close

หน้าแรก

menu
search

“ปากเกร็ด” นำร่องโมเดลเมืองฝ่าฝุ่น รับมือ PM2.5

schedule
share

แชร์

          ปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบกับปัญหาฝุ่น PM2.5 หลายภาคส่วนกังวลว่าในอนาคตปัญหาดังกล่าวจะทวีความรุนแรงจนเกินการควบคุม รัฐบาลจึงได้ประกาศให้การแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นวาระแห่งชาติ และกำหนดมาตรการในการรับมือในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งต้องสร้างความร่วมมือจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้แพร่กระจายเป็นวงกว้างในหลายพื้นที่ของประเทศไทย “เทศบาลนครปากเกร็ด” อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรีเป็นพื้นที่หนี่งที่ได้รับผลกระทบและมีค่าฝุ่น PM2.5 สูง ติดอันดับประเทศ

          โดย นายวิชัย บรรดาศักดิ์ นายกเทศมนตรีนครปากเกร็ด เปิดเผยว่า เทศบาลนครปากเกร็ดให้ความสำคัญกับการจัดการฝุ่น PM2.5 เป็นภาวะที่เกินกว่าการควบคุม เนื่องจากฝุ่นที่วัดค่าฝุ่น PM2.5 ส่วนหนึ่งมาจากพื้นที่ใกล้เคียงค่อนข้างสูง เทศบาลฯ มุ่งดูแลประชาชนคนที่ได้รับความเสี่ยงเป็นสำคัญ โดยตั้งเครื่องวัดฝุ่นในจุดต่าง ๆ ในเขตเทศบาลฯ ให้ประชาชนได้ทราบปริมาณฝุ่น PM2.5 ในแต่ละวัน

          ปัจจุบันเทศบาลฯ พยายามแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยจัดทำห้องเรียนปลอดฝุ่น ผลวิจัยจากการทำงาน ก่อให้เกิดแรงกระตุ้นในด้านการดูแล เพราะในพื้นที่ของเทศบาลฯ มีทั้งผู้ด้อยโอกาส และศูนย์ผู้พิการอยู่หลายศูนย์ด้วยกันที่อาจจะได้รับผลกระทบ ประชาชนปากเกร็ดทุกคนในขณะนี้รับฝุ่น PM2.5 อันตรายเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ 3 มวนต่อวัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าตกใจมาก เมื่อประชาชนได้รับทราบถึงข้อมูลนั้น ก่อให้เกิดความตระหนักรู้ การแก้ไขปัญหาเรื่องนี้จะเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น และประชาชนจะเข้ามาเป็นกลไกในการฝ่าฟันฝุ่น PM2.5 ไปพร้อมกับภาครัฐโดยอัตโนมัติ ซึ่งจะเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพสูงสุดเป็นตัวต้นแบบระดับประเทศต่อไป

          ด้าน นายสุทร บุญสิริชูโต ปลัดเทศบาลนครปากเกร็ด กล่าวว่า การบริหารจัดการ เทศบาลฯ ได้นำนวัตกรรมส่วนหนึ่งใน 8 ระบบของข้อมูลกลางความปลอดภัยของ ทน.ปากเกร็ด มาดำเนินการพัฒนาจัดการปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ ฝุ่น PM2.5 ที่ได้รับผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะประชาชนในเขตเทศบาลฯ บริเวณถนนแจ้งวัฒนะ ถนนติวานนท์ โดยเทศบาลฯ ได้จัดทำนวัตกรรมห้องเรียนปลอดฝุ่น โดยไม่มีเครื่องปรับอากาศ ซึ่งมีการศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จัดทำโครงการวิจัยการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 เริ่มการทดลองที่โรงเรียนผาสุกมณีจักรมิตรภาพที่ 116 ทั้งนี้ ผลการวิจัยที่ได้รับจะนำไปสู่การขับเคลื่อนงานของเทศบาลฯ ให้ประชาชนที่อยู่ในเขตเทศบาลฯ ปลอดภัยจากฝุ่น PM2.5

          สำหรับปากเกร็ดวันนี้ ค่าฝุ่นละออง PM2.5 เทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ 3 มวนต่อวัน นั่นแปลว่า ถ้าคุณอยู่ปากเกร็ด ไม่ว่าจะเป็นเด็ก นักเรียน ผู้หญิงท้อง หรือผู้สูงอายุ คุณกำลังสูบบุหรี่ 3 มวนต่อวัน ทั้ง ๆ ที่คุณอาจไม่เคยสูบบุหรี่เลยก็ตาม

          โดย แพทย์หญิงลินดา เอื้อไพบูลย์กุมารแพทย์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้อธิบายผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 ว่า ผลของมลภาวะทางอากาศและฝุ่น PM2.5 ที่ปะปนอยู่ในอากาศที่เด็กต้องหายใจเข้าไปทุกวันมีผลต่อสุขภาพมากกว่าควันบุหรี่มือสองที่เด็กได้รับแค่เพียงครั้งคราว และยังพอหลบหลีกเลี่ยงได้บ้าง แต่ในปัจจุบันอากาศที่ต้องหายใจเข้าไปทุกวัน ถ้ามีฝุ่นหรืออนุภาคของสารพิษปะปนอยู่ในปริมาณมากจะมีผลต่อสุขภาพได้หลายอย่าง อาทิ ผลกระทบต่อผิวหนัง เช่น ผิวแห้ง ระคายเคือง หรือผื่นในบางราย ผลกระทบต่อดวงตา เช่น เคืองตา น้ำตาไหล แสบตา ตาแดง และผลกระทบต่อทางเดินหายใจ เช่น อาการไอจาม น้ำมูกไหล คัดจมูก โดยเฉพาะในเด็กที่มีปัญหาภูมิแพ้หรือว่าโรคหอบหืดอยู่แล้ว อาจจะต้องใช้ยาในปริมาณมากขึ้น ต้องเพิ่มขนาดยา และอาจจะทำให้ต้องขาดโรงเรียนหรือเข้านอนโรงพยาบาล เพื่อรับการรักษาอาการเพิ่มเติม นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อการทำงานของสมองและสุขภาพจิต เนื่องจากมลภาวะทางอากาศที่มากขึ้น ทำให้เด็กมีอาการมึนงง ไม่มีสมาธิในการเรียน โดยมีรายงานการศึกษาที่พบว่า ปริมาณฝุ่น PM2.5 สัมพันธ์กับอาการสมาธิสั้น เครียดวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า ในเด็กวัยเรียนและวัยรุ่นด้วย

          ลินดา กล่าวต่อว่า อนุภาคของฝุ่นเข้าไปในร่างกายผ่านทางเดินหายใจ ไปสู่จมูกคอ หลอดลม กล่องเสียง และปอด ตามลำดับ จนก่อให้เกิดการอักเสบได้ทุกส่วน ทั้งนี้ เมื่อลงไปถึงปอดและเข้าสู่ถุงลม อนุภาคของฝุ่นที่มีขนาดเล็ก 2.5 ไมครอนนั้น สามารถแทรกซึมเข้าไปในระบบไหลเวียนของหลอดเลือด ก่อให้เกิดการอักเสบของอวัยวะต่าง ๆ ซึ่งสัมพันธ์กับการเกิดอาการกลุ่ม Metabolic เช่น เบาหวาน ความดัน หลอดเลือดหัวใจ ในอนาคตได้ นอกจากนี้ อนุภาคฝุ่นสามารถนำพาอนุภาคของโลหะหนักหรือก๊าซต่าง ๆ ที่เป็นสารก่อมะเร็งเข้าสู่ร่างกายได้ด้วย จนอาจจะทำให้เด็กมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งในอนาคต

          จากการเก็บค่าจากเครื่องวัดฝุ่นทั่วประเทศ จุดวัดฝุ่นในเขต ทน.ปากเกร็ด พบว่า เครื่องวัดใต้สะพานพระราม 4 มีค่าฝุ่นสูงสุดในเขตเทศบาลฯ และเป็นจุดที่มีค่าฝุ่นติด TOP 20 ของประเทศไทย สาเหตุเกิดจากอากาศที่ไม่สามารถระบายได้ เป็นอากาศปิด ทน.ปากเกร็ด จึงมีแนวคิด “Build Back Better PM2.5 Pakkret Sendai Framework × ICS ระบบจัดการความเสี่ยงภัย PM2s บนกรอบแนวคิดเซ็นได เพื่อปากเกร็ดที่ดีกว่า”

          ผู้เชี่ยวชาญด้าน ICS และ Sendai Framework กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สันติ บุษบงทอง กล่าวว่า มลพิษทางอากาศเป็นภัยประเภทหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนมากขึ้น โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 ยุทธศาสตร์ที่ ทน.ปากเกร็ด ใช้จัดการภัยฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ พิจารณาได้ว่า เป็นแนวทางเดียวกับ Sendai Framework ซึ่งเป็นแนวทางสากลในการจัดกับความเสี่ยงจากสาธารณภัย นั่นคือการประเมินว่าในพื้นที่ของเรามีภัยใดที่เป็นภาวะคุกคาม มีส่วนใดบ้างที่เป็นภาวะหล่อแหลม และมีกลุ่มใดที่เปราะบางที่ได้รับผลกระทบต่อภัยนั้น ๆ และที่สำคัญคือจะสามารถพัฒนาศักยภาพหรือเสริมพลัง เพื่อรองรับหรือลดผลกระทบจากภัยนั้น ๆ ได้อย่างไร

          “Build Back Better PM2.5 Pakkret Sendai Framework × ICS ระบบจัดการความเสี่ยงภัย PM2s บนกรอบแนวคิดเซ็นได เพื่อปากเกร็ดที่ดีกว่า” เป็นแนวทางที่เทศบาลฯ ดำเนินการโดยเฉพาะการสร้างความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา และภาคธุรกิจในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เพื่อติดตามวิเคราะห์ประเมิน จัดทำแผนที่พื้นที่เสี่ยงภัย พื้นที่ที่มีความล่อแหลม และกลุ่มเปราะปรางที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 การจัดทำระบบการเข้าถึงหน้ากากป้องกันฝุ่นให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง และการจัดทำห้องเรียนปลอดฝุ่นในลักษณะของ low cost DIY ที่เป็นต้นแบบให้กับห้องเรียนทุกห้องก็เป็นแนวทางที่สามารถเป็นแบบอย่างให้กับพื้นที่อื่น ๆ ในการประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ของตัวเองต่อไป

          ด้าน รศ.ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล หัวหน้าศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (CCDC) กล่าวว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5 ไม่ได้เป็นเฉพาะภาคเหนือ แต่เป็นทุกภูมิภาคที่มีปัญหาร่วมกัน ซึ่ง “DUST BOY” เครื่องมือเฝ้าระวังและเตือนภัยให้กับประชาชน DUST BOY เป็นเซนเซอร์ขนาดเล็ก ราคาไม่สูงมาก หลายคนเรียกว่า Low cost sensor โดยทุกตำบลเรียกร้องให้มีเครื่องวัดฝุ่นของตัวเอง ที่มีการเก็บข้อมูลแบบ real time และมีการทำข้อมูลเฉลี่ยเป็นรายชั่วโมง เพื่อรับทราบข้อมูลได้ง่ายยิ่งขึ้น

          ทน.ปากเกร็ด เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแรก ๆ ที่บุกเบิกการสื่อสารความเสี่ยงกับประชาชน โดยร่วมมือกับศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMU CCDC) ติดตั้งเครื่องวัดฝุ่นรายงานผลแบบ real time บริเวณหน้าตลาด หน้าโรงเรียน และแยกต่าง ๆ เพื่อใช้สื่อสารกับชาวบ้านในพื้นที่เทศบาลฯ โดยติดตั้งไปแล้วกว่า 40 จุด

          ขณะที่ผู้อำนวยการโรงเรียนผาสุกมณีจักรมิตรภาพที่ 116 กาญจนาภา กลิ่นละออ กล่าวถึงประโยชน์ข้อมูลสถิติฝุ่นว่า จากระบบการตรวจวัดของเทศบาลฯ ที่ติดตั้งในแต่ละสถานศึกษา ซึ่งสามารถเก็บสถิติ และพยากรณ์ล่วงหน้า ทำให้โรงเรียนสามรถนำข้อมูลมาปรับใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของนักเรียนได้เป็นอย่างดี ยกตัวอย่าง ถ้ามีค่า PM มาก เราสามารถปรับเปลี่ยนสถานที่และเวลาให้เหมาะสมต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้นักเรียนได้

          ทน.ปากเกร็ด ร่วมมือกับสถาบันวิจัยนครพิงค์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำห้องเรียนแรงดันบวกเป็นห้องปลอดฝุ่นต้นแบบ เพื่อจะต่อยอดงาน low cost DIY ให้กับห้องเรียนทุกห้องในปากเกร็ด และพร้อมส่งต่อเทคนิคให้สู่เมืองอื่น ซึ่งกระบวนการทำงานจะประกอบด้วย กองหยาบ กรองละเอียด พัดลม และจะมี WIFI เป็นตัวควบคุมมอนิเตอร์ทั้งหมด หากฝุ่น PM2.5 เกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ระบบจะสั่งให้เครื่องภายในอาคารทำงานโดยอัตโนมัติทั้งหมด

          โดย ดร.ทิพวรรณ ประภามณฑล นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า ทน.ปากเกร็ด คิดริเริ่มโครงการห้องเรียนปลอดฝุ่นให้กับเด็ก ๆ ในพื้นที่ที่ใช้เวลาอยู่ในห้องเรียนอย่างน้อย 7 – 8 ชั่วโมง/วัน ให้ได้รับอากาศสะอาด โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจาก 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย ทน.ปากเกร็ด ผู้คิดริเริ่มโครงการ โดยร่วมลงทุนกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการดำเนินการวิจัยเด็กนักเรียนโรงเรียนผาสุกมณีจักรมิตรภาพที่ 116 ที่อยู่ในห้องเรียนปลอดฝุ่นอย่างน้อย 7 – 8 ชั่วโมง/วัน และคู่ที่เทียบอีก 3 ห้อง มีภาวะสุขภาพเป็นอย่างไร เพื่อนำผลงานวิจัยไปขยายผลนำร่องให้กับ อปท. และหน่วยงานอื่น ๆ ในการจัดทำห้องเรียนปลอดฝุ่นให้กับนักเรียนในพื้นที่ต่อไป

          นอกจากนี้ ทน.ปากเกร็ด ยังมีโครงการสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 อีกหลายโครงการ เช่น “เก่าแต่เก๋าเราให้สิทธิรถเก่าเท่ากับ supercar” โดยร่วมมือกับเซ็นทรัล โรบินสัน บางกอกแลนด์ จัดที่จอดรถ VIP ให้รถเก่าที่ผ่านค่ามลพิษ โดยประชาชนสามารถนำรถเข้าตรวจสภาพฟรีในศูนย์ตรวจที่เทศบาลจัดไว้ให้และสามารถนำรถเข้าจอดในช่องจอด VIP ตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำในเขตเทศบาลนครปากเกร็ด และ MASK 4 ALL” ที่ร่วมมือกับ CMU CCDC สร้างตู้แจกหน้ากากอนามัยอัตโนมัติ กระจายตัวรอบเขตเทศบาลฯ เพียงแค่เป็นประชาชนในเขตเทศบาลฯ ก็สามารถได้รับสิทธิแมสฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย เพราะสิทธิในการเข้าถึงสุขภาพที่ดี ควรได้รับจากบัตรประชาชนใบเดียวตลอด 24 ชั่วโมง

          ทั้งนี้ ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ทน.ปากเกร็ด ได้เจริญและพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว เกิดการขยายตัวของหน่วยงานภาครัฐเข้ามาอยู่ในพื้นที่ ทำให้มีสภาพเป็นชุมชนเมืองขนาดใหญ่ ความเจริญเติบโตของชุมชนเมืองดังกล่าว มีปัญหาที่รอการแก้ไขและพัฒนาอยู่มากมาย เช่น ปรากฏการณ์เกาะความร้อนเมือง URBAN HEAT ISLAND (UHI) คือ ปรากฏการณ์ที่พื้นที่บริเวณในเมืองมีอุณหภูมิสูงกว่าบริเวณโดยรอบ โดยมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงพื้นผิวของแผ่นดินที่มาจากการพัฒนาเมือง โดยการใช้วัสดุก่อสร้างที่ทำให้เกิดการสะสมของความร้อน ประกอบกับความร้อนจากการใช้พลังงานตามอาคารและกิจกรรมของเมือง

          เพื่อแก้ปัญหาความร้อนดังกล่าว ทน.ปากเกร็ด จึงเดินหน้าขับเคลื่อนเมืองด้วยแนวคิด Water sensitive urban design ด้วยการเพิ่มพื้นที่พรุนน้ำในเขตเมือง เพื่อลดการไหลนองของน้ำฝน และช่วยชะลอความเร็วของน้ำฝน ลดการชะเอาสิ่งสกปรกบนพื้นผิวสู่แหล่งน้ำสาธารณะ สร้างบรรยากาศร่มรื่นและสร้างระบบนิเวศจากพื้นที่สีเขียวที่สอดแทรกไปกับเนื้อเมือง ซึ่งช่วยเพิ่มระบบการกรองด้วยชั้นดินตามธรรมชาติ ส่งผลต่อความสะอาดของแหล่งน้ำสาธารณะในเขตเมืองอีกด้วย

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

สุดยิ่งใหญ่พิธีเปิด “นนทบุรีเกมส์ 2024”

สุดยิ่งใหญ่พิธีเปิด “นนทบุรีเกมส์ 2024”

อบจ.นนทบุรีจัดใหญ่กว่า 5 พันชีวิต ร่วมพิธีเปิดการแข่งขั…

schedule
สมาคมสันนิบาตปลุกพลัง คิดไกล คิดใหม่ เพื่อชาวเทศบาล

สมาคมสันนิบาตปลุกพลัง คิดไกล คิดใหม่ เพื่อชาวเทศบาล

สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย จัดการประชุมและการสัมม…

schedule
อบจ.นนทบุรี พร้อม! เจ้าภาพรอบคัดเลือกภาคกลาง “นนทบุรีเกมส์”

อบจ.นนทบุรี พร้อม! เจ้าภาพรอบคัดเลือกภาคกลาง “นนทบุรีเกมส์”

อบจ.นนทบุรี ประกาศความพร้อมเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬานักเ…

schedule
แจ้งข่าวดี! กรมการท่องเที่ยวจัดคอร์สเสริมพลังท้องถิ่น ด้านการท่องเที่ยวภาครัฐ

แจ้งข่าวดี! กรมการท่องเที่ยวจัดคอร์สเสริมพลังท้องถิ่น ด้านการท่องเที่ยวภาครัฐ

กรมการท่องเที่ยวจัดอบรมออนไลน์ ฟรี! เรื่อง “การเสริมพลั…

schedule

นิตยสารผู้นำท้องถิ่นออนไลน์ รวมข่าวสารอัพเดทของคนท้องถิ่น

ติดต่อเรา

อีเมล : [email protected]