close

หน้าแรก

menu
search

พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทยคนที่ 33

schedule
share

แชร์

          “พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ” ขึ้นแท่นนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ในโควตาตัวแทนภาคใต้ แทนนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต ที่ไม่ได้รับการเลือกตั้งให้กลับเข้ามาเป็นนายกเทศมนตรีนครภูเก็ตอีกครั้ง

 

          สำหรับ นางสาวสมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต เข้ารับตำแหน่งนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทยคนที่ 32 อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 63 ซึ่งจะอยู่ในวาระ 2 ปี ระหว่าง พ.ศ.2563-2565 แต่ทว่าหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรี เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 64 ปรากฏว่า นางสาวสมใจ ไม่ได้รับเลือกให้เป็นนายกเทศมนตรีนครภูเก็ตต่ออีกสมัย ตำแหน่งนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทยจึงว่างลง

 

          การคัดเลือกนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ตามข้อบังคับของสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2556 กำหนดให้คัดเลือกนายกสมาคมฯ จากประธานคณะกรรมการสันนิบาตเทศบาลภาค โดยให้มีการดำรงตำแหน่งหมุนเวียนตามลำดับภาค เริ่มต้นจากภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคเหนือ และภาคใต้ “พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ” ประธานคณะกรรมการสันนิบาตเทศบาลภาคใต้ จึงได้รับความไว้วางใจให้รับไม้ต่อจากอดีตนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต เพื่อดำรงตำแหน่งในส่วนของตัวแทนภาคใต้เพื่อให้ครบกำหนดตามวาระ 2 ปี ในปี พ.ศ. 2565

 

          “พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ” ครองตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครยะลา ยาวนานถึง 5 สมัย ตั้งแต่ พ.ศ. 2546 มาจนถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลา 18 ปี  และหากอยู่จนครบวาระ 4 ปี ในการเข้ารับตำแหน่งใหม่ครั้งนี้ เขาจะกลายเป็นนายกเทศมนตรีแห่งนครยะลาที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุด

 

          พงษ์ศักดิ์ เป็นบุตรคนสุดท้องจากบุตร 4 คน ของ “โกเล้ง” หรือ ธนา ยิ่งชนม์เจริญ และ มาลี ยิ่งชนม์เจริญ ครอบครัวนักธุรกิจใหญ่แห่งเมืองยะลา เจ้าของธุรกิจยาเส้น ร้านจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ร้านจำหน่ายสุขภัณฑ์ ร้านจำหน่ายสินค้าไอที และเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีตั้งแต่ตึกแถว อาคารพาณิชย์ ไปจนถึงหมู่บ้านจัดสรรระดับร้อยหลังคาเรือน ที่รู้จักกันในนาม “หมู่บ้านเมืองทอง” ซึ่งถือเป็นหมู่บ้านจัดสรรแห่งแรกของจังหวัดยะลา

 

          แต่กว่าจะมีวันนี้ ครอบครัวยิ่งชนม์เจริญ มีจุดเริ่มต้นมาจากศูนย์ โกเล้ง ผู้เป็นพ่อ หอบเสื่อผืนหมอนใบมาจากเมืองจีนแผ่นดินใหญ่พร้อมพี่ชาย ที่มีติดตัวมาคือความรู้ จากชั้นไฮสกูลที่จบมาเมืองจีน มาถึงประเทศไทยแล้วก็แยกย้ายกันไปแสวงโชค เริ่มต้นจากการเป็นครูสอนในโรงเรียนจีนแถวสุพรรณบุรี ก่อนจะหันมาค้าขาย และค่อยๆ ขยับขยายลงมาทางใต้เรื่อยๆ เดินเส้นทางตามพี่ชายที่ได้กรุยทางและส่งสัญญาณให้ จนสุดท้ายตัดสินใจปักหลักสร้างตัวอยู่ที่ยะลา เริ่มจากการจับธุรกิจเล็กๆ เก็บหอมรอบริบได้พอสมควรก็ค่อยๆ ขยับมาจับธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ตามความเชื่อที่ว่า ต้องค่อยๆ โตอย่างมั่นคง จนกระทั่งมาลงตัวที่ธุรกิจยาสูบหรือยาเส้น ขยับขยายต่อยอดมายังธุรกิจอื่นๆ อีกมากมาย โกเล้งและครอบครัว กลายเป็นที่รู้จักและเป็นที่รักของคนเมืองยะลา

 

          เนื่องจากผู้เป็นพ่อให้ความสำคัญด้านการศึกษา จึงผลักดันลูกได้เรียนหนังสือให้ได้มากที่สุด พงษ์ศักดิ์จบ ม.ศ.3 จากโรงเรียนยะลาบำรุงผดุงประชา หรือที่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนผดุงประชาพาณิชยการ โรงเรียนที่บิดามีส่วนร่วมในการก่อตั้ง แล้วจึงมาสอบเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนเตรียมอุดมฯ ในกรุงเทพฯ  หลังจบปริญญาตรีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ไปเรียนต่อปริญญาโทที่ University of Queensland ประเทศออสเตรเลีย ก่อนจะกลับมาทำธุรกิจกับครอบครัว

 

พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทยคนที่ 33

 

          เขาไม่อ่านการ์ตูน ไม่อ่านนิยาย แต่ชอบอ่านหนังสือแนวการเมืองมาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 เป็นจุดเริ่มต้นของการซึมซับและบ่มเพาะแนวคิดทางการเมือง ตลอดระยะเวลาของการศึกษาทั้งในระดับมัธยมศึกษาและปริญญาตรี เขาจึงมีส่วนร่วมกับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเมืองเสมอ

 

          ในปี 2539 “ยรรยง อุทัย” อดีตนายกเทศมนตรีนครยะลา เห็น “แวว” ซึ่งฉายออกมาอย่างโดดเด่นของ พงษ์ศักดิ์ จึงชักชวนเขาให้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาล (ส.ท.) แต่ครั้งนั้นมองว่าตนเองยังไม่พร้อม พงษ์ศักดิ์ จึงปฏิเสธ และหันมาทำงานด้านอื่นๆ เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์

 

          จนในปี 2542 เขาจึงมาลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ท. ในทีมของ ยรรยง อุทัย ครั้งแรกเขาสอบตก จนกระทั่งมีการเลือกตั้งซ่อมในปี 2545 เนื่องจาก ส.ท. คนหนึ่งลาออก คราวนี้เขาชนะการเลือกตั้งอย่างขาดลอย และเข้ามามีบทบาทในฐานะนักการเมืองท้องถิ่นอย่างเต็มตัว ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครยะลาครั้งแรกในปี 2546 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

 

          การทำหน้าที่บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งและเต็มไปด้วยความแตกต่างทางความคิด เป็นการท้าทายความสามารถของ พงษ์ศักดิ์ ไม่น้อย แนวคิด “พัฒนาคน” จึงเป็นตัวเลือกสำคัญ ที่เขาใช้ในการแก้ปัญหาความไม่สงบ มองว่าคนที่มีคุณภาพ คือ “หัวใจ” ของการแก้ปัญหาวิกฤติความขัดแย้ง

 

          กระบวนการสร้างคนของเขา เริ่มต้นที่โรงเรียนต้องมีคุณภาพ ครูต้องดี ต้องเก่ง และต้องไม่มีเด็กฝาก รวมทั้งจัดตั้งโรงเรียนเฉพาะทางด้านดนตรี และกีฬา ตั้งกองทุนเพื่อสนับด้านทุนการศึกษา และผลักดันให้เด็กได้มีโอกาสได้ไปแข่งในเวทีใหญ่ๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อใช้ดนตรีและกีฬาหล่อหลอมคนในสังคมให้เป็นหนึ่งเดียวกัน

 

          “เรื่องการสร้างคน ผมถอดแบบมาจากสิงคโปร์ เพราะเขาเป็นประเทศที่มีแบบแผนของการสร้างคนที่ชัดเจนมาก เราชอบพูดแก้ตัวว่าสิงคโปร์เป็นประเทศเล็กจึงง่ายต่อการบริหารจัดการ แต่บางประเทศที่เล็กกว่าสิงคโปร์ ทำไมเขาทำไม่ได้แบบสิงคโปร์ ranking ทุกอย่างของโลก สิงคโปร์ติดอันดับ TOP หมดเพราะเขาสร้างคนมาเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาเมือง และนอกจากคนของเขาจะต้องมีความสามารถ คนของเขาต้องเป็นคนดีด้วย คุณภาพคนที่มีความสามารถแต่ขาดจิตรสำนึก เอาเปรียบสังคมตลอดเวลา เมืองก็อยู่ไม่ได้

 

          วันที่ ลี กวน ยู แยกประเทศออกจากมาเลเซีย ลี กวน ยู บอกว่า ผมจะเน้นสร้างคนของเราให้เก่งเพื่อขับเคลื่อนประเทศของเราให้แข่งขันกับสังคมโลก จากนั้นเขาก็สร้าง Administrative Office (AO) ซึ่งคนเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่มัธยม มีการไปสัมภาษณ์เด็กตามโรงเรียนต่างๆ คัดเด็กที่เก่งๆ ขึ้นมา พัฒนาศักยภาพของเด็กเหล่านี้ แล้วจากนั้นเขาเอาคนเก่งๆ เหล่านี้ เข้ามาสู่ระบบราชการ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าผู้นำของสิงคโปร์แต่ละคนจะมีแต่คนเก่งๆ ทั้งนั้น ตั้งแต่ ลี กวน ยู , โก๊ะ จ๊ก ตง จนวันนี้ก็เป็นยุคของ ลีเซียน ลุง ลองไปดูประวัติของเขาจบเกียรตินิยม Cambridge เก่งมาก บางคนตั้งฉายาเขาว่า  Encyclopedia ของเอเชีย

 

          อันดับแรกการสร้างคนของผมโรงเรียนต้องมีคุณภาพครูต้องดีต้องเก่งกฎเหล็กของผมคือการไม่มีคือต้องไม่มีการฝากเด็กเข้ามาเป็นครูเด็ดขาดขณะนี้เทศบาลนครยะลามีโรงเรียนในสังกัดหกโรงซึ่งบางโรงเราทำเป็นโรงเรียนเฉพาะทางคือโรงเรียนดนตรีที่เราดำเนินงานร่วมกับวิทยาลัยดุริยางคศิลป์มอมหิดลกับโรงเรียนเฉพาะทางที่เน้นเรื่องฟุตบอลโดยตรง

 

          ถึงแม้สิงคโปร์จะต่างจากยะลามาก กระบวนการสร้างคนของเขากับของเรามีเงื่อนไขที่ต่างกัน ในพื้นที่ของเรามีเรื่องการไหลออกของเด็ก ซึ่งเราห้ามไม่ได้ เพราะว่าพ่อแม่เขาก็กลัว แต่ผมในฐานะที่เป็นผู้บริหารก็ไม่เคยหยุดนิ่งเรื่องของการสร้างคน งบประมาณที่ผมทุ่มให้กับการศึกษาก็ดี งบประมาณที่ผมทุ่มให้กับเรื่องของการจัดการศึกษาทางเลือกก็ดี การศึกษาตามอัธยาศัย เช่นห้องสมุดต่างๆ ก็ดี วันนี้ผมยังคงทุ่มเทในเต็มที่ในทุกๆ มิติของการสร้างคน

 

          อันดับแรก การสร้างคนของผม โรงเรียนต้องมีคุณภาพ ครูต้องดี ต้องเก่ง กฎเหล็กของผมคือ ต้องไม่มีการฝากเด็กเข้ามาเป็นครูเด็ดขาด ขณะนี้เทศบาลนครยะลามีโรงเรียนในสังกัด 6 โรง ซึ่งบางโรงเราทำเป็นโรงเรียนเฉพาะทาง คือ โรงเรียนดนตรี ที่เราดำเนินงานร่วมกับวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดลกับโรงเรียนเฉพาะทางที่เน้นเรื่องฟุตบอลโดยตรง

 

พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทยคนที่ 33

 

          การทำโรงเรียนดนตรี เราเริ่มทำตั้งแต่เด็ก เพราะดนตรีมันต้องเรียนตั้งแต่เด็ก ซึ่งก็คิดต่อไปว่า ผมจะใช้ดนตรีมารวมสังคม ใช้ดนตรีมากล่อมเกลาจิตใจ และทำให้เด็กที่เล่นดนตรีมีอาชีพ ซึ่งดนตรีที่เราทำออกมาแล้วมีความโดดเด่นที่สุด ก็คือ ออร์เคสตร้า ขณะนี้ผมกำลังต่อยอด และส่งเสริมสู่ความเป็นเลิศเหมือนที่เวเนซุเอลามี “แอล ซิสเต็มมา” (El Sistema) เวเนซุเอลา ถือเป็นประเทศที่ส่งออกนักดนตรีคลาสสิคของโลก เหมือนกับประเทศบราซิลที่ส่งออกนักฟุตบอล วาทยกรมือหนึ่งของโลก กูดนี ก็มาจากเด็กในสลัมของเวเนซุเอลา

 

พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทยคนที่ 33

 

          วันที่ผมพาเด็กยะลาไปแสดงที่ปีนัง เล่นกับวงปีนัง ฟีลฮาร์โมนิก ซึ่งเป็นผู้ใหญ่หมด เด็กผมอายุไม่เกิน 18 วงปีนังฯ 50 ทั้งนั้น เด็กยะลาเล่นเพลงไทยสากล ผลัดกันเล่นคนละ 3 เพลง ตอนวงปีนังฯ เล่นเพลงมาเลย์ เด็กยะลาเล่นแบ็กอัพข้างหลัง พอเล่นเพลงไทย วงปีนังฯ ก็เป็นแบ็กอัพให้ เด็กยะลาขึ้นไปเล่นหน้าสลับกัน โอ้โฮ! คนเต็มห้องประชุม 1,500 คน ไม่มีที่นั่งเลย ผู้ว่าการรัฐก็มาดู ทุกคนชื่นชมมาก แล้วผมไปเจอมิสเตอร์วู ซึ่งเป็นคอนดักเตอร์ (วาทยกร) เค้าก็ให้ซีดี “แอล ซิสเต็มมา” ผมมาแผ่นหนึ่ง ผมดูแล้วชอบมาก เพราะเขาทำให้เราเห็นว่าการสร้างเขาเป็นอย่างไร เขาส่งออกนักดนตรีคลาสสิกไปทั่วโลกเหมือนที่บราซิลส่งรถส่งนักบอลไปทั่วโลกได้อย่างไร ผมก็หวังในใจว่า ยะลาในอนาคต วงดังๆ ในประเทศไทยอาจจะมาจากยะลาครึ่งวง

 

พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทยคนที่ 33

 

          ส่วนโรงเรียนเฉพาะทางด้านฟุตบอล เราใช้วิธีฝึกทักษะฟุตบอลให้เด็กด้วยการเข้าค่าย มีการฝึกฟุตบอลทุกเย็น โดยใช้โรงเรียนเทศบาลเป็นฐานฝึก นอกจากสนามโรงเรียน เราก็มีสนามหญ้าเทียมของเทศบาลทั้งแบบเล็กและแบบใหญ่ คือเรามี 2 สนาม สนามใหญ่นี่ถือเป็นสนามหญ้าเทียมแห่งแรกของภาคใต้ ตอนนี้เราให้ทีมยะลา เอฟซี ซึ่งเป็นทีมประจำจังหวัดใช้ ส่วนอีกสนามเราจะทำเป็นโรงเรียนสอนทักษะฟุตบอล เพราะการสร้างทักษะทางด้านฟุตบอลที่ดีคือให้เด็กเล่นฟุตซอล ตอนนี้โรงเรียนเฉพาะทางก็เริ่มเห็นผลแล้ว เช่น น้องญาญ่า ตอนนี้เป็นกัปตันเยาวชนทีมชาติหญิง

 

พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทยคนที่ 33

 

          เรื่องการศึกษาสำหรับผม ไม่ได้หมายถึงแค่การทำโรงเรียน การศึกษาทางเลือกและการศึกษาตามอัธยาศัย ก็ถือเป็นมิติอีกมิติของการสร้างคน ผมจึงทำห้องสมุดสี่มุมเมือง ซึ่งนอกจากทุกมุมของเมืองจะมีห้องสมุด กิจกรรมที่อยู่ในแต่ละห้องสมุดยังจะไปตอบโจทย์เยาวชนในพื้นที่นั้นๆ อะไรคือปัญหาของเด็กในซีกนั้น เราก็เอากิจกรรมลงไปแก้ ผ่านกระบวนการเรียนรู้ อย่างเด็กในชุมชนเขตห้องสมุดนี้ เด็กค่อนข้างก้าวร้าว เราก็ไปทำกิจกรรมลดความก้าวร้าว ก็อาจจะเป็นเรื่องของดนตรีอะไรต่างๆ แบบนี้ ห้องสมุดสี่มุมเมืองของเรา เราใช้พื้นที่ของโรงเรียนเทศบาลและเปิดให้เด็กใช้จนถึงสามทุ่ม แล้วเอาสนามโรงเรียนเทศบาลมาใช้ทำกิจกรรมในวันเสาร์-อาทิตย์ ส่วน TK park เป็นเหมือนแม่ข่าย คล้ายๆ กับสิงคโปร์ สิงคโปร์เขามีห้องสมุดกลาง เรียกว่า National Singapore Library แล้วเขาก็มี Regional Library คือห้องสมุดภูมิภาคอยู่ทุกมุมของเมือง

 

          ก้าวต่อมาของการสร้างคน คือการสร้างผู้นำ โดยสร้างผ่านทางสภาเด็กและเยาวชน สภาเด็กและเยาวชนเทศบาลนครยะลามีบทบาทมากนะครับ เด็กๆ มีโอกาสมานั่งในบอร์ดกับผู้ใหญ่ มีบทบาทแสดงความคิดเห็น มีบทบาทร่วมพัฒนา คือวันนี้การสร้างคนของประเทศเรายังย่ำอยู่กับที่ เราไม่ค่อยเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความสามารถในเชิงบริหาร ยกตัวอย่างเช่น บางคนอายุ 80 ยังต้องมานั่งทำงานให้บ้านเมือง ซึ่งผมว่าไม่ใช่คนอายุ 80 ไม่ใช่ว่าเขาไม่เก่ง หรือว่าเค้าไม่ดีนะครับ แต่ด้วยกายภาพ คนอายุ 80 ให้มานั่งทำงานหนักเขาก็ไม่ไหว วันหนึ่งตรวจงาน 3 ที่เขาก็ไม่ไหวแล้ว เรื่องนี้กำลังบอกว่า บ้านเราเกิดวิกฤติผู้นำ เพราะอะไร เพราะเราไม่สร้างผู้นำ ซึ่งเราต้องสร้างตั้งแต่เด็ก แล้วองค์กรที่มีบทบาทในการสร้างมากที่สุดก็คือท้องถิ่น เพราะท้องถิ่นอยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด ท้องถิ่นทำเรื่องการศึกษาได้ สร้างโรงเรียนได้ สามารถคัดเด็กได้ คัดมาแล้วก็พัฒนาเขา เพิ่มศักยภาพความเป็นผู้นำให้เขา ที่สำคัญเราต้องหากิจกรรมให้เขาทำ เราต้องเปิดโอกาสให้เขาแสดงความสามารถ เปิดโอกาสให้เขามีบทบาทในการพัฒนาท้องถิ่นของเขา” บทสัมภาษณ์ตอนหนึ่งในนิตยสารผู้นำท้องถิ่นของ พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ

 

            ผลงานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งคือ ผลักดันให้มีการจัดงาน มลายูเดย์ ออฟ ยะลา (MELAYU DAY OF YALA) เพื่อแก้ปัญหาเรื่องความแตกต่างทางวัฒนธรรม นำความเป็นมลายูมาเป็นอัตลักษณ์ของเมือง มิติแรกเพื่อแก้ปัญหาการแบ่งแยกดินแดน เนื่องจากทีผ่านมาส่วนหนึ่งของข้อเสนอกลุ่มก่อความไม่สงบมักพูดเรื่องของอัตลักษณ์ เรื่องของวัฒนธรรมมลายู ในอีกมิติหนึ่งที่สำคัญคือ  ในคาบสมุทรมลายูมีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 300 กว่าล้านคน ส่วนใหญ่เชื้อชาติมลายู การจัดงานมลายูเดย์ จึงเสมือนการทำการตลาดให้เมืองยะลา

 

            ในด้านการพัฒนาด้านความเป็นอยู่ที่ดีของคนยะลา พงษ์ศักดิ์ มีแนวคิด “คืนยะลาให้คนยะลา” เสริมศักยภาพเมืองยะลาให้เป็นเมืองแห่งอนาคต ด้วยการพัฒนาด้านความสะอาด การจัดการสิ่งแวดล้อมให้น่าอยู่อาศัย มีการคมนาคมที่สะดวก เพื่อรองรับการพัฒนายะลาให้เป็นเมืองท่องเที่ยวต่อไปในอนาคต

 

            ด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เขาจับของดีท้องถิ่นขึ้นมาทำ Product DNA ของดีเมืองยะลาอย่าง ส้มโชกุน และกล้วยหิน ถูกนำเข้าระบบวิจัยโดยสถาบันวิจัยของมหาวิทยาลัยในประเทศ เพื่อค้นหาสิ่งที่ซ่อนอยู่ในของดีเมืองยะลา เตรียมต่อยอดกระจายความรู้สู่ชุมชน สร้างความมั่นคงทางอาชีพ ความมั่งคงทางการเงินให้กับคนยะลา

 

พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทยคนที่ 33

 

            จึงไม่น่าจะแปลกใจหากจะบอกว่า เทศบาลนครยะลา เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งแรกในประเทศไทย ที่ได้รับรางวัลพระปกเกล้าทองคำ ครบทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ด้านความโปร่งใสและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ปี 2552, ด้านการเสริมสร้างสันติสุขและความสมานฉันท์ ปี 2555 และด้านการเสริมสร้างเครือข่ายรัฐ เอกชน และประชาสังคม ปี 2559 การันตีผลงานการบริหารของ พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญได้เป็นอย่างดี

 

            ล่าสุด วันนี้ (1 มิ.ย. 64) สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย  ได้ออกประกาศรับรองอย่างเป็นทางการให้ นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา เทศบาลนครยะลา จังหวัดยะลา ประธานคณะกรรมการสันนิบาตเทศบาลภาคใต้ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งเท่าที่เหลืออยู่ นับตั้งแต่วันประกาศนี้จนถึงสิ้นปีบริหาร พ.ศ. 2565 (5 ตุลาคม 2565) ตามข้อบังคับสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2556 ข้อ 18 และข้อ 21

 

พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทยคนที่ 33

 

 

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

สุดยิ่งใหญ่พิธีเปิด “นนทบุรีเกมส์ 2024”

สุดยิ่งใหญ่พิธีเปิด “นนทบุรีเกมส์ 2024”

อบจ.นนทบุรีจัดใหญ่กว่า 5 พันชีวิต ร่วมพิธีเปิดการแข่งขั…

schedule
สมาคมสันนิบาตปลุกพลัง คิดไกล คิดใหม่ เพื่อชาวเทศบาล

สมาคมสันนิบาตปลุกพลัง คิดไกล คิดใหม่ เพื่อชาวเทศบาล

สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย จัดการประชุมและการสัมม…

schedule
อบจ.นนทบุรี พร้อม! เจ้าภาพรอบคัดเลือกภาคกลาง “นนทบุรีเกมส์”

อบจ.นนทบุรี พร้อม! เจ้าภาพรอบคัดเลือกภาคกลาง “นนทบุรีเกมส์”

อบจ.นนทบุรี ประกาศความพร้อมเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬานักเ…

schedule
แจ้งข่าวดี! กรมการท่องเที่ยวจัดคอร์สเสริมพลังท้องถิ่น ด้านการท่องเที่ยวภาครัฐ

แจ้งข่าวดี! กรมการท่องเที่ยวจัดคอร์สเสริมพลังท้องถิ่น ด้านการท่องเที่ยวภาครัฐ

กรมการท่องเที่ยวจัดอบรมออนไลน์ ฟรี! เรื่อง “การเสริมพลั…

schedule

นิตยสารผู้นำท้องถิ่นออนไลน์ รวมข่าวสารอัพเดทของคนท้องถิ่น

ติดต่อเรา

อีเมล : [email protected]