นักวิชาการชี้สังคมไทยน่าเป็นห่วง ตั้งโจทย์ให้ท้องถิ่นคิดต่อ ทำอย่างไร ปชช. จะเข้าถึงการดูแลจากรัฐอย่างทั่วถึง พร้อมแนะแนวทางสร้างพลเมือง ขับเคลื่อนเมืองสู่ความยั่งยืน ย้ำหัวใจคือ “การมีส่วนร่วมของประชาชน”
เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 วิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น สถาบันพระปกเกล้า จัดสัมมนา “พลังท้องถิ่น สร้างพลเมือง ขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อการพัฒนา” และพิธีมอบรางวัลพระปกเกล้า ประจำปี 2566 และพิธีมอบรางวัล KPI NEW GEN สร้างสรรค์นวัตกรรมท้องถิ่น ณ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ
ภายในงานได้รับเกียรติจาก นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวต้อนรับและเปิดงานสัมมนาความสำคัญว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นหน่วยงานที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด โดยมีหน้าที่และบทบาทสำคัญในการพัฒนาและสร้างความเจริญให้แก่พื้นที่ ตลอดจนดูแลทุกข์สุขของประชาชนผ่านการจัดบริการสาธารณะต่าง ๆ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน
โดย รศ.ดร.อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ที่ปรึกษาเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงานความว่า วิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น เล็งเห็นถึงความสำคัญของ อปท. ที่จะหนุนเสริมการเมืองภาคพลเมืองให้เกิดขึ้นในสังคม นำไปสู่การตระหนักถึงสิทธิ เสรีภาพ และการมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่น
ทั้งนี้ ภายในงานมีการจัดเสวนาหัวข้อ“พลังท้องถิ่น สร้างพลเมือง ขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อการพัฒนา” โดย ดร.ถวิลวดี บุรีกุล รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า บริบทสังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรรวดเร็ว ภาพรวมอัตราการเกิดในประเทศลดลง คนสูงวัยเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นการจัดทำบริการสาธารณะจะมีรูปแบบของการเปลี่ยนแปลงแน่นอน แต่จะนำงบประมาณส่วนใดเข้ามาดูแล ซึ่งงบประมาณที่ท้องถิ่นได้รับมีไม่เพียงพอ
สถาบันพระปกเกล้าได้จัดทำโครงการวิจัยการเปลี่ยนแปลงของท้องถิ่น และท้องถิ่นในอนาคตจะมีรูปแบบอย่างไร ผลการวิจัยพบว่า เดิมประชาชนจะพึ่งพาครัวเรือนเป็นหลัก แต่ตอนนี้พึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น ฉะนั้นประชาชนจะพึ่งพาทุนและเทคโนโลยีจากภายนอก จึงเป็นหน้าที่ของท้องถิ่นที่จะต้องจัดการความเสี่ยงมายังองค์กรและหน่วยงาน ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี เพราะมีสิ่งต่าง ๆ จากภายนอกจำนวนมากเข้ามาภายในพื้นที่
ดร.ถวิลวดี ตั้งคำถามในการเสวนาว่า “ประชาชนทุกคนเหมือนกันหรือไม่ หากคิดว่าประชาชนเหมือนกันหมดทุกคน แสดงว่าท่านได้ทิ้งบางคนไว้ข้างหลัง และสร้างความเหลื่อมล้ำไว้ในชุมชนของท่านแล้ว” โดยให้เหตุผลว่ายังมีคนที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีเหล่านั้นอยู่ด้วย ท้องถิ่นจะทำอย่างไรให้ทุกได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง สิ่งที่สำคัญคือ การเสียสมดุลทางสังคม หากท้องถิ่นละเลยการดูแลประชาชน ท้องถิ่นนั้น ๆ จะเจอเข้ากับสังคมอมทุกข์ แต่ถ้าดูแลเรื่อย ๆ จะเป็นสังคมปนทุกข์ปนสุข และถ้าใส่ใจสร้างพลังประชาชนจะเกิดสังคมอุดมสุขแต่เป็นไปได้ยาก
สถาบันพระปกเกล้าจึงเสนอให้สร้างสังคมสมดุลยั่งยืน โดยท้องถิ่นต้องลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ซึ่ง การกระจายอำนาจจากส่วนกลาง การผ่อนคลายกฎระเบียบข้อบังคับ และการบริหารจัดการทุนวัฒนธรรมชุมชน แนวทางเหล่านี้จะช่วยลดความเสี่ยง และเอื้อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
ดร.ถวิลวดี กล่าวถึงสถานการณ์การมีส่วนร่วมของประเทศไทยในปัจจุบันว่า สังคมไทยต้องการการดูแลอย่างทั่วถึง เพราะทุกคนมีสิทธิ เสรีภาพ ไม่ควรทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งการมีส่วนร่วมของคนในสังคมทำให้ทุกคนได้รับโอกาสที่จะเข้าถึงการดูแลของรัฐ แต่สถานการณ์การมีส่วนร่วมของประเทศไทยในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นรูปแบบ Nominal ที่มีประชาชนเป็นตัวประกอบ คือ การจัดเวทีประชาชน แต่ประชาชนไม่ได้แสดงความเห็น เพียงแต่จัดกิจกรรมเพื่อสร้างความชอบธรรมเป็นสังคมที่ผู้บริหารท้องถิ่นคิดและประชาชนเป็นวัสดุ
ในขณะเดียวกัน หากประชาชนเป็นผู้ร่วมวางแผน สร้างกิจกรรมส่งเสริมการพัฒนาทักษะของประชาชน สร้างนวัตกรรมการมีส่วนร่วม ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจแทนที่จะเป็นผู้บริหารท้องถิ่น นี่คือกลไกในการมีส่วนร่วม เพราะประชาชนเป็นผู้สร้างโอกาสในการเปลี่ยนแปลงด้วยตนเอง การมีส่วนร่วมจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าทุกคนเฉื่อยชา ต้องกระตุ้นให้ประชาชนตื่นรู้ มีความกระตือรือร้น จนกลายเป็นจิตอาสาที่ให้ความร่วมมือในการพัฒนาชุมชน และในที่สุดจากจิตอาสาจะกลายเป็นแกนนำในการเดินหน้าขับเคลื่อนชุมชน
ดร.ถวิลวดี กล่าวเพิ่มเติมเรื่องนวัตกรรมท้องถิ่นว่า ในมุมมองของ อปท. ถ้าจะเริ่มพัฒนานวัตกรรมอย่างแรกคือ ต้องเปิดใจ สองคือ ต้องตระหนักและใส่ใจถึงความจำเป็น และสามสำคัญที่สุดคือ พร้อมที่จะทำงานร่วมกับภาคประชาชน เมื่อร่วมมือกับภาคประชาชนในการดำเนินกิจกรรม โครงการ หรือนวัตกรรมนั้น ๆ ก็จะประสบความสำเร็จ ดังนั้น ทุกภาคส่วนต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในการเดินหน้าไปด้วยพลังของพลเมือง เพื่อสร้างพลังท้องถิ่น
ด้าน ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการปกครองท้องถิ่น กล่าวถึงพัฒนาการการสร้างพลเมืองท้องถิ่นตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาว่า “ชุมชนเข้มแข็ง” ในบางครั้งชุมชนไม่ได้เข้มแข็งอยู่ก่อน จึงต้องสร้างพลเมืองขึ้น เพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม ดังนั้น การสร้างพลเมืองจำเป็นต้องมีกลไกขับเคลื่อนกระบวนการทำงานระหว่างพลเมืองกับท้องถิ่น ผ่านกิจกรรมการมีส่วนร่วมในชุมชน โดยแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ดังนี้
รูปแบบแรกคือ ผู้บริหารท้องถิ่นอยากริเริ่มบางอย่าง แต่ทำโดยลำพังไม่ได้ ต้องให้ภาคประชาสังคมหรือภาคพลเมืองเข้ามาช่วย ในภาคประชาสังคมต้องจัดตั้งขึ้นมาเพื่อที่จะให้เขามีกำลังมากพอที่จะเข้ามาช่วยหนุนนการเมืองของท้องถิ่นได้ โดยมีทั้งจัดตั้งเป็นองค์กร และไม่ต้องจัดตั้ง แต่เพียงแค่จัดพื้นที่ให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วม
อีกรูปแบบหนึ่งคือ ภาคประชาสังคมเข้มแข็งอยู่แล้วมีปัญหาและอยากแก้ไขปัญหา โดยมีท้องถิ่นเป็นตัวกลางในการแก้ไขปัญหา ยกตัวอย่าง ในปี 2546 – 2547 เทศบาลตำบลปริก หรือ องค์การบริหารส่วนตำบลปริก (อบต.) ในสมัยนั้น มีปัญหาเรื่องน้ำเสียจากโรงงานไหลผ่าน ต.ปริก ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน ส่งผลให้เกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างชาวบ้านกับโรงงาน ผู้บริหารท้องถิ่นทำหน้าที่เป็นคนกลาง จัดเวทีกลางให้ประชาชนกับโรงงานได้มาคุยกันว่าจะจัดการกับน้ำเสียอย่างไร ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบทบาทของท้องถิ่นที่ทำให้การเคลื่อนไหวภาคพลเมืองในพื้นที่แก้ปัญหาได้ เปลี่ยนวิธีการเคลื่อนไหวจากการเผชิญหน้ากันเป็นการจัดเวทีให้ได้คุยกัน
ทั้งนี้ สามารถกล่าวโดยสรุปได้ว่า ประชาชนในแต่ละพื้นที่จะก้าวขึ้นมาเป็นพลเมืองนั้นจะเกิดขึ้นเองไม่ได้ จำเป็นต้องมีกลไก วิธีการ และมีการหนุนเสริมให้ประชาชนเปลี่ยนขึ้นมาเป็นพลเมือง พลังของเมืองในการพัฒนาพื้นที่ต่าง ๆ ถ้าพลเมืองเกิดขึ้นในพื้นที่มาแล้ว ภารกิจต่าง ๆ ที่ อปท. จะทำตามเป้าหายในพื้นที่ของตนเอง ย่อมสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ศ.ดร.จรัส สังเกตเห็นว่า พัฒนาการนวัตกรรมท้องถิ่นสามารถแบ่งออกเป็นได้ 2 กลุ่มคือนวัตกรรมที่ท้องถิ่นสามารถทำเองได้โดยไม่ต้องยุ่งกับชาวบ้าน เป็นนวัตกรรมการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในเรื่องเล็กน้อย ไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนและประชาชนมักจะไม่ทราบ สำหรับท้องถิ่นขนาดใหญ่ หากมีงบประมาณมักจะจ้างบริษัทที่ปรึกษาเข้ามาดูแลระบบปฏิบัติการภายใน โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการ เช่น การพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสาร การพัฒนาคุณภาพบุคลากร การจัดโครงสร้าง
สำหรับนวัตกรรมกลุ่มที่สอง ท้องถิ่นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากชาวบ้าน มักจะเกี่ยวข้องกับการจัดบริการสาธารณะ ครึ่งหนึ่งท้องถิ่นสามารถทำได้ และจะไม่มีทางเกิดขึ้นถ้าอีกครึ่งชาวบ้านไม่เห็นด้วย โดยให้ชาวบ้านเป็นตัวแสดงหลักร่วมกับท้องถิ่น และหลายนวัตกรรมตัวแสดงหลักที่ขับเคลื่อนนวัตกรรมเป็นองค์กรภาคพลเมืองไม่ใช่ท้องถิ่น นวัตกรรมกลุ่มนี้พยายามแก้ปัญหาซ้ำซาก ซึ่งนักการเมืองท้องถิ่นส่วนใหญ่มักจะเลี่ยง เนื่องจากเป็นปัญหาที่แก้ยากและใช้ระยะเวลานานในการดำเนินการ เช่น เรื่องการจัดการขยะ น้ำเน่าเสีย การจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ซึ่งครึ่งหนึ่งของปัญหาเหล่านี้เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของชาวบ้าน หากชาวบ้านไม่เปลี่ยนพฤติกรรมก็แก้ปัญหาไม่ได้
อย่างไรก็ตาม การคิดนวัตกรรมไม่ยากเท่ากับการทำนวัตกรรมนั้น ๆ ให้สำเร็จ เพราะการจะทำนวัตกรรมให้สำเร็จนั้น ส่วนใหญ่ต้องมีการขับเคลื่อนโดยภาคประชาสังคมหรือพลเมือง รวมถึงองค์กรภาคีเครือข่ายต่าง ๆ แต่จะทำให้พลเมืองเข้ามาขับเคลื่อนอย่างไรนั้นก็เป็นสิ่งที่ยาก ข้อมูลต้องชัดเจน และกระตุ้นให้ชาวบ้านรับรู้ถึงปัญหาใกล้ตัว ส่วนตัวผู้นำต้องเป็นแรงผลักดันที่แข็งแกร่งที่ทำให้นวัตกรรมสามารถไปแก้ปัญหาในพื้นที่ได้อย่างชัดเจน
ศ.ดร.จรัส กล่าวในตอนท้ายว่า ข้อสรุปกระบวนการวิธีการจัดทำบริการสาธารณะของท้องถิ่นเริ่มเปลี่ยนไปจากอดีต กล่าวคือ อดีตท้องถิ่นจัดทำบริการนั้น ๆ เองตั้งแต่ต้นจนจบ แต่ปัจจุบันการจัดบริการสาธารณะท้องถิ่นไม่ได้จัดทำเองทั้งหมด ซึ่งผู้จัดบริการจริง ๆ คือ ภาคประชาชน ไม่ใช่ข้าราชการของท้องถิ่น โดยจัดตั้งเป็นองค์กรปฏิบัติการขึ้นมาในพื้นที่ ท้องถิ่นเพียงสนับสนุนงบประมาณ พร้อมฝึกอบรมและให้ความรู้ ดังนั้น จะเห็นได้ชัดว่า การจัดทำบริการสาธารณะเปลี่ยนจากท้องถิ่นเป็นองค์กรภาคพลเมืองมากขึ้น ท้องถิ่นเป็นเพียงผู้อำนวยการจัดทำภารกิจให้
“สำหรับสถานการณ์ในขณะนี้สิ่งเดียวที่จะเพิ่มขีดความสามารถของท้องถิ่นได้คือ ‘การสร้างพลเมือง’ เข้ามาช่วย การจะทำให้พลเมืองตื่นรู้คือ ข้อมูล ต้องเก็บข้อมูลและบอกกับเขา จัดเวทีคุยกันแล้วเราจะได้พลังจากประชาชนในพื้นที่ วิธีนี้เท่านั้นที่ท้องถิ่นจะไปรอด อย่าปิดประตูเรื่องพลเมืองเพราะเป็นทางออกที่จะออกได้ ถ้าปิดประตูนี้เท่ากับขังตัวเอง” ศ.ดร.จรัส กล่าว
ขณะที่ รศ.ดร.พีรดร แก้วลาย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าท้องถิ่นมีความซับซ้อนจากหลายเหตุผล เหตุผลหนึ่งคือ มีประชากรเมืองมากขึ้น ประชากรที่อยู่ในชนบทน้อยลง ในลักษณะเดียวกันชนบทหลายพื้นที่กลายเป็นเมือง เมื่อชนบทกลายเป็นเมืองจะมีการโตของภาคบริการ เหล่านี้คือปัจจัยที่ทุกท้องถิ่นกำลังประสบอยู่นอกจากนี้ปัจจุบันประชาชนรู้สิทธิ หน้าที่ของตนเองมากขึ้น และที่สำคัญคือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ปัจจุบันมีความตื่นตัวค่อนข้างมาก อยากเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาบ้านเมืองตนเอง
สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตคือ คนรุ่นใหม่มักย้ายไปอยู่เมืองอื่น สุดท้ายเมืองเดิมจะเต็มไปด้วยผู้สูงอายุ โจทย์ คือ ท้องถิ่นจะทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่เห็นโอกาสในท้องถิ่นของตัวเอง และเห็นการมีส่วนได้ส่วนเสียของบริการสาธารณะที่ อปท. ดำเนินการอยู่ว่าผู้ใดบ้างที่เป็นผู้ถือผลประโยชน์ ซึ่งมีคนหลายกลุ่มสามารถเข้ามามีบทบาทได้ ทำให้เกิดความยั่งยืนในทุกโครงการที่คิดไว้ ความสำเร็จของ อปท. ในปัจจุบันหลายโครงการไม่ได้เกิดจากการขับเคลื่อนของ อปท. แต่เพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นการทำงานของภาคีเครือข่ายด้วยกันทั้งสิ้น
“ดังนั้น ก่อนที่จะบอกว่าคนรุ่นใหม่ไม่สนใจ เราเปิดพื้นที่ให้เขามากเพียงพอหรือยัง เราทำให้เขาแสดงออก แสดงความคิดเห็น และมีความรู้สึกที่เป็นเจ้าของแล้วหรือยัง” รศ.ดร.พีรดร กล่าว
รศ.ดร.พีรดร ชี้ให้ท้องถิ่นพยายามมองภาพกิจกรรม โครงการ และการบริการสาธารณะให้เป็นลักษณะ “ห่วงโซ่” ซึ่งหมายความว่า ท้องถิ่นจะมองเห็นภาพผู้ที่มีเกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ จะพบว่า มีภาคีเครือข่ายจำนวนมากที่สามารถดึงให้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงาน ทั้งยังขยายขอบเขตการทำงานที่กว้างขึ้นด้วย
ทั้งนี้ ในบางครั้งบุคคลที่เข้ามามีส่วนร่วมอาจไม่ใช่ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้น ๆ เพียงอย่างเดียว อาจเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อื่น แต่จำเป็นต้องใช้พื้นที่นั้น ๆ อยู่เสมอ ซึ่งบุคคลเหล่านี้อาจให้ข้อมูลในประเด็นต่าง ๆ ที่ตอบโจทย์การพัฒนาของท้องถิ่นก็ได้ และในระยะยาวท้องถิ่นจะสามารถสานต่อภารกิจ โดยทำให้ภารกิจเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของคนรุ่นต่อไปได้อย่างไร คือโจทย์ที่ อปท. ต้องนำไปคิดต่อ และเป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างพลเมืองให้เข้มแข้งสำหรับท้องถิ่น
รศ.ดร.พีรดรกล่าวต่อว่ากระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design thinking) เป็นแนวคิดใหม่ ๆ อีกทั้งเป็นเครื่องมือที่นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมส่วนหนึ่งของ อปท. คือการพัฒนาบริการสาธารณะ รวมไปถึง Co Creation ที่สามารถช่วยต่อยอดการทำงานของ อปท. และพัฒนาไปสู่นวัตกรรมใหม่ ๆ ได้ด้วย ซึ่งกระบวนการนี้เริ่มที่คำว่า “เรา” ที่ประกอบด้วยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากหลายภาคส่วน เปิดโอกาสให้ทุกกลุ่มเข้ามาแลกเปลี่ยน ถกเถียง แสดงความคิดเห็นร่วมกัน และดำเนินภารกิจร่วมกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ผ่านการทดลองดำเนินภารกิจนั้น ๆ หลังได้ผลลัพธ์จากการทดลองจึงดำเนินการลงมือทำจริง โดยใช้งบประมาณไปปรับใช้ในพื้นที่จริงต่อไปดังนั้น เครื่องมือกระบวนการคิดเชิงออกแบบจะเป็นเครื่องมือใหม่ ๆ ที่จะทำให้ท้องถิ่นสร้างการมีส่วนร่วมและความเท่าเทียมได้มากขึ้น
“ท้องถิ่นเองผมคิดว่าจะต้องเปิดรับเครื่องมือใหม่ ๆ และทดลองเป็นผู้ใช้เครื่องมือไม่ใช่แค่พัฒนาการทางานของหน่วยงานเอง แต่ว่าเป็นการพัฒนาเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนให้สามารถอยู่กับเราไปได้ในระยะยาว” รศ.ดร.พีรดร กล่าว
สำหรับ นางสาวเพ็ญภัค รัตนคาฟู นายกเทศมนตรีตาบลเกาะคา จังหวัดลำปาง ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดประชาชนและรับรู้ถึงปัญหาความเดือดร้อนมากที่สุด ได้กล่าวถึงกลยุทธ์ในการสร้างพลเมืองในพื้นที่ว่า ถ้าต้องการพัฒนาเมือง สิ่งสำคัญคือ ต้องสร้างคนก่อน สร้างคนเพื่อพัฒนาเมือง ฉะนั้น เกาะคาจึงเริ่มต้นจากการวางเป้าหมายเมืองร่วมกันในโจทย์ “ทุกคนในเมืองอยากเห็นเมืองเป็นอย่างไรบ้าง” คำตอบที่ออกมาตรงกันว่า “อยากเป็นเมืองน่าอยู่” ดังนั้น การเป็นเมืองน่าอยู่จะต้องร่วมมือกันจากทุกภาคส่วน และการเปลี่ยนเมืองให้ได้ประสิทธิภาพที่สุด ต้องมีผู้นำการเปลี่ยนแปลง
เกาะคาเริ่มต้นจากการสร้างจิตสานึกสาธารณะผ่าน 4 กลไก ดังนี้ กลไกแรก สร้างการเรียนรู้ร่วมกันผ่านฐานข้อมูล กลไกที่สอง ฐานข้อมูลที่ได้นำไปสู่การสร้างการมีส่วนร่วมกัน กลไกที่สาม เน้นเรื่องของกระบวนการจัดการด้วยตัวเองที่เรียกว่า ชุมชนเข้มแข็ง และกลไกที่สี่ การถ่ายทอดสู่คนรุ่นหลัง นอกจากนี้ กลไกการสร้างการยอมรับเป็นอีกกลไกที่สำคัญ ทต.เกาะคา ทำงานบนฐานของธรรมาภิบาลในเรื่องการจัดการที่ดี เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ประชาชนเกิดการยอมรับ เกิดความเชื่อมั่นในการทำงานของเทศบาลจะทำให้ประชาชนกล้าเข้ามาทำงานร่วมกับเทศบาล
“เวทีข่วงผญ๋าขึ้น” พื้นที่ทางสาธารณะที่คนในชุมชนสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ โดยที่ไม่ถูกครอบงำจากผู้บริหาร นักการเมือง หรือข้าราชการ และสร้างนักวิจัยชุมชน จากการสำรวจผู้นำการเปลี่ยนแปลงในชุมชน หลังจากนั้นร่วมกับสถาบันการศึกษาจัดการอบรมให้ความรู้ พัฒนาเป็นนักวิจัยชุมชนที่รู้ว่าอะไรคือปัญหาของชุมชน อะไรคือปัญหาสาธารณะ นำไปสู่การเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน ผลลัพธ์ที่ได้คือ แผนชุมชน เทศบาลจะนำแผนชุมชนนาไปสู่การปฏิบัติ โดยพิจารณาแผนนั้น ๆ ชุมชนสามารถทำเองได้หรือไม่ ถ้าทำไม่ได้เทศบาลจะดำเนินการบรรจุเป็นเทศบัญญัติ ทำให้คนในชุมชนรู้สึกเป็นเจ้าของเมือง และโครงการที่ทุกคนช่วยกันคิดเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม สำหรับทุกกระบวนการของเกาะคา มักจะมีประชาชนอยู่ด้วยเสมอ สิ่งเหล่านี้เป็นกลยุทธ์ที่เกาะคาใช้ในการสร้างพลเมือง
นางสาวเพ็ญภัค กล่าวต่อว่า เกาะคาให้ความสำคัญกับข้อมูลเป็นอย่างมาก เมื่อประชาชนรับทราบข้อมูลจะก่อให้ความสนใจ และเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองร่วมกับเทศบาล ซึ่งการเกิดนวัตกรรมในบางครั้งสามารถขยายต่อไปสู่นวัตกรรมอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น โรงเรียนผู้สูงอายุ ต่อยอดเรื่องเศรษฐกิจ สร้างอาชีพแก่ผู้สูงอายุ ตลอดจนบริการสาธารณะและโครงสร้างพื้นฐาน
ทั้งนี้ เกาะคายังเป็นตัวอย่างเมืองหนึ่งที่ใช้แนวคิดเรื่องสังคมและชุมชนเป็นตัวขับเคลื่อนในการแก้ปัญหาและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเมือง ทุกปัญหาที่เกิดขึ้นคือ โอกาสในการเปลี่ยนแปลงเมือง การสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพจะเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน และที่สำคัญมันจะก่อให้เกิดการขับเคลื่อนชุมชนเข้มแข็ง
นอกจากนี้ นายภควัต อัจฉริยปัญญา ผู้อำนวยการวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น กล่าวถึงข้อความตอนหนึ่งจากผลงานของ ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทรวนิช ในช่วงท้ายว่า “การปกครองแบบรวมศูนย์อานาจเปรียบเหมือนห้องใหญ่ ๆ แต่มีไฟเพียงดวงเดียวส่องสว่างอยู่กลางห้อง แม้ดวงไฟนั้นจะสว่างสักเพียงใด ก็ย่อมไม่สามารถทาให้ทุกซอกทุกมุมของห้องได้รับแสงสว่างอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันได้ การกระจายอานาจเปรียบเหมือนการจุดไปดวงเล็กขึ้นทั่วทุกมุมห้องแม้จะเป็นไฟดวงเล็กแต่ก็ให้แสงสว่างอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันทั้งห้อง”