำรุง อีกเครื่องหนึ่งก็ยังสามารถรองรับขยะปริมาณ 300 ตันต่อวัน ได้ตามสัญญาที่ทำไว้กับเทศบาลฯ

  ทั้งนี้ ยังไม่สามารถรองรับปริมาณขยะมูลฝอยของ จ.อุดรธานี ได้ทั้งหมด ตามข้อมูลการรวมกลุ่มพื้นที่ในการจัดการขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดอุดรธานี พบว่ามีปริมาณขยะมูลฝอยรวมประมาณ 1,112 ตันต่อวัน

  ด้านเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้ในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนให้เปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้ามี 3 ส่วน ประกอบด้วย 1. เทคโนโลยีการคัดแยกขยะแบบ Mechanical Biological Treatment หรือ MBT สามารถคัดแยกขยะได้สูงสุด 600 ตันต่อวัน รองรับทั้งขยะเก่าที่ถูกฝังกลบและขยะใหม่ โดยมีอุปกรณ์หลักคือ เครื่องสับ ใช้สำหรับลดขนาดขยะและฉีกถุงขยะ ตะแกรงร่อนแบบหมุน สำหรับแยกขยะสดขนาดเล็กกว่า 80 มล. จำพวกเศษอาหารและอินทรีย์สาร เพื่อส่งต่อไปยังระบบหมักแบบใช้อากาศต่อไป ตะแกรงร่อนแบบดิสก์ สำหรับใช้แยกขยะเก่าจากหลุมฝังกลบที่มีขนาดใหญ่กว่า 30 มล. เครื่องคัดแยกโลหะที่มีส่วนประกอบของแม่เหล็ก ใช้ในการคัดแยกโลหะที่มีส่วนประกอบเป็นเหล็กทั้งในขยะใหม่ และขยะเก่าในหลุมฝังกลบ เครื่องคัดแยกด้วยลม สำหรับคัดแยกวัสดุที่มีน้ำหนักต่างกัน วัสดุที่มีน้ำหนักเบา เช่น กระดาษ พลาสติก จะถูกคัดออกมาในขั้นตอนนี้ ด้านวัสดุที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ เช่น กระป๋อง ขวดแก้ว ขวดพลาสติก กล่องกระดาษ หรือวัสดุอันตราย จะถูกคัดแยกโดยแรงงานคน

  ส่วนที่ 2. เทคโนโลยีการแปรสภาพเชื้อเพลิงที่ได้จากการคัดแยกแบบ MBT ใช้เทคโนโลยีไพโรไลซีส และเทคโนโลยีแก๊สซิฟิเกชัน ผลิตน้ำมันและแก๊สจากขยะพลาสติก และขยะชีวมวล เพื่อนำไปเป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบเครื่องยนต์ดีเซลและแก๊ส ส่วนที่ 3 เทคโนโลยีผลิตกระแสไฟฟ้าโดยเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบเครื่องยนต์ดีเซลและแก๊ส สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้วันละ 9,600 กิโลวัตต์

  “ระบบของโรงไฟฟ้าพลังงานขยะอุดรธานี สามารถรองรับขยะที่ไม่มีการคัดแยกจากต้นทางได้ ด้วยระบบ MBT ซึ่งจะแยกองค์ประกอบของขยะมูลฝอยได้อย่างครบถ้วนทั้งส่วนของอินทรีวัตถุ วัสดุรีไซเคิล และพลาสติก ส่วนเศษที่ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ จะถูกฝังกลบ ซึ่งจะมีปริมาณไม่เกินร้อยละ 20 ของปริมาณขยะมูลฝอยทั้งหมดที่เข้าสู่ระบบในแต่ละวัน” นายอิทธิพนธ์ กล่าว

  นายกเทศมนตรีนครอุดรธานี กล่าวถึงการจัดการด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนว่า เครื่องมือและอุปกรณ์ในการคัดแยกขยะ และการผลิตกระแสไฟฟ้าทั้งหมดจะอยู่ภายใต้อาคารที่มีระบบระบายอากาศแบบชีวภาพ เพื่อลดปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นรบกวนชุมชน ด้านน้ำเสียที่เกิดจากขบวนการคัดแยกจะถูกส่งต่อไปยังระบบบำบัดน้ำเสียขนาด 50 ตันต่อวัน ซึ่งจะไม่มีการระบายออกพื้นที่ภายนอกแต่อย่างใด

  ในด้านของการลงทุนและความคุ้มค่า นายกเทศมนตรีนครอุดรธานี กล่าวว่า สำหรับการลงทุนโครงการนี้ เทศบาลนครอุดรธานีได้ดำเนินโครงการในรูปแบบของการให้สิทธิเอกชนในการลงทุนก่อสร้างและบริหารจัดการทั้งหมด โดยเทศบาลฯ จะจ่ายในรูปแบบของค่าจ้างเอกชนในการกำจัดขยะมูลฝอย ด้านประโยชน์ทางตรง เทศบาลฯ จะได้รับผลตอบแทนจากการดำเนินโครงการร้อยละ 2.55 ของรายได้ทั้งหมด รวมทั้งช่วยลดงบประมาณภาครัฐด้านค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการกำจัดขยะมูลฝอย ด้านประโยชน์ทางอ้อม เทศบาลนครอุดรธานี และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้าร่วมโครงการ จะได้ลดงบประมาณในการขยายพื้นที่บ่อฝังกลบ ในระยะยาวจะช่วยยกระดับสภาพแวดล้อมของจังหวัดอุดรธานี ให้มีความสะอาด ประชาชนมีสุขภาพอนามัยที่ดี และมุ่งสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ พัฒนาให้เป็นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป

  “หลังจากที่ได้ทดสอบระบบไประยะหนึ่ง พบปัญหาว่ามีความชื้นขององค์ประกอบในขยะสูง ส่งผลให้เชื้อเพลิงที่ได้มีความชื้นค่อนข้างสูง และในกระบวนการคัดแยกขยะ จะมีขยะชิ้นใหญ่ เช่น โถชักโครก เศษอิฐ เศษวัสดุก่อนสร้าง วัสดุเหล่านี้มีผลกระทบต่อระบบ เพราะทำให้เครื่องจักรติดขัดในระหว่างการเดินเครื่อง”  นายกเทศมนตรีนครอุดรธานี กล่าว

  ปัจจุบันสถานการณ์ขยะของเทศบาลนครอุดรธานี มีขยะมูลฝอยที่ต้องกำจัดเฉลี่ย 162.46 ตันต่อวัน ในขยะสดแต่ละวันประกอบด้วย เศษอาหารร้อยละ 53.74 พลาสติกร้อยละ 23.40 กระดาษร้อยละ 11.52 ขวด,แก้วร้อยละ 6.91 โลหะร้อยละ 1.11 และอื่นๆ ร้อยละ 3.32 นอกจากนี้ยังต้องรองรับขยะจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ใกล้เคียงอีก 40 แห่ง ปริมาณ 149.26 ตันต่อวัน ซึ่งเมื่อนำขยะเข้าสู่โครงการฯ จะเหลือเศษทิ้งจากการคัดแยกไม่เกินร้อยละ 20 ของปริมาณขยะมูลฝอยทั้งหมด

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

แปดริ้ว เร่งแก้วิกฤติ 8 ตำบล หลังน้ำเค็มทะลักไร้ประปาชุมชน

แปดริ้ว เร่งแก้วิกฤติ 8 ตำบล หลังน้ำเค็มทะลักไร้ประปาชุมชน

อบจ.ฉะเชิงเทรา หารือแก้ปัญหามวลน้ำเค็มที่ไหลทะลักเข้าสู…

schedule
ทม.ลำพูน ร่วมงาน “สงกรานต์ชนชาติไตสิบสองปันนา”

ทม.ลำพูน ร่วมงาน “สงกรานต์ชนชาติไตสิบสองปันนา”

เทศบาลเมืองลำพูน ร่วมพิธีเปิดเทศกาลปีใหม่และเทศกาลสาดน้…

schedule
เมืองพัทยา จับมือเอกชน MOU “ไม่ทอดซ้ำ” ท่องเที่ยวปลอดภัย ใส่ใจสุขภาพ

เมืองพัทยา จับมือเอกชน MOU “ไม่ทอดซ้ำ” ท่องเที่ยวปลอดภัย ใส่ใจสุขภาพ

เมืองพัทยาร่วมกับเอกชน ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “ไ…

schedule
อบจ.หนองคาย หนุน อปท. บริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ระดับท้องถิ่น

อบจ.หนองคาย หนุน อปท. บริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ระดับท้องถิ่น

อบจ.หนองคาย เปิดประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินใน อปท. ระด…

schedule

นิตยสารผู้นำท้องถิ่นออนไลน์ รวมข่าวสารอัพเดทของคนท้องถิ่น

ติดต่อเรา

อีเมล : [email protected]