นิวยอร์ก ซิตี้ – เมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 มกราคม 2565 นายเอริค อดัมส์ นายกเทศมนตรีเมืองนิวยอร์ก เห็นชอบกฎหมายท้องถิ่นฉบับใหม่ อนุญาตให้คนต่างด้าวและดรีมเมอร์กว่า 800,000 คน ในนิวยอร์ก มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งท้องถิ่นได้ในต้นปี 2566
ถือเป็นความท้าทายบทใหม่ของท้องถิ่นในสหรัฐอเมริกา ที่ต้องการผลักดันให้ประชากรที่ไม่ใช่พลเมืองอเมริกัน มีสิทธิมีเสียงในการร่วมพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง ทั้งนี้ ประเทศสหรัฐอเมริกา ต้องเผชิญกับปัญหาคนต่างด้าวเข้ามาทำงานแบบผิดกฎหมายมากกว่า 11 ล้านคน และในกลุ่มนี้มีจำนวนกว่า 2 ล้านคนที่เข้ามาอยู่อาศัยตั้งแต่วัยเยาว์ เติบโต เรียนหนังสือ และใช้ชีวิตไม่ต่างจากพลเมืองอเมริกัน เพียงแต่ไม่มีวีซ่า และไม่มีสถานะทางราชการรับรอง กลุ่มนี้ถูกเรียกว่า ดรีมเมอร์ (Dreamers) หรือแปลตรงตัวว่า นักล่าฝัน กลุ่มเยาวชนที่ต้องการผลักดันให้มีกฎหมายคุ้มครองสถานะของตนเอง
ที่ผ่านมามีมากกว่า 12 ชุมชนทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา ให้สิทธิคนต่างด้าวลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งระดับเทศบาล อยู่ในรัฐแมรีแลนด์ 11 ชุมชน และรัฐเวอร์มอนต์ 2 ชุมชน
แม้ในระดับท้องถิ่นจะเปิดโอกาสในการใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่ทว่าในระดับกลางและระดับรัฐ คนต่างด้าวยังไม่มีสิทธิเลือกประธานาธิบดี ผู้ว่าการรัฐ และสมาชิกสภาใดๆ
คณะกรรมการการเลือกตั้งของนิวยอร์กจะเริ่มดำเนินการวางแผนการเลือกตั้ง รวมถึงเตรียมร่างกฎหมายสำหรับการเลือกตั้งของกลุ่มคนต่างด้าวโดยเฉพาะ ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2565
สำหรับคนต่างด้าวที่จะมีสิทธิในการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ ต้องเป็นผู้ที่มีหลักฐานการพำนักอยู่อย่างถาวรไม่น้อยกว่า 30 วัน หรือเป็นผู้ที่มีใบอนุญาตทำงานในอเมริกา รวมถึงกลุ่มดรีมเมอร์ด้วย
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวในเมืองนิวยอร์ก ถือเป็นสัญลักษณ์ของชัยชนะครั้งสำคัญของกลุ่มคนต่างด้าวที่มีมากกว่า 7 ล้านเสียง หรือคิดเป็น 1 ใน 9 ของประชากรทั้งหมดของเมืองนิวยอร์ก หลังจากที่เผชิญความพ่ายแพ้มาหลายครั้ง
นายกเทศมนตรีเมืองนิวยอร์ก กล่าวว่า เขามุ่งมั่นและตั้งตารอกฎหมายที่จะนำพาคนนับล้านเข้าสู่วิถีประชาธิปไตย และเชื่อว่าคนนิวยอร์ก ควรจะมีสิทธิมีเสียงในการเลือกผู้แทนของตน นี่จึงเป็นเหตุผลที่ตนให้การสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการให้สิทธิคนที่ไม่ใช่พลเมืองอเมริกันเลือกตั้ง มองว่าสภาเทศบาลนิวยอร์กไม่มีอำนาจในการออกกฎหมายดังกล่าว แต่ควรจะผ่านฝ่ายนิติบัญญัติในระดับมลรัฐก่อน
ขณะที่บางรัฐ เช่น อลาบามา แอริโซนา โคโลราโด และฟลอริดา ก็มีความพยายามที่จะผลักดันกฎหมายในลักษณะเดียวกันกับเมืองนิวยอร์กเช่นกัน
ที่มา : www.latimes.com