close

หน้าแรก

menu
search

ปลดล็อกโอนย้ายสายบริหาร เสียงร้องของคนท้องถิ่น

schedule
share

แชร์

          ท่ามกลางกระแสการเรียกร้องให้ปลดล็อกการโอนย้ายข้าราชการส่วนท้องถิ่นในตำแหน่งสายงานผู้บริหาร เหตุใดจึงเป็นประเด็นที่คนท้องถิ่นพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง นิตยสารท้องถิ่น จึงพาไปไขข้อข้องใจ ถึงความสำคัญของข้อเรียกร้องดังกล่าว ผ่านการพูดคุยกับ นายพิพัฒน์ วรสิทธิดำรง นายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย หรือ ป.พิพัฒน์ ผู้ที่หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาจนกลายเป็น กระแสในวงกว้าง

 

          ในการทำงานของคนท้องถิ่น ทั้งรูปแบบ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบาล (อบต.) เมืองพัทยา และกทม. กำหนดพนักงานส่วนท้องถิ่นไว้ 4 ประเภท ได้แก่ ประเภททั่วไป ประเภทวิชาการ ประเภทอำนวยการท้องถิ่น และประเภทบริหารท้องถิ่น

 

          ประเภทสายงานผู้บริหารท้องถิ่นที่กำลังเป็นประเด็นในขณะนี้ คือ ตำแหน่งปลัด รองปลัด ผอ.และรอง ผอ.สถานศึกษา ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการกอง และหัวหน้าฝ่าย ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

 

          เดิมอำนาจหน้าที่ของการพิจารณาเลื่อนระดับในแต่ละสายงาน เป็นอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่งดำเนินการกันเอง ผ่านการสอบวิสัยทัศน์และพิจารณาจากผลงานในเชิงประจักษ์ เรียกได้ว่า ตำแหน่งไหนขาด ตำแหน่งไหนว่าง คนในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ จะบริหารจัดการได้เองด้วยความรวดเร็ว ไม่ต้องรอสอบกับส่วนกลาง

 

         “แต่คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 8/2560 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการบริหารงานส่วนบุคคลท้องถิ่น กำหนดให้หน้าที่ในการจัดสอบการแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น หรือพนักงานส่วนท้องถิ่น เปลี่ยนไปเป็นอำนาจของคณะกรรมการกลางทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ก.จ. ก.ท. และ ก.อบต. ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โดยให้เหตุผลว่า การบริหารงานบุคคลของท้องถิ่นในรูปแบบเดิม มีแนวโน้มจะใช้ระบบอุปถัมภ์ในการสรรหาคนมาดำรงตำแหน่ง ทั้งการเลื่อนตำแหน่ง การโอน และการย้าย รวมทั้งเป็นต้นตอของการเรียกรับผลประโยชน์และการทุจริต”

 

          ในส่วนนี้ ช่วยลดข้อครหา และเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมได้ระดับหนึ่ง เนื่องจากปัญหาการเรียกรับผลประโยชน์ในบางจังหวัดเกิดขึ้นจริง ทำให้การสอบแบบเดิมๆ ถูกมองว่าไม่โปร่งใส

 

ปลดล็อกโอนย้ายสายบริหาร  เสียงร้องของคนท้องถิ่น

 

          เมื่อกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นเจ้าภาพในการจัดการสรรหาตำแหน่งสายงานผู้บริหารเอง พบว่า อปท.บางแห่งไม่รายงานไปยังกรมฯ เพื่อให้ดำเนินการสอบสายงานผู้บริหารในตำแหน่งที่ว่างให้ จุดนี้ทำให้กรมฯ ออกหลักเกณฑ์เงื่อนไขว่า หาก อปท.ใดมีตำแหน่งสายงานผู้บริหารว่าง ต้องหาคนมาแทนภายในกรอบเวลา 60 วัน ด้วยการรับโอนจากข้าราชการส่วนท้องถิ่นประเภทเดียวกันหรือประเภทอื่น เช่น โอนจาก อบต.ไป เทศบาล หรือ เทศบาลไป อบจ. หากสรรหาไม่ได้ตามกรอบเวลาที่กำหนด ต้องรายงานให้กรมฯ ทราบเพื่อดำเนินการสรรหาด้วยวิธีสอบคัดเลือก หรือคัดเลือกจากส่วนกลาง ตำแหน่งที่ถูกรายงานไปยังกรมฯ แล้ว จะถูกล็อกไม่ให้มีการโอนย้ายอีกต่อไป จนกว่ากรมฯ จะสอบคัดเลือกตำแหน่งนั้นๆ และส่งรายชื่อขึ้นบัญชีไว้”  ป.พิพัฒน์กล่าว

 

          กรอบเวลา 60 วันนี้เองที่สร้างปัญหาให้กับผู้ที่ต้องการโอนย้ายไปยังอปท.อื่น เนื่องจากตำแหน่งที่ถูกรายงานไปยังกรมฯ จะถูกล็อกไว้ ทำได้เพียงรอผู้ที่จะสอบผ่าน จากการเปิดสอบของกรมฯ เท่านั้น

 

          การสอบคัดเลือกสายงานผู้บริหารท้องถิ่นเกิดขึ้นมาแล้ว 2 ครั้ง ในปี 2564 นี้เป็นการสอบครั้งที่ 3 ทว่าไม่สามารถจัดสอบได้ ถูกเลื่อนออกไปเนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ตำแหน่งที่ยังรอการจัดสรรตัวผู้บริหารนั้น ยังคงว่างอยู่อย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังไม่มีแนวโน้มจะดีขึ้น

 

           “ในตอนนี้ตำแหน่งสายงานผู้บริหารท้องถิ่นระดับกลางใน อบต. เทียบเท่าซี 8 ว่างอยู่ประมาณ 600 อัตรา ตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน มีผู้สอบได้ไม่ถึง 100 คน ตำแหน่งเหล่านี้ว่างมานาน 5-6 ปีแล้ว ทำให้เกิดปรากฏการณ์ เจ้าหน้าที่ระดับวิชาการหรือปฏิบัติการมารักษาการแทน”

           

          เกิดอะไรขึ้นกับการสอบเพื่อเลื่อนระดับสายงานบริหารที่จัดขึ้นโดยกรมฯ ทำไมจึงมีผู้ที่สอบผ่านน้อย ไม่เพียงพอต่อตำแหน่งที่ว่าง?

 

          ป.พิพัฒน์ ตั้งข้อสังเกตว่า  1. การออกข้อสอบไม่เป็นไปตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง เช่น การสอบตำแหน่ง ผอ.คลัง ที่เกี่ยวข้องกับการเงิน การบัญชี การจัดเก็บรายได้ แต่จัดให้สอบเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาขยะ หรือ ตำแหน่ง ผอ.กองช่างให้ไปสอบเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาขยะ ซึ่งเป็นงานของกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ปัญหาตรงนี้ไม่ทราบว่าเกิดจากอะไร แต่ข้อสอบไม่ตรงกับมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง

 

          2. การมีข้อสงสัยในการตรวจข้อสอบอัตนัย ว่าผู้ตรวจไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการบริหารงานท้องถิ่น เนื่องจากการจัดสอบโดยกรมฯ เป็นการว่าจ้างให้มหาวิทยาลัยเป็นผู้ดำเนินการสอบ การจัดสอบครั้งแรกเมื่อปี 2560 มีข้อครหาว่า ให้นักศึกษามาตรวจข้อสอบอัตนัย ข้อสอบอัตนัยหรือการตอบข้อสอบแบบเขียนบรรยาย เป็นการเขียนเชิงวิเคราะห์ ผู้ที่จะอ่านและเข้าใจได้ จะต้องมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ มากพอสมควร โดยเฉพาะผู้ตอบข้อสอบ ซึ่งเป็นผู้บริหารที่มีอายุ 40 -50 ปีขึ้นไป ไม่ถนัดเขียนตอบข้อสอบแบบยาว มักจะเขียนตอบสั้นๆ แต่เมื่อต้องไปตอบข้อสอบอัตนัยที่มีความยาวเป็นสิบหน้า จึงแทบจะไม่มีใครเขียนได้ อีกทั้งลายมือแต่ละคนก็มีความแตกต่างเฉพาะตัว อ่านยาก เมื่อผู้ตรวจข้อสอบเป็นนักศึกษา จึงกลายเป็นอ่านแล้วก็ทิ้ง จากคะแนนเต็ม 100 บางคนได้ 0 คะแนน บางคนได้เพียง 2- 3 คะแนน นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมมีผู้บริหารสอบเลื่อนตำแหน่งได้น้อย จากการจัดสอบโดยกรมฯ

 

          ตอนนั้นมีความพยามยามเรียกร้องให้มีการตรวจสอบเพื่อให้เกิดความชอบธรรม ด้านกรมฯ แจ้งว่าหน้าที่จัดการสอบเป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยผู้จัดสอบทั้งหมด ขณะที่มหาวิทยาลัยแจ้งว่า มีหน้าที่เพียงแค่รับจ้างมาดำเนินการให้ เมื่อต่างฝ่ายต่างไม่มีความรับผิดชอบ เรื่องจึงถูกปล่อยมาจนมีผลกระทบถึงปัจจุบัน

 

          ต่อมาในการสอบเลื่อนระดับครั้งที่ 2 พบปัญหาลักษณะเดียวกันกับการสอบในตำแหน่งปลัดกลาง ทำให้มีผู้สอบผ่านน้อย จากปัญหาในการสอบทั้ง 2 ครั้ง ทำให้จำนวนของผู้ที่สอบเลื่อนระดับได้มีน้อย ไม่เพียงพอต่อตำแหน่งที่ว่างลงเป็นจำนวนมาก

 

          “ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ที่ อบต.ตะคร้อ อ.ไพศาลี จ.นครสรรค์ ต้องให้นักพัฒนาชุมชน รักษาราชการแทนหัวหน้าสำนักปลัดอบต.รักษาราชการแทนปลัด อบต.ปฏิบัติหน้าที่ นายก อบต.ตะคร้อ ควบ 4 ตำแหน่งในคนเดียว หากการปฏิบัติหน้าที่เกิดความผิดพลาดขึ้นมา เขาจะต้องรับผิดใน 4 ตำแหน่งนี้ ตำแหน่งละกระทง ขณะที่เงินค่าตอบแทน จะได้เป็นเงินเดือนของตำแหน่งนักพัฒนาชุมชนเพียงตำแหน่งเดียว ไม่ได้เงินประจำตำแหน่งอื่นๆ ที่ต้องรักษาราชการแทน ใน อบต.แห่งนี้ไม่มีผู้ที่ดำรงตำแหน่งสายงานผู้บริหารเลยสักคนเดียว ไม่มีหัวหน้าส่วนการคลัง ไม่มีหัวหน้าสำนักปลัด ไม่มี ผอ.กองช่าง ไม่มีปลัด ไม่มีรองปลัดฯ ไม่มีนายก อบต.”

 

           “อีกแห่งหนึ่งที่สมควรยกเป็นตัวอย่างให้เห็นชัด คือจังหวัดมหาสารคาม ที่ปลัดและรองปลัด อปท. รวมถึงหัวหน้าสำนัก ผอ.กองต่างๆ หลายคนถูกคำสั่ง คสช. โยกย้ายไปประจำที่จังหวัด เนื่องจากถูกกล่าวหาว่ามีการทุจริตในเรื่องการสอบท้องถิ่นในช่วงปี 58-59 เฉพาะที่อยู่ในศาลากลางจังหวัดรวมแล้วประมาณ 50 คน คนเหล่านี้ได้เงินเดือนทุกเดือน ได้เลื่อนขั้น แต่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ให้ อบต.”

 

          “ประเด็นความเสียหายของราชการ ยกตัวอย่างเช่น การจัดซื้อจัดจ้างของ อปท.บางแห่ง เมื่อไม่มีปลัดทำหน้าที่ ก็ให้ ผอ.กองคลังทำหน้าที่รักษาราชการแทนปลัด และรักษาราชการแทน ผอ.กองช่าง เมื่อไม่มีปลัดทำหน้าที่คานอำนาจผู้บริหาร ซึ่งก็คือนายก อปท. ไม่มีผู้ชี้แจงให้ความเข้าใจในข้อจำกัดและกฎระเบียบต่างๆ ผลความเสียหายก็ปรากฏดังเช่นที่ในสื่อโซเชียลวิจารณ์กันดังที่ผ่านมา”

 

          หากเป็นสถานการณ์ปกติ ไม่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 การสอบเพื่อเลื่อนระดับ และนำไปสู่การโยกย้ายของสายงานผู้บริหารจะไม่มีปัญหา กระบวนการสามารถดำเนินไปได้ แม้จะช้ากว่าระบบเดิมที่ท้องถิ่นสามารถสอบกันเองได้ แต่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ไม่รู้ว่าการสอบจะดำเนินการแล้วเสร็จได้เมื่อไร ท่ามกลางปัญหาของระบาดของโรค ที่แพร่กระจายไปยังทุกจังหวัด ฝ่ายที่เรียกร้องให้มีการปลดล็อก ขอเวลาเพียง 30 วันที่จะคลายล็อกให้ตำแหน่งว่างเหล่านี้ ได้มีการโอนโยกย้าย เพื่อหาคนที่เหมาะสม ลงในตำแหน่งที่ว่าง เพื่อให้ อปท.ที่ขาดสายงานบริหาร สามารถขับเคลื่อนไปได้โดยผู้ที่มีความรู้ความสามารถตรงกับตำแหน่งหน้าที่

 

          “บางคนโอนย้ายไม่ทันกรอบเวลา 60 วัน เนื่องจากตำแหน่งที่ต้องการว่างลงในช่วง ที่อยู่ระหว่างการจัดเลือกตั้งนายกเทศมนตรี ประกอบกับทุกครั้งภายหลังการเลือกตั้งท้องถิ่นผ่านพ้นไป เมื่อ อปท.มีนายกคนใหม่เข้ามาทำงาน บางคนต้องการย้ายเนื่องจากปัญหาความอึดอัดใจระหว่างบุคคลที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเรื่องปกติของการทำงาน การขอปลดล็อกตรงนี้ จะช่วยให้บุคลากรสามารถย้ายตัวเองออกไปยังที่ที่มีความสบายใจ โดยเป็นการขอย้ายใน อปท.ประเภทเดียวกันเช่น อบต.ไปยัง อบต. เทศบาล ไปยัง เทศบาล ซึ่งแน่นอนว่าการทำงานในสถานที่ที่ซึ่งมีแต่ความไม่สะดวกใจ ย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำหน้าที่การงาน และการให้บริการประชาชน”

 

          “หากกรมฯ ไม่รู้ว่าจะสามารถจัดสอบได้เมื่อไร จะเป็นไปได้หรือไม่ หากจะช่วยปลดล็อกให้บุคลากรได้ขยับขยาย ย้ายตัวเองไปอยู่ในที่ที่เหมาะสม ซึ่งเป็นการย้ายไปลงในระดับเดิม และระหว่าง อปท.รูปแบบเดียวกัน ตรงนี้เป็นอำนาจของ ก.กลาง ซึ่งอยู่ภายใต้กรมฯ ที่สามารถดำเนินการได้เลย”

 

          อย่างไรก็ตาม ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการปลดล็อกตำแหน่งสายงานผู้บริหารในครั้งนี้ ให้เหตุผลว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างกระบวนการสอบและสรรหาผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งสายงานผู้บริหาร  ซึ่งแม้ว่าจะถูกเลื่อนจากพิษโควิด-19 แต่ยังคงดำเนินการอยู่ หากปลดล็อกตอนนี้ ผู้เข้าร่วมคัดเลือกที่หมายตาว่าจะสอบลงในพื้นที่นั้นๆ จะมาฟ้องร้อง ก.กลาง เนื่องจากทุกอย่างได้เข้าสู่กระบวนการแล้ว จะเปลี่ยนแปลงไม่ได้

 

          สำหรับการสอบสายงานผู้บริหาร ในสถานการณ์ปกติใช้เวลาตลอดกระบวนการราว 5 เดือน แต่สำหรับในปี 2564 ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 เริ่มเปิดรับสมัครเมื่อต้นเดือน ก.พ. 64 ปัจจุบันล่วงเลยมาแล้ว 5 เดือน เลื่อนสอบมาแล้ว 3 ครั้ง ยังไม่สามารถเริ่มดำเนินการสอบได้ ล่าสุดได้เลื่อนวันสอบไปเป็นวันที่ 31 ก.ค. 64 แต่ก็ยังต้องรอดูสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกครั้ง ซึ่งไม่รู้ว่ากระบวนการสอบครั้งนี้จะกินระยะเวลายาวนานอีกเท่าใด

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

สุดยิ่งใหญ่พิธีเปิด “นนทบุรีเกมส์ 2024”

สุดยิ่งใหญ่พิธีเปิด “นนทบุรีเกมส์ 2024”

อบจ.นนทบุรีจัดใหญ่กว่า 5 พันชีวิต ร่วมพิธีเปิดการแข่งขั…

schedule
สมาคมสันนิบาตปลุกพลัง คิดไกล คิดใหม่ เพื่อชาวเทศบาล

สมาคมสันนิบาตปลุกพลัง คิดไกล คิดใหม่ เพื่อชาวเทศบาล

สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย จัดการประชุมและการสัมม…

schedule
อบจ.นนทบุรี พร้อม! เจ้าภาพรอบคัดเลือกภาคกลาง “นนทบุรีเกมส์”

อบจ.นนทบุรี พร้อม! เจ้าภาพรอบคัดเลือกภาคกลาง “นนทบุรีเกมส์”

อบจ.นนทบุรี ประกาศความพร้อมเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬานักเ…

schedule
แจ้งข่าวดี! กรมการท่องเที่ยวจัดคอร์สเสริมพลังท้องถิ่น ด้านการท่องเที่ยวภาครัฐ

แจ้งข่าวดี! กรมการท่องเที่ยวจัดคอร์สเสริมพลังท้องถิ่น ด้านการท่องเที่ยวภาครัฐ

กรมการท่องเที่ยวจัดอบรมออนไลน์ ฟรี! เรื่อง “การเสริมพลั…

schedule

นิตยสารผู้นำท้องถิ่นออนไลน์ รวมข่าวสารอัพเดทของคนท้องถิ่น

ติดต่อเรา

อีเมล : [email protected]