เทศบาลนครยะลา แถลงข่าวเปิดตัวแพลตฟอร์มการจัดการเมืองอัจฉริยะ ต่อยอด Big Data สู่การเป็น Smart City เต็มรูปแบบ หวังยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนทุกมิติ นับเป็นก้าวสำคัญของท้องถิ่นชายแดนใต้ การันตีด้วยรางวัลท้องถิ่นดิจิทัล 3 ปีซ้อน
วานนี้ (28 พ.ย. 2566) เทศบาลนครยะลา (ทน.ยะลา) จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวแพลตฟอร์มการจัดการเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ภายใต้กิจกรรม: การจัดการเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ในการยกระดับศักยภาพท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ โดยมีพันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธานในพิธีเปิดฯ พร้อมด้วย นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา ส่วนราชการ อปท. จาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนสื่อมวลชนในพื้นที่ร่วมงาน ณ อุทยานการเรียนรู้ยะลา (TK Park) อาคารศูนย์เยาวชนเทศบาลนครยะลา จังหวัดยะลา
พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า ครั้งนี้จะถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เราจะได้ร่วมทางกันในการก้าวไปสู่เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ไม่ใช่เพียงแต่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่จะกระจายลงไปสู่พื้นที่ต่าง ๆ ผ่านแพลตฟอร์มที่ง่ายและสะดวกต่อการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ที่ประเทศของเราได้มีการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีตเพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ต่อไป
นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าวว่า ในช่วง 6 – 7 ปีที่ผ่าน ทุกคนคงเคยได้ยินการพูดถึงเมืองอัจฉริยะหรือ smart city กันมาบ้าง และต้องยอมรับกันว่าตอนนี้เมืองเป็นปัจจัยสำคัญ ของการขับเคลื่อนของเศรษฐกิจในประเทศ เมื่อไหร่เมืองมีความมั่งคั่งประเทศก็จะมีความมั่นคง ดังนั้นในช่วงหลังๆจึงเริ่มมีการพูดถึงเมืองอัจฉริยะเข้ามา เพราะสุดท้ายแล้วก็ต้องเข้ามาถึงชุมชนและเข้าถึงประชาชนในอนาคต เทศบาลนครยะลาก็เริ่มต้นจากการไปขอรับการส่งเสริมจากทางดีป้า และจังหวัดยะลาก็เป็น 1 ใน 10 จังหวัดแรกของประเทศไทยที่ได้รับรางวัลเมืองอัจฉริยะหรือ smart city ซึ่งต้องยอมรับว่าในโลกยุคใหม่ การตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงการตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนภายใต้ทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด เช่นเวลาในการทำงาน ดังนั้นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาจึงมีความจำเป็นเพื่อทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด
สำหรับการจัดงานครั้ง ทน.ยะลา ได้บูรณาการร่วมกับ ศอ.บต. ส่วนราชการภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน พัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐให้มีศักยภาพ มีคุณธรรม จริยธรรม สู่กลไกการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและอำนวยความสุขให้เกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ได้อย่างแท้จริงจากการนำต้นทุนเดิมที่มีอยู่มาพัฒนาต่อยอด พร้อมนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยมาใช้ เพื่อช่วยในการบริหารจัดการและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ควบคู่ไปกับการดำเนินนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม จนต่อยอดเป็นโครงการต่าง ๆ มากมาย ทำให้จังหวัดยะลาก้าวสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะอย่างเต็มตัว และได้รับการคัดเลือกเป็นเมืองนำร่องในการพัฒนาพื้นที่เมืองอัจฉริยะ (Smart City) จนได้รับรางวัลท้องถิ่นดิจิทัลจากสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล 3 ปีซ้อน (2564 – 2566) ซึ่งนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน
โดย ทน.ยะลา ได้ร่วมมือกับ บริษัท เบดร็อค อนาไลติกส์ จำกัด (Bedrock) พัฒนาขับเคลื่อนเทศบาลด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) อย่างเต็มรูปแบบ โดยจัดเก็บและอัปเดตข้อมูลปัจจุบันเพิ่มเติม ยกระดับการบริหารจัดการและการบริการที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ต่อยอด Big Data ที่มีอยู่เดิมของเทศบาล ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ได้แก่
1.โดรนหรืออากาศยานไร้คนขับ ใช้ในการจัดเก็บข้อมูลทางอากาศ ทั้งที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง ระดับความสูงต่ำของพื้นที่ สภาพพื้นผิวถนน และทางเท้า
2.ระบบจัดทำแผนที่แบบเคลื่อนที่ (Mobile Mapping Systems: MMS) ใช้ในการจัดเก็บข้อมูลภาคพื้นดิน ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ป้ายโฆษณา และที่ดิน
3.ระบบการนำเข้าข้อมูลที่ครบถ้วนและถูกต้อง โดยนำข้อมูลที่มีทั้งหมดมาจัดเก็บ อัปเดต และป้อนข้อมูลเข้าระบบให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง
จากความร่วมมือระหว่าง ทน.ยะลา กับ Bedrock ที่ดำเนินการพัฒนาและเผยแพร่แพลตฟอร์มอัจฉริยะ พัฒนาการบริหารจัดการร่วมกับเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ในการวิเคราะห์ วางแผน ติดตามผล แก้ปัญหา ตลอดจนบริหารจัดการเพื่อพัฒนาพื้นที่ให้เป็นเมืองอัจฉริยะ โดยแพลตฟอร์มประกอบไปด้วย
1.แพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมือง (CDDP) ระบบรวบรวม จัดเก็บ และแสดงผลข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการ การบริการ และโครงสร้างพื้นฐานภายในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของเทศบาลนครยะลา เพื่อนำมาใช้ในวางแผนการพัฒนาให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและประชากร
2.ระบบบริหารจัดการภัยพิบัติ ระบบวิเคราะห์ คาดการณ์ และวางแผนรับมือภัยพิบัติภายในพื้นที่ที่กำหนด โดยเทศบาลนครยะลานำมาช่วยในการคาดการณ์และวางแผนรับมือภัยพิบัติ พร้อมเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบได้อย่างทันท่วงที
3.ระบบรับแจ้งเหตุและจัดการปัญหาออนไลน์ ระบบรับแจ้งเหตุ ร้องเรียน และติดตามสถานะในการแก้ไขปัญหาออนไลน์ ที่ประชาชนสามารถแชร์พิกัดแจ้งเหตุได้ง่าย พร้อมมีระบบรับเรื่องและติดตามสถานะแบบอัตโนมัติ โดยเทศบาลนครยะลานำมาใช้อำนวยความสะดวกในการรับแจ้งเหตุและร้องเรียนออนไลน์ เพื่อยกระดับการแก้ปัญหา เพิ่มการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ขณะเดียวกันก็ช่วยลดขั้นตอนการทำงานให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการทั้งการตรวจสอบปัญหา พิกัดที่ได้รับร้องเรียน และมีระบบส่งต่อเรื่องภายในหน่วยงานได้สะดวก
4.ระบบภาษีอัจฉริยะ (Smart Municipal Tax) ระบบแสดงผลข้อมูลการสำรวจที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และป้าย พร้อมมี AI ประมวลผลที่แม่นยำ ทำให้สามารถจัดเก็บภาษีได้อย่างถูกต้องและครบถ้วน โดยเทศบาลนครยะลานำมาใช้ในการจัดเก็บภาษีท้องถิ่น ทำให้เกิดความรวดเร็วและถูกต้องครบถ้วน
5.ระบบขออนุญาตและควบคุมอาคารอัจฉริยะ ระบบจัดเก็บ Big Data เพื่อใช้ในการขออนุญาตก่อสร้างอาคารออนไลน์แบบครบวงจรที่รอบคอบและรัดกุม โดยเทศบาลนครยะลานำมาใช้บริการประชาชนในการยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างอาคาร ติดตาม และทราบผลอนุมัติผ่านออนไลน์ โดยมี AI ช่วยลดขั้นตอนและเวลาในตรวจสอบคำขอ พิจารณาคำขอ อนุมัติคำขอ ไปจนถึงขั้นตอนการออกใบอนุญาตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย เช่น การบรรยายความคืบหน้าต้นแบบการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของเทศบาลนครยะลา ภายใต้หัวข้อ “เทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ” กิจกรรมเสวนาในหัวข้อ “การขับเคลื่อนท้องถิ่นไทยสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่” และ “การขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะสำหรับท้องถิ่นไทยด้วยเทคโนโลยีและข้อมูล” รวมไปถึงการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้ซักถาม หรือเสนอแนะข้อคิดเห็นต่าง ๆ เพื่อร่วมกันพัฒนาเมืองให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน