close

หน้าแรก

menu
search

บรรเทาวิกฤต “ขยะมูลฝอย” บทบาทสำคัญของท้องถิ่น

schedule
share

แชร์

            ปัญหาขยะมูลฝอยและสิ่งแวดล้อมถือเป็นความท้าทายในการบริหารจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และเป็นปัญหาซ้ำซากที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งเกิดจากการบริหารจัดการขยะที่ไม่ถูกต้อง จนกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาโลกร้อน

           ทั้งนี้ วิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ที่ผ่านมา ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการผลิตและบริโภคไปอย่างมาก โดยการสั่งสินค้าและอาหารออนไลน์เพื่อความสะดวกสบายถือเป็นกระแสหลักในการบริโภคในปัจจุบัน และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจ การค้าขายสินค้าและผลิตภัณฑ์ อาทิ เปลี่ยนจากการขายสินค้า หน้าร้านเป็นการขายออนไลน์, เปลี่ยนแปลงบ้านพักอาศัยเป็นร้านอาหารออนไลน์/ร้านค้าออนไลน์ เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยในขับเคลื่อนให้มีปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนและขยะพลาสติกเพิ่มมากขึ้น

ปริมาณขยะมูลฝอยของภูมิภาค ปี 2566

           จากรายงานสถานการณ์ขยะมูลฝอยชุมชนของประเทศไทยปี 2566 ของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า ประเทศไทยมีขยะมูลฝอยเกิดขึ้นประมาณ 26.95 ล้านตัน หรือประมาณ 73,840 ตัน/วัน เฉลี่ย 1.12 กิโลกรัม/คน/วัน เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรตามทะเบียนราษฎร ปี 2566 ทั้งนี้ เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ประมาณร้อยละ 5 ที่มีปริมาณขยะมูลฝอย 25.70 ล้านตัน

           สำหรับปริมาณขยะมูลฝอย ภาคกลางมีปริมาณสูงที่สุด คิดเป็น 11.44 ล้านตัน/ปี เฉลี่ย 31,339 ตัน/วัน ซึ่งเป็นขยะมูลฝอยในพื้นที่กรุงเทพมหานครมากถึง 12,748 ตัน/วัน รองลงมาเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีปริมาณ คิดเป็น 6.52 ล้านตัน/ปี เฉลี่ย 17,873 ตัน/วัน ขณะที่ภาคใต้มีปริมาณ 3.54 ล้านตัน/ปี เฉลี่ย 9,705 ตัน/วัน ภาคตะวันออกมีปริมาณ 2.58 ล้านตัน/ปี เฉลี่ย 7,073 ตัน/วัน ภาคเหนือมีปริมาณ 1.67 ล้านตัน เฉลี่ย 4,582 ตัน/วัน และภาคตะวันตก 1.19 ล้านตัน เฉลี่ย 3,268 ตัน/วัน ซึ่งยังไม่นับขยะที่ตกค้างในแต่ละปีที่มีจำนวนนับหมื่นตันต่อปี

ภาพรวมการจัดการขยะมูลฝอย

           ด้านการจัดการขยะหน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้กำหนดมาตรการกำจัดขยะมูลฝอยขึ้น แต่กลับพบว่า กระบวนการในการจัดการขยะส่วนใหญ่ยังทำไม่ถูกวิธี รวมทั้งขั้นตอนและวิธีการกำจัดขยะก็ยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด การแก้ปัญหาขยะที่ต้นทางและการกำจัดขยะ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่ไม่ถูกต้อง ส่งผลให้เกิดการสะสมของขยะมูลฝอย ขยะสารเคมีที่เป็นอันตราย ขยะพลาสติก และอื่น ๆ กระจายอยู่ในพื้นที่บ่อขยะ พื้นที่ฝังกลบ และพื้นที่ที่มีการนำขยะไปเทกองรวมกัน รวมทั้งแม่น้ำ พื้นที่ทะเล พื้นที่ป่าไม้ ชุมชน และพื้นที่เมือง ตลอดจนการลักลอบปล่อยของเสียหรือกากอุตสาหกรรมของโรงงานอุตสาหกรรมก็ส่งผลให้เกิดมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนอีกด้วย

           เมื่อเทียบกับปี พ.ศ.2565 พบว่าในปี พ.ศ.2566 ปริมาณขยะมูลฝอยได้รับการกำจัดอย่างถูกต้องและการนำขยะมูลฝอยกลับมาใช้ประโยชน์ปี พ.ศ.2566 เพิ่มมากขึ้น อาจเนื่องจากการส่งเสริมรณรงค์ และผลักดันให้กับภาคประชาชน ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ และภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อปท. ในการเพิ่มศักยภาพด้านการลด คัดแยก และใช้ประโยชน์จากขยะมูลฝอยทั้งในระดับชุมชน และหลังจากการเก็บขนขยะมูลฝอย และการยกระดับสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยให้สามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมผลักดันอย่างเข้มข้นส่งผลให้ปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกจัดการอย่างถูกต้องมีแนวโน้มที่ดีขึ้น

           แม้ว่าแนวโน้มการกำจัดขยะอย่างถูกต้องจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ชุมชนยังคงมีปัญหาในการจัดการขยะที่ต้นทาง โดยการคัดแยกขยะมูลฝอยยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ เนื่องจากประชาชนนำไปทิ้งรวมกับขยะชนิดอื่น เพราะไม่มีเครื่องมือในการจัดการขยะเหล่านั้นด้วยตนเอง ทั้งนี้ สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยและสถานีขนถ่ายขยะมูลฝอยของ อปท. และเอกชนทั่วประเทศ ปี พ.ศ. 2566 มีสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่เปิดดำเนินงาน ทั้งสิ้น 2,079 แห่ง และสถานีขนถ่ายขยะมูลฝอย 36 แห่ง โดยรายละเอียดมีดังนี้

           – สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยซึ่งดำเนินการได้อย่างถูกต้อง จำนวน 114 แห่ง เช่น การฝังกลบอย่างถูกหลักวิชาการ หรือการฝังกลบแบบกึ่งใช้อากาศ การกำจัดโดยการเผาเพื่อผลิตพลังงาน การกำจัดโดยการเผาที่มีระบบบำบัดมลพิษอากาศ ระบบหมักทำปุ๋ยหรือหมักเพื่อผลิตก๊าซชีวภาพ ระบบผลิตเชื้อเพลิงขยะ จากการคัดแยกหรือการบำบัด แบบเชิงกล-ชีวภาพ และระบบผสมผสาน

           – สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยซึ่งดำเนินการไม่ถูกต้อง อีกจำนวน 1,965 แห่ง ประกอบด้วย การเทกองที่มีการควบคุม การเทกอง การเผากลางแจ้ง การกำจัดโดยการเผาไม่มีระบบบำบัดมลพิษอากาศ และการกำจัดที่มีการเทกองหรือเทกองที่มีการควบคุมภายใน สถานที่กำจัดขยะมูลฝอย

           – สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยและสถานีขนถ่ายขยะมูลฝอยที่เปิดดำเนินการ ทั้ง 2,115 แห่ง โดยจังหวัดที่มีจำนวนสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยและสถานีขนถ่าย ขยะมูลฝอยมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น 122 แห่ง จังหวัดเชียงราย 115 แห่ง จังหวัดชัยภูมิ 102 แห่ง จังหวัดแม่ฮ่องสอน 97 แห่ง และ จังหวัดลำปาง 85 แห่ง

ทิศทางการกำจัดขยะมูลฝอยของ อปท.

           กรมควบคุมมลพิษได้กำหนดแนวทางการยกระดับสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย ที่ดำเนินการกำจัดขยะอย่างไม่ถูกต้องทั่วประเทศ ทั้งในพื้นที่ป่าและพื้นที่ทั่วไปให้ดำเนินการได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม โดยร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) และหน่วยงานต่าง ๆ สนับสนุน อปท. ให้มีการปรับปรุงสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย รวมถึงจัดการขยะมูลฝอยตกค้างที่สะสมอยู่ในสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่กำจัดไม่ถูกต้อง พร้อมกับขับเคลื่อนการรวมกลุ่มพื้นที่ในการจัดการขยะมูลฝอย (Cluster) ของจังหวัด

           ปัจจุบัน กระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้ผลักดันผ่านแผนปฏิบัติการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” ประจำปี พ.ศ. 2566 ขึ้น โดยแผนปฏิบัติการฉบับนี้จะมุ่งเน้นการคัดแยกขยะมูลฝอยชุมชน โดยเฉพาะการจัดการขยะอินทรีย์หรือขยะเปียก ตามโครงการจัดทำถังขยะเปียก ลดโลกร้อนของ อปท. มุ่งเน้นสร้างความตระหนักและความรับผิดชอบของผู้บริโภค รวมทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชนในระดับครัวเรือน โดยจะเกิดประโยชน์ทั้งการลดขยะเปียก/ขยะอาหาร การลดงบประมาณในการจัดการขยะ อีกทั้งสามารถลดก๊าซเรือนกระจกที่จะปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ ผ่านเครือข่ายความร่วมมืออาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลกที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการเป็นผู้ขับเคลื่อนกิจกรรมเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่

           ในปี พ.ศ.2566 ได้ส่งเสริมการนำขยะบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่อีกด้วย การจัดการขยะอันตรายชุมชน การผลักดันการดำเนินการรวมกลุ่มพื้นที่ในการจัดการมูลฝอย (Clusters) ของ อปท. และพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของ อปท. ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

           อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสถานการณ์ขยะมูลฝอยที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเกิดจากการกำจัดขยะมูลฝอยอย่างไม่ถูกต้อง เนื่องจากไม่มีพื้นที่หรือพื้นที่ไม่เพียงพอสำหรับการกำจัดขยะมูลฝอย ขาดแคลนเครื่องมือ รวมถึงขาดความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ และขาดการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ เพื่อลดอัตราการเกิดขยะมูลฝอย ภาครัฐได้กำหนดทิศทางและแนวทางการจัดการขยะแก่ อปท. ผู้ที่เป็นด่านแรกในการรับมือและแก้ไขปัญหาดังกล่าว

           ดังนั้น ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดชุมชนและประชาชนมากที่สุดอย่าง อปท. จึงมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในการขับเคลื่อนชุมชนให้ดำเนินการกำจัดขยะตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ซึ่งผู้บริหารสูงสุดต้องมีนโยบายที่ชัดเจน ดำเนินงานร่วมกับภาครัฐและภาคประชาสังคม โดยภาครัฐเองก็ต้องมีแผนงานและงบประมาณในการจัดกิจกรรมลดปริมาณขยะ ส่วนภาคประชาสังคมต้องมีการสร้างกฎระเบียบขึ้นใช้ในพื้นที่ เพื่อการมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมลดปริมาณขยะ และกิจกรรมสร้างแรงจูงใจในการคัดแยกขยะ การบริหารจัดการขยะมูลฝอยของท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

เปิด! ศูนย์การแพทย์เทศบาลเมืองลาดสวาย พร้อมดูแลสุขภาพประชาชนถ้วนหน้า ‘หน่อง-ปลื้มจิตร์’ ร่วมเผยเทคนิคดูแลสุขภาพให้แข็งแรง และการฟื้นฟูร่างกาย
ภท. เปิดเวทีเวิร์กชอป เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.บ้านเกิดเมืองนอน

ภท. เปิดเวทีเวิร์กชอป เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.บ้านเกิดเมืองนอน

ภท. เปิดเวทีเวิร์กชอป เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.บ้านเกิดเมือ…

schedule
“อบจ.” อำนาจเงียบที่ทรงอิทธิพล

“อบจ.” อำนาจเงียบที่ทรงอิทธิพล

ความสำคัญของ อบจ. ผู้มีอำนาจสุดแกร่งและทรงอิทธิพล ด้วยบ…

schedule
สภาฯ คว่ำกฎหมาย พ.ร.บ.ที่ดินฯ เพิ่มอำนาจท้องถิ่นแก้ปัญหาหน้าบ้านประชาชน

สภาฯ คว่ำกฎหมาย พ.ร.บ.ที่ดินฯ เพิ่มอำนาจท้องถิ่นแก้ปัญหาหน้าบ้านประชาชน

สภาผู้แทนราษฎร ลงมติไม่เห็นชอบ พ.ร.บ.ที่ดินฯ อ้างความเห…

schedule

นิตยสารผู้นำท้องถิ่นออนไลน์ รวมข่าวสารอัพเดทของคนท้องถิ่น

ติดต่อเรา

อีเมล : [email protected]