พลเอกประยุทธ์ มอบรางวัลรัฐบาลดิจิทัลประจำปี 2565 หนุนทุกหน่วยงานใช้เทคโนโลยีดิจิทัลขับเคลื่อนเพื่อเป็นรัฐบาลดิจิทัลให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ด้านเทศบาลนครยะลา 1 ใน 3 อปท.ที่มีผลงานนวัตกรรมดิจิทัลประเภทยอดเยี่ยมภายใต้โครงการ YALA Resilience City พร้อมลุยงานดิจิทัลอีก 4 ด้านขึ้นแท่นเมืองอัจฉริยะสมบูรณ์แบบ
เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานมอบรางวัลรัฐบาลดิจิทัล ประจำปี 2565 “DG Awards 2022” ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยแบ่งรางวัลรัฐบาลดิจิทัล ประจำปี 2565 ออกเป็น 4 ประเภทจำนวน 50 รางวัล และรางวัลโครงการประกวดนวัตกรรมท้องถิ่นดิจิทัล จำนวน 3 รางวัล รวมทั้งสิ้น 53 รางวัล
พลเอกประยุทธ์ กล่าวภายหลังมอบรางวัลว่า เคยมอบนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ไปแล้วเพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานให้หน่วยงานทุกหน่วยงานนำไปขับเคลื่อน หลังจากที่ได้ศึกษาแล้วว่าโลกกำลังเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคดิจิทัล ดังนั้นทุกคนจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานและนำเทคโนโลยียุคดิจิทัลมาใช้งานให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ และที่สำคัญการใช้ดิจิทัล ต้องมีความปลอดภัย ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด ย้ำอีกว่าที่ผ่านมารัฐบาลได้ขับเคลื่อนงานดิจิทัลอย่างต่อเนื่องเพื่อทำให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล พร้อมกันนี้ยังฝากองค์กรส่วนท้องถิ่นที่ใกล้ชิดประชาชน ต้องสร้างความเข้าใจในเรื่องนี้และใช้ดิจิทัลในการบริการประชาชนให้มีประสิทธิภาพ พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยการกระจายอำนาจให้ และบางท้องถิ่น บางจังหวัด ยังจำเป็นที่จะต้องได้งบประมาณสนับสนุนเพิ่มเติมเนื่องจากมีรายได้แตกต่างกัน
นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลาเป็น 1 ใน 3 อปท.ที่มีผลงานนวัตกรรมดิจิทัล ประเภทยอดเยี่ยม ภายใต้โครงการ YALA Resilience City (ยะลา เมืองยืดหยุ่น ยั่งยืน) เข้ารับถ้วยรางวัลความก้าวหน้ารัฐบาลดิจิทัลที่ยิ่งใหญ่แห่งปี “Digital Government Awards 2022” จากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า เทศบาลนครยะลามีทิศทางและเป้าหมายมุ่งพัฒนาขับเคลื่อนเทศบาลด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) อย่างเต็มรูปแบบ สร้างจุดขายของเมือง และสร้างเมืองให้สอดคล้องกับทิศทางของโลก โดยสร้างจุดขายของเมืองและสร้างเมืองให้สอดคล้องกับทิศทางของโลก โดยทำงานบนฐานของประชาชนเป็นหลักซึ่งมุ่งขับเคลื่อนการพัฒนาผ่านโครงการ 4 ด้าน ประกอบด้วย 1.การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) มุ่งใช้เทคโนโลยีนวัตกรรม เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน 2.การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) มุ่งยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิต และมาตรฐานด้านความปลอดภัยให้กับประชาชนในพื้นที่ 3.สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) มุ่งพัฒนาจุดเด่นของเมืองยะลาด้านการเป็นเมืองสีเขียว ผังเมืองสวย และเมืองแห่งความสะอาด 4.เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) มุ่งใช้ต้นทุนอัตลักษณ์ในพื้นที่ และการใช้นวัตกรรมขับเคลื่อน ให้เกิดการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่รองรับการขยายตัวของธุรกิจดิจิทัล และเสริมมูลค่าให้กับตลาดการค้าการลงทุน และตลาดแรงงานในพื้นที่
นายกเทศมนตรีนครยะลา ระบุด้วยว่า YALA Resilience City เป็นระบบเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างเมืองกับประชาชน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล ที่มีการให้บริการจริง ช่วยพัฒนาคุณภาพการให้บริการที่ดีขึ้น ควบคู่กับการบริหารจัดการเมืองโดยใช้ทรัพยากรของเมืองให้คุ้มค่าและประหยัดที่สุด
“เทศบาลนครยะลา เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีโครงสร้างขององค์กรในรูปแบบกระจายอำนาจ หน้าที่ ตามภารกิจ โดยอยู่ในลักษณะของสำนักและกอง จึงทำให้ข้อมูลต่างๆ ถูกจัดเก็บในรูปแบบแยกส่วน ที่เป็นอิสระต่อกัน ส่งผลให้ผู้บริหารขาดข้อมูลที่พร้อมสำหรับการวิเคราะห์ การตัดสินใจ และการออกนโยบาย ที่อยู่บนพื้นฐานของข้อมูล รวมถึงประชาชนไม่ได้รับความสะดวกสบายในการติดต่อสอบถามหรือเข้าถึงข้อมูลบริการต่างๆ ดังนั้น เทศบาลนครยะลา จึงได้จัดทำระบบรวมศูนย์ข้อมูลสำหรับผู้บริหาร (Mayor Dashboard) และสำหรับประชาชน (Citizen Dashboard) พร้อมทั้งระบบโต้ตอบข้อความอัตโนมัติ (Chatbot) เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว” นายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าว