สส.ก้าวไกล ฉายภาพเส้นทางภาษีเทียบเงิน 100 บาท ถึงมือท้องถิ่น 20 บาท กว่า 80% อยู่ที่ส่วนกลาง พร้อมให้ข้อเสนอ รายได้ – รายจ่าย เพื่อเพิ่มอิสระทางการคลังให้ท้องถิ่นมากขึ้น ด้านโฆษกพรรค เสนอแนวทางทลายอุปสรรคการเพิ่มคะแนนเสียงของท้องถิ่น เพิ่มประสิทธิภาพ “รัฐไทย” สร้างความปกติใหม่ของสังคม
เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2567 ณ ภิรัชฮอลล์ ไบเทคบางนา พรรคก้าวไกลจัดมหกรรมนโยบาย Policy Fest ครั้งที่ 1 “ก้าวไกล Big Bang” ซึ่งภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย หนึ่งในนั้นคือ เรื่องการบริหารจัดการ การกระจายอำนาจ และเรื่องงบประมาณของประเทศไทย ภายใต้หัวข้อ State Reform รัฐไทยเอาไงดี? | เมือง x การเมือง กับการปฏิรูปรัฐไทย ร่วมวงสนทนาโดย พริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคก้าวไกล ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ รองเลขาธิการฝ่ายพัฒนาระบบข้อมูลและดิจิทัลพรรคก้าวไกล และวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล เป็นผู้ดำเนินรายการ
ภาษีเราถึงมือท้องถิ่นมากเพียงใด?
ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ รองเลขาธิการฝ่ายพัฒนาระบบข้อมูลและดิจิทัลพรรคก้าวไกล ได้ฉายภาพให้เห็นว่า “รัฐไทย” ทำอะไรกับ “เงินภาษี” ที่จ่ายเข้าไป และความจำเป็นในการทลายรัฐราชการรวมศูนย์และปฏิรูประบบงบประมาณ
โดย ณัฐพงษ์ ได้ยกตัวอย่างเรื่องการต่อคิวเพื่อรับการรักษาในโรงพยาบาลรัฐที่ขึ้นชื่อเรื่องความล่าช้ามาตลอด เช่น จังหวัดบึงกาฬ ที่ตอนนี้มีสัดส่วนหมอต่อประชาชนอยู่ที่ 1 ต่อ 6,000 กว่าคน ในขณะที่กรุงเทพฯ มีสัดส่วน 1 ต่อ 500 กว่าคนเท่านั้น ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า ปัจจุบันจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอมีผลทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านระบบสาธารณสุขอย่างมาก ซึ่งปัญหาความเหลื่อมล้ำเหล่านี้จะลดลงได้ หากทุกจังหวัดมีงบสร้างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่มีคุณภาพเพื่อให้ประชาชนสามารถพึ่งพิงหน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิได้
ณัฐพงษ์ ระบุอีกว่า เส้นทางภาษีประชาชนทุกคนที่ได้จ่ายให้แก่รัฐในแต่ละปีนั้น ทุกวันนี้ประชาชนจ่ายเงินให้รัฐส่วนกลางไปกว่า 2.86 ล้านล้านบาท ในขณะเดียวกันจ่ายเงินให้ท้องถิ่นที่อยู่ใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันมากที่สุดเพียง 6.5 หมื่นล้านล้านบาทเท่านั้น
เมื่อเทียบกับเงิน 100 บาท ภาษีของเราจะตกถึงมือท้องถิ่นทางตรงประมาณ 20 บาทจาก 100 บาทเท่านั้น ประกอบด้วยส่วนที่ท้องถิ่นจัดเก็บเอง 2.25 บาท ส่วนที่รัฐส่วนกลางจัดสรรให้ 12 บาท และเงินอุดหนุนของรัฐบาล โดยความเห็นชอบของรัฐสภา 7.75 บาท โดยส่วนที่เหลืออีกประมาณ 80% จะอยู่ที่รัฐส่วนกลาง ซึ่งเป็นเงินที่รัฐส่วนกลางเอาไปจัดสรรอุดหนุนใหม่ผ่านกระทรวงและกรมต่าง ๆ
เห็นได้ชัดว่า ภาษีส่วนใหญ่ของเราไปกองอยู่กับรัฐส่วนกลาง ที่ไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกับปัญหาของประชาชน ทำให้บางครั้งการเสนอโครงการของรัฐส่วนกลางก็ไม่ได้ตอบโจทย์ปัญหาที่แท้จริงของประชาชน ฉะนั้น การกระจายอำนาจพร้อมงบประมาณให้ท้องถิ่นอย่างแท้จริง จึงมีความสำคัญอย่างมากที่จะช่วยตอบโจทย์ปัญหาเพื่อเปลี่ยนแปลงความเป็นอยู่ของประชาชน
ทั้งนี้ ณัฐพงษ์ ได้ให้ข้อเสนอเพื่อเพิ่มอิสระทางการคลังให้ท้องถิ่นมากขึ้น แบ่งเป็นฝั่งรายได้และรายจ่าย อย่างละ 4 ข้อเสนอ ดังนี้
ข้อเสนอฝั่งรายได้
(1) รัฐส่วนกลางต้องปลดล็อกและช่วยสนับสนุนให้ท้องถิ่นสามารถออกพันธบัตรพัฒนาเมือง นั่นคือ ให้ท้องถิ่นกู้เงินจากทุนเอกชน มาใช้ในการพัฒนาเมืองได้เอง
(2) รัฐส่วนกลางต้องปลดล็อกและช่วยสนับสนุนให้ภาคเอกชน เข้ามามีบทบาทในการช่วยพัฒนาเมืองได้ด้วยตัวเขาเอง ผ่านรูปแบบความร่วมมือระหว่างท้องถิ่นและเอกชน
(3) รัฐส่วนกลางต้องปลดล็อกให้ท้องถิ่นสามารถออกระเบียบว่าด้วยการเงินการคลังได้เอง เพื่อให้มีอิสระทางการเงินการคลังมากขึ้น
(4) รัฐส่วนกลางต้องปลดล็อกและช่วยสนับสนุนให้ท้องถิ่น ออกข้อบัญญัติ หรือเทศบัญญัติในการจัดเก็บภาษีในฐานใหม่ ๆ ที่นำมาใช้ในการพัฒนาเมืองได้เอง
ข้อเสนอฝั่งรายจ่าย
(1) รัฐส่วนกลางต้องปลดล็อกให้ท้องถิ่นสามารถดำเนินภารกิจในการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชนได้ทุกอย่าง เว้นแต่ที่กำหนดไว้บางเรื่อง อาทิ ศาล ทหาร เงินตรา การศุลกากร และการต่างประเทศ
(2) รัฐส่วนกลางต้องเร่งรัดถ่ายโอนเพื่อควบรวมภารกิจจากรัฐส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยดำรงตนเหมือนพี่เลี้ยง ช่วยสนับสนุนท้องถิ่นให้ดำเนินบริการสาธารณะเหล่านั้นได้เอง
(3) รัฐส่วนกลางต้องมีการยกเลิกและปลดล็อกกรอบงบประมาณบุคลากรท้องถิ่น 40% ที่ระบุไว้ว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง ไม่สามารถเสนองบประมาณรายจ่ายประจำปี ที่งบประมาณบุคลากรสูงกว่า 40% ของงบประมาณรายจ่ายทั้งปีได้ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการ เพราะบริการสาธารณะที่ท้องถิ่นจัดให้ประชาชน เช่น การศึกษา การสาธารณสุข การจัดเก็บขยะ ฯลฯ ล้วนต้องใช้ “คน” เป็นหลัก
(4) เมื่องานและคนไป เงินในฝั่งรายจ่ายก็จะตามไปอัตโนมัติ โดยมีเป้าหมายให้งบประมาณรายจ่ายประจำปี ต้องมีสัดส่วนอยู่ที่ท้องถิ่นไม่ต่ำกว่าครึ่ง ดังตัวอย่างกรณีประเทศญี่ปุ่น ที่มีสัดส่วนอยู่ประมาณ 60:40%
จากข้อเสนอทั้งหมด ตนเชื่อว่าหากประเทศไทยสามารถทำได้ จะช่วยลดปัญหา “เมือง” ให้ประชาชนได้แน่นอน
ทลาย 5 อุปสรรค เพิ่ม “คะแนนเสียง” จากประชาชน
ขณะที่ พริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคก้าวไกล ระบุว่า ความสัมพันธ์ หรือ “สายใย” ที่ทุกคนมีกับรัฐ ประกอบไปด้วย 2 อย่างหลัก ๆ ได้แก่ เงินภาษีและคะแนนเสียง โดยพริษฐ์พยายามฉายภาพให้เห็นว่า “รัฐไทย” ทำอะไรกับ “คะแนนเสียง” ในการเลือกตั้ง โดยพุ่งเป้าไปที่ความจำเป็นในการปฏิรูประบบการเมือง และทลายอุปสรรค 5 ด่านที่กำลังทำให้ “คะแนนเสียง” เจือจางลง จนไม่สามารถแปรความต้องการที่ประชาชนแสดงออกผ่านการเลือกตั้ง ให้กลายมาเป็นความจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากพอ
พริษฐ์ กล่าวอีกว่า การทลายอุปสรรคด่านแรก คือการทำให้ประชาชนเข้าถึง “คูหาเลือกตั้ง” (โดยเฉพาะการเลือกตั้งท้องถิ่น) เพื่อได้ใช้สิทธิมากขึ้น จึงได้เสนอให้แก้ พ.ร.บ. เลือกตั้งท้องถิ่น เพื่อปลดล็อกให้ประชาชนได้ไปใช้สิทธิท้องถิ่นเพิ่มขึ้น ปลดล็อกให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นล่วงหน้าได้ (ขั้นต่ำคือ การเลือกตั้งล่วงหน้าในเขต โดยต้องหารือถึงความเป็นไปได้เพิ่มเติมสำหรับเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต – นอกราชอาณาจักร) และปลดล็อกให้คนที่ทำงาน หรือ ศึกษา อยู่ในพื้นที่หนึ่ง แต่ทะเบียนบ้านอยู่ในอีกพื้นที่หนึ่ง มีสิทธิลงทะเบียนเลือกตั้งในพื้นที่ตามที่ตนเองอาศัยจริง
ตลอดจนแก้ พ.ร.บ. เลือกตั้งท้องถิ่น ในประเด็นอื่น ๆ คู่ขนาน เช่น ลดความสับสนเรื่องสีบัตรเลือกตั้ง สร้างมาตรฐานที่ชัดเจนเรื่องการจำแนกบัตรดี – บัตรเสีย ลดอายุขั้นต่ำของผู้สมัครรับเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น รับประกันและขยายสิทธิในการสังเกตการณ์ และเผยแพร่ผลการเลือกตั้งรายหน่วยในรูปแบบดิจิทัลที่นำไปวิเคราะห์ต่อได้
สำหรับด่านที่สอง คือ การทำให้ประชาชน มีตัวเลือกพรรคการเมืองที่หลากหลายขึ้นและตรงกับอุดมการณ์ตนเอง ด้วยการแก้ พ.ร.ป. พรรคการเมือง เพื่อทำให้พรรคการเมือง “เกิดง่าย” และดำรงอยู่ได้จากการสนับสนุนของประชาชน และมีความยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น เช่น ลดเงื่อนไขในการตั้งพรรคเรื่องทุนประเดิม สาขาพรรค และธุรการที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนให้พรรคการเมืองสามารถขยายฐานสมาชิกได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น และประชาชนสมัครเป็นสมาชิกได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น
พร้อมทั้งปลดล็อกให้พรรคการเมืองระดมทุนจากประชาชนได้ง่ายขึ้น เช่น การขายสินค้าของพรรคออนไลน์ ปรับให้เงินภาษีที่ประชาชนเลือกอุดหนุนให้พรรคการเมืองถูกส่งตรงไปที่พรรค โดยไม่ต้องผ่านกองทุน กกต. ที่ไปกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม และป้องกันเงินบริจาคที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงป้องกันการครอบงำพรรคการเมืองโดยทุนใหญ่ ที่ใช้วิธีซอยย่อยและกระจายเงินบริจาคไปตามบริษัทย่อย ๆ ในเครือ ตลอดจนการแก้ พ.ร.ป. พรรคการเมือง เพื่อทำให้พรรคการเมือง “ตายยาก” หรือล้มหายตายจาก ต่อเมื่อสูญเสียความไว้วางใจจากประชาชน เช่น เสนอปรับเงื่อนไขเรื่องการยุบพรรคให้สอดคล้องกับหลักสากล
ในด่านที่สาม พริษฐ์ ระบุว่า การทำให้ตัวแทนประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ถูกคานด้วยอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ต้องจัดรณรงค์ให้รัฐธรรมนูญมีเนื้อหาที่ยืนยันหลักการว่า “อำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง” ควรอยู่เหนือ “อำนาจที่ไม่ได้มาจาการเลือกตั้ง” พร้อมออกแบบสถาบันทางการเมืองให้มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย เช่น วุฒิสภาที่ (หากจำเป็นต้องมี) มีโครงสร้างอำนาจและที่มาที่สอดคล้องกัน และออกแบบองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุล เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ ให้มีกลไกที่เปิดให้ประชาชนเข้ามาตรวจสอบถ่วงดุลองค์กรดังกล่าวได้ด้วยเช่นกัน อีกทั้งผลักดันให้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ถูกร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด
พริษฐ์ กล่าวต่อไปว่า การทลายอุปสรรคในด่านที่สี่ โดยการทำให้ตัวแทนประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง สามารถผลักดันงานกฎหมายได้อย่าง “ลื่นไหล” โดยไม่เผชิญ “แรงเฉื่อย” ในสภาฯ ต้องดำเนินการปฏิรูปกระบวนการทำงานภายในของสภาฯ เพื่อเพิ่มเวลาและประสิทธิภาพในการพิจารณากฎหมาย เพิ่มจำนวนสัปดาห์หรือวันในแต่ละสัปดาห์ที่มีการประชุมสภาฯ (ปัจจุบัน สส. ใช้เวลาแค่ 11% ของเวลาทำงานไปกับการพิจารณากฎหมายในที่ประชุมสภาฯ) และโอนถ่ายบางวาระในห้องประชุมใหญ่ให้ไปพิจารณาในห้องกรรมาธิการ
รวมถึงประเด็นสำคัญเรื่อง การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นไม่มีอำนาจและงบประมาณเพียงพอในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ เพราะมิเช่นนั้นการเพิ่มวันประชุมสภาฯ จะลำบาก เนื่องจาก สส. เขตจำเป็นต้องแบ่งวันทำงานบางส่วนไปกับการทำงานและประสานงานในพื้นที่ รวมถึงการเพิ่มเวลาประชุมสภาฯ ให้กับวาระด้านกฎหมายจะเป็นไปได้ยากขึ้น เนื่องจาก สส. ยังคงจำเป็นต้องขอใช้เวลาประชุมสภาฯ บางส่วนไปกับการหารือปัญหาในพื้นที่ เพื่อเร่งรัดให้เกิดการแก้ไข
และด่านสุดท้าย การเพิ่มอำนาจให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้ “ทางตรง” โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งแต่การขับเคลื่อนผ่าน “ผู้แทน” ที่ถูกเลือกทุก ๆ 4 ปี เพียงอย่างเดียว พรรคก้าวไกลเสนอแก้ พ.ร.บ. ประชามติ เพื่อปลดล็อกให้มีการจัดประชามติในระดับพื้นที่ได้ เพื่อหารือประชาชนเกี่ยวกับนโยบายหรือโครงการในพื้นที่ ปลดล็อกให้ประชาชนใช้ช่องทางออนไลน์ได้ ในการเข้าชื่อเสนอประเด็นทำประชามติ ปลดล็อกให้ กกต. จัดประชามติในวันเดียวกับวันเลือกตั้งได้ง่ายขึ้น เพื่อประหยัดงบประมาณ และอำนวยความสะดวกให้ประชาชน
“แม้วันหนึ่งที่เราประสบความสำเร็จในการทำให้รัฐประหารเป็นเพียง ‘รอยด่างพร้อย’ ในอดีต และทำให้เรามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง เรายังมีโจทย์อีกอย่างน้อย 5 ด้าน ที่ต้องร่วมกันผลักดัน เพื่อทำให้ ‘รัฐไทย’ มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการรักษาความหมายของคะแนนเสียงเรา และเพื่อทำให้ ‘ประชาธิปไตยเต็มใบ’ เป็น ‘ความปกติใหม่’ ของสังคมไทย” พริษฐ์ กล่าวในตอนท้าย