วันที่ 9 เมษายน 2563 ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สกลนคร นายชัยมงคล ไชยรบ นายก อบจ.สกลนคร เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับผู้บริหาร อบจ., เทศบาล, อบต. จำนวน 141 แห่งว่า ที่ประชุมแห่งนี้มีตัวแทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ใน จ.สกลนคร ที่จะร่วมมือกันสู้กับภัยโควิด – 19 แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามปลดล็อกกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้ อปท. สามารถดำเนินการช่วยเหลือประชาชนได้อย่างสะดวก แต่ยังติดปัญหาบางอย่าง ที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินงานได้เต็มร้อย เราจึงระดมความคิดประเด็นต่างๆ เพื่อนำมาแก้ปัญหา และได้ข้อสรุปตรงกันประการหนึ่งว่า ประชาชนต้องมีอาวุธ 2 อย่างในการต่อสู้กับภัยโควิด-19 ประกอบด้วย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ และหน้ากาก ซึ่งหน้ากากที่ทางท้องถิ่นในจังหวัดได้จัดทำแจกประชาชนนั้นยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ เราเชื่อมั่นว่าถ้าประชาชนทุกคนมีหน้ากากครบ ทุกคนจะสวมใส่เพื่อป้องกันตัวเอง แต่ติดปัญหาที่เราไม่สามารถกำหนดราคากลางของหน้ากากได้
นายก อบจ.สกลนคร กล่าวอีกว่า พวกเราคนท้องถิ่นใน จ.สกลนคร จึงจะเสียสละรวบรวมเงินเพื่อตั้งกองทุนสู้ภัยโควิดขึ้นมา เบื้องต้นผู้บริหาร อบจ.สกลนคร ได้แก่ นายก อบจ. รองนายก อบจ. เลขาและที่ปรึกษา สละเงินเดือนในเดือนเมษายน รวม 232,220 บาท เพื่อนำไปเป็นทุนในการผลิตหน้ากากผ้าแจกจ่ายให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่สกลนครให้ครบทุกคนๆ ละ 2 ชิ้น รวมทั้งเจลแอลกอฮอล์และสิ่งของอุปโภคบริโภคจำเป็น โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการประกอบด้วยตัวแทนองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร 2 คน ตัวแทนสันนิบาตเทศบาลสกลนคร 2 คน และตัวแทนสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบล 2 คน โดยจะนำเงินทั้งหมดไปเปิดบัญชีเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ต่อไป
พร้อมเชิญชวนให้ผู้บริหาร อปท.ทั้ง 141 แห่ง เสียสละเงินเดือน 1 เดือน เพื่อร่วมบริจาคเงินในกองทุน นำเงินไปซื้ออุปกรณ์ในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดในภาคประชาชน และซื้ออุปกรณ์ป้องกันแจกจ่ายให้เจ้าหน้าที่ที่ต้องทำงานในด่านหน้า รวมถึงผู้ที่ถูกกักตัว และถูกปิดหมู่บ้าน เพราะทุกคนต่างได้รับความเดือดร้อนเช่นกัน
“สิ่งใดที่ประชาชนขาด อปท.จะลงไปดำเนินการ เพราะประชาชนคนสกลนครเป็นพี่น้องของเรา แม้ว่าบางอย่างจะไม่สามารถใช้งบจากราชการได้ เราคนท้องถิ่นจะสละกันคนละเล็กคนละน้อย รวบรวมกำลังทรัพย์และกำลังใจเพื่อสู้กับโควิดในครั้งนี้” นายก อบจ.สกลนครกล่าว
ทั้งนี้ จ.สกลนคร พบผู้ติดเชื้อรายแรกเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2563 กักตัวเพื่อดูอาการกว่า 26,000 คน โดยมีผู้มีความเสี่ยงสูงประมาณ 5,600 คน และมีแนวโน้มว่าจะมากขึ้นในช่วงวันสงกรานต์ ทำให้ผู้บริหารท้องถิ่นร่วมประชุมหาแนวทางรับมือและจัดตั้ง “กองทุนท้องถิ่นสกลรวมใจต้านภัยโควิด” ขึ้นมา