close

หน้าแรก

menu
search

ท้องถิ่นดิจิทัล เพิ่มคุณภาพการบริการ

schedule
share

แชร์

          สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย จัดการประชุมและการสัมมนาทางวิชาการ ครั้งที่ 1/2567 ประจำปี พ.ศ.2567 ระหว่างวันที่ 4 – 6 มกราคม 2567 เพื่อพัฒนาบุคลากร และเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของเทศบาล ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ โดยภายในงานมีการบรรยาย เรื่อง “การเพิ่มประสิทธิภาพการบริการประชาชนสู่ท้องถิ่นดิจิทัล” โดย ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล

          ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เปิดประเด็นการบรรยายด้วยผลลัพธ์สำคัญ 3 ประการสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ประการแรก การบริการประชาชน ทำให้บริการประชาชนสามารถทำผ่านออนไลน์ได้ ประการที่สอง เปิดข้อมูลให้ประชาชนตรวจสอบได้ (Open Data) เกิดเป็นข้อมูลดิจิทัลและประชาชนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ และประการสุดท้าย การพัฒนาองค์กรและบุคลากรอย่างต่อเนื่อง

          สุพจน์ กล่าวว่า อปท. ไม่ต้องจัดซื้อจัดจ้างเอง ค่าใช้จ่ายน้อย ลดความกังวลเรื่อง Data System ความมั่นคงปลอดภัย เพราะผู้ที่ดูแลให้คือ เจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องดิจิทัลโดยตรงของ DGA โดยระบบดังกล่าวจะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง บริการใหม่ ๆ จะเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ภายใต้ค่าใช้จ่ายเดิม เพราะเป็นระบบที่ DGA จัดทำขึ้นเพื่อให้หน่วยงานรัฐดูแลหน่วยงานรัฐ การที่ อปท. ใช้ระบบดังกล่าวแทนที่จะพัฒนาระบบเอง ระบบดังกล่าวจะช่วยให้ท้องถิ่นสามารถก้าวสู่ความเป็นดิจิทัลได้เร็วขึ้น

          ทั้งนี้ ระบบของ DGA พร้อมให้ใช้ในทุกบริการ DGA พร้อมเข้าไปสนับสนุน จัดการอบรม และแนะนำการใช้งานให้กับทุกพื้นที่ ซึ่งไม่ได้บังคับ แต่เป็นเรื่องของความสมัครใจ

          สุพจน์ เปิดเผยว่า กว่าร้อยละ 71.05 ของจังหวัด พบเจอปัญหาอุปสรรคที่ส่งผลให้การพัฒนาจังหวัดไปสู่องค์กรรัฐบาลดิจิทัล โดยอุปสรรคส่วนใหญ่ที่พบเจอคือ ด้านศักยภาพ ความสามารถและทักษะด้านดิจิทัลของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงาน ร้อยละ 57.89 และด้านงบประมาณ ร้อยละ 53.95 นอกจากนี้ ยังพบปัญหาการเชื่อมโยงระบบและข้อมูลภายในและภายนอกหน่วยงาน ร้อยละ 42.11 ด้านความมั่นคงปลอดภัยของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและข้อมูล ร้อยละ 30.26 ด้านการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล ร้อยละ 26.32 ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและการนำไปใช้ ร้อยละ 25 ด้านนโนบายและแนวทางปฏิบัติด้านดิจิทัล ร้อยละ 23.68 ด้านการบูรณาการและความร่วมมือกันกับ หน่วยงานภายนอก ร้อยละ 18.42 ด้านกฎหมาย/ระเบียบ ร้อยละ 10.53 และอื่น ๆ อีก ร้อยละ 1.32

          สุพจน์ กล่าวว่า ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น DGA ได้จัดทำข้อเสนอแนวทางเชิงนโยบาย โดยมีรายละเอียดดังนี้ ด้านข้อมูล ผลักดันให้หน่วยงานมีการพัฒนาด้านธรรมาภิบาลข้อมูล มีข้อมูลเปิดที่ได้มาตรฐาน ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ข้อมูล และมีมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่รัดกุมปลอดภัย

          ด้านการส่งเสริมทักษะดิจิทัล มุ่งเน้นการติดตามประเมินผลการส่งเสริมด้านความรู้ทักษะด้านดิจิทัลควบคู่ไปกับการสร้างความตระหนักรู้ถึงสถานการณ์การพัฒนาของบุคลากรในหน่วยงาน

          ด้านการดิจิทัล ขยายการให้บริการดิจิทัลอย่างทั่วถึง เข้าใจประชาชนกลุ่มเปราะบาง พัฒนาบริการ สร้างความตระหนักรู้ให้แก่ผู้ที่ยังเข้าไม่ถึงบริการ ผ่านการประชาสัมพันธ์ และการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ

          ด้านความมั่นคงปลอดภัย เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ขยายผลให้เกิดการดำเนินการตามมาตรฐานทั้งหน่วยงานต้นสังกัดและใต้สังกัด พร้อมกระตุ้นให้เกิดการเชื่อมต่อกับระบบกลางภาครัฐ

          สำหรับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สุพจน์ ได้อธิบายว่า มีการประกาศใช้ พ.ร.บ. การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2565 เพื่อเอื้อการทำงานของผู้บริหารและความสะดวกที่มากขึ้นของประชาชน ซึ่งเป็นกฎหมายคู่แฝดกับ พ.ร.บ. การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ.2562 ที่เป็นกฎหมายรองรับ “สิทธิได้รู้” ของประชาชน โดยได้กำหนดสิทธิในการรับข้อมูลข่าวสารของราชการและได้กำหนดหน้าที่ของหน่วยงานของรับและเข้าหน้าที่ของรัฐให้ปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อรองรับและคุ้มครองสิทธิของประชาชนไปพร้อมกัน เพื่อมุ่งเน้นไปที่เรื่องของข้อมูล และเป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัล เข้ามาใช้บริหารงานภาครัฐและงานบริการสาธารณะ โดยบูรณาการข้อมูลภาครัฐเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการประชาชน

          ทั้งนี้ พ.ร.บ. การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2565 ตั้งแต่ต้นจนจบทุกขั้นตอนต้องเป็นอิเล็กทรอนิกส์ ประกาศออกมาเพื่อเป็นอีกทางเลือก ไม่ได้ล้มเลิกการปฏิบัติงานราชการในรูปแบบเดิม รูปแบบเดิมยังใช้ได้อยู่เช่นเดิม เพียงแต่ พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นอีกทางเลือกเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ลดภาระเอกสาร ลดเวลาติดต่อราชการ ลดการเดินทางและลดค่าใช้จ่าย เพิ่มประสิทธิภาพ การทำงานและการให้บริการ ลดการสัมผัส โปร่งใส ตรวจสอบได้ สร้างการมีส่วนร่วม

          นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายที่สำคัญอีก เช่น พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558, พ.ร.บ. ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม, พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ.2562 และ พ.ร.บ. พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูล ส่วนบุคคล พ.ศ.2562

          สุพจน์ กล่าวต่อว่า ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นคือ การให้บริการประชาชน เพราะต้องขออนุมัติ อนุญาต แต่งานของเทศบาลไม่ได้มีเพียงการบริการประชาชน เทศบาลต้องดูแลสารทุกข์สุกดิบของประชาชนด้วย จึงเป็นสาเหตุที่ DGA จัดประกวดให้รางวัลยกย่องชื่นชมเทศบาลที่มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปแก้ปัญหาของประชาชนในมิติอื่น ๆ ด้วย เช่น

          กรณีเทศบาลนครยะลา โครงการ Big Data เพื่อพัฒนาคุณภาพบริการ ซึ่งเป็น อปท. ที่มีโครงสร้างขององค์กรในรูปแบบกระจายอำนาจหน้าที่ตามการกิจของสำนักและกอง จึงทำให้ข้อมูลต่าง ๆ ยังถูกจัดเก็บในรูปแบบแยกส่วน (Silo) ขาดการเชื่อมโยงระหว่างกัน ส่งผลให้ผู้บริหารไม่สามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเมืองสำหรับการคาดการณ์วางแผน ติดตามผล และแก้ไขปัญหา ต่าง ๆ ของเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ สูงสุด จึงนำเทคโนโลยีโดรบและใช้รถ Mobile Mapping System ในการเก็บข้อมูล เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มที่ใช้เทคโนโลยี AI มาช่วยในการทำงานของเจ้าหน้าที่ ลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน ช่วยให้การบริการประชาชนได้รวดเร็วขึ้นรวมถึงช่วยในการวางแผนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแพลตฟอร์มประกอบด้วย

1) แพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมือง (CDDP) รวบรวม จัดเก็บ และแสดงผลข้อมูลโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อวางแผน การพัฒนาให้สอดรับกับการเจริญเติบโตของชุมชม สังคม และประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป

2) ระบบบริหารจัดการภัยพิบัติ ช่วยวางแผนรับมีอุภัยพิบัติได้ทันท่วงที ให้ความช่วยเหลือตามลำดับความสำคัญ และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ

3) ระบบรับแจ้งเหตุและจัดการปัญหาออนไลน์ ยกระดับการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้ช่วยสอดส่องดูแลเมือง เพื่อให้เมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน

4) ระบบขออนุญาตและควบคุมอาคารอัจฉริยะ ยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างแบบครบวงจร ติดตามและรอผลอนุมัติผ่านระบบออนไลน์

5) ระบบภาษีอัจฉริยะ ยกระดับการบริการูประชาชนในการจัดเก็บภาษีให้รวดเร็ว ถูกต้อง ครบถ้วน และมีประสิทธิภาพ

          และกรณีเทศบาลตำบลครึ่ง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย โครงการบริหารจัดการขยะแบบบูรณาการ บนพื้นฐานดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างยั่งยืน (แอพพลิเคชั่น “ถังเงิน ถังทอง”) ปัญหาขยะมูลฝอยในชุมชนนับว่าเป็นปัญหาสำคัญ และมีแนวโน้มเพิ่มปริมาณมากขึ้นทุกปี เทศบาลตำบลครึ่ง จึงเกิดนโยบายการบริหารจัดการขยะ โดยบูรณาการร่วมกับภาคเอกชนและประชาชนในพื้นที่เกิดเป็นโครงการบริหารจัดการขยะแบบ บูรณาการบนพื้นฐานดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างยั่งยืน เพิ่มแรงจูงใจให้กับประชาชนในการคิดแยกขยะเปียกออกจากขยะแห้งแปลงเป็นเงิน โดยใช้กระบวนการจัดการขยะมูลฝอยอย่างครบวงจร ประกอบด้วย

  • ต้นทาง คือ บ้านเรือน ชุมชุน เข้าแอปพลิเคชัน ตรวจสอบราคา และเรียกพนักงานเก็บขนขยะมารับที่บ้านได้
  • กลางทาง ทำหน้าที่รับขยะตามบ้านเรือน เพื่อส่งไปยังศูนย์วิสาหกิจชุมชน
  • ปลายทาง ทำหน้าที่สนับสนุนซอฟต์แวร์ อุปกรณ์อื่น ๆ อีกทั้งรับซื้อขยะจากสมาชิก และเป็นศูนย์กลางในการติดต่อประสานงานโรงงานปลายทาง และส่งเสริมกิจกรรมการคัดแยกขยะในชุมชน

          โครงการบริหารจัดการขยะแบบบูรณาการบนพื้นฐานดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างยั่งยืน จึงถือเป็นนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาเชื่อมโยงกับประชาชนให้เข้าถึงการบริหารจัดการขยะได้อย่างความสะดวก รวดเร็ว และประชาชนมีรายได้เสริมสร้างแรงจูงใจให้เกิดการ คัดแยกขยะเพิ่มขึ้น นำไปสู่การเปลี่ยนวิธีคิดในการทิ้ง และเมื่อขยะถูกนำไปบริหารจัดการอย่างถูกต้อง ขยะก็จะไม่เป็นขยะอีกต่อไปลดมลพิษและยังรักษาสิ่งแวดล้อม ตอบสนองนโยบายรัฐบาลด้านการพัฒนาเมืองและชุมชนอย่างยั่งยืน

          ทุกคนในองค์กรต้องตระหนักว่าตนเองคือ ผู้นำในทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยทักษะที่สำคัญ 5 ข้อ ได้แก่ ผู้นำต้องปรับตัวยืดหยุ่นตามสถานการณ์ (Adaptive Leadership) ความฉลาดทางอารมณ์ (Emphasis on Emotional Intelligence) ผู้นำที่ขับเคลื่อนด้วยจุดมุ่งหมาย (Purpose – Driven Leadership) ทักษะการทำงานระยะไกล (Remote Leadership Skills) ทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Technology and Data Literacy)

          กุญแจความสำเร็จสู่รัฐบาลดิจิทัล (Key Success Factor for Digital Government) ประกอบด้วย People “คน” สำคัญที่สุด Process ทุกคนต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานเดิมให้สั้นกระชับ และ Technology การนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ โดยเลือกใช้เทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ขององค์กร

          “การขับเคลื่อนให้เกิดรัฐบาลดิจิทัลเป็นความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ อปท. สามารถทำได้ อย่าคิดว่าทำไม่ได้ แม้จะยากแค่ไหนก็ตาม ถ้าเราเริ่มสามารถทำได้แน่นอน สุดท้ายฝากความหวังไว้กับทุกท่านในฐานะที่เป็นกลไกสำคัญของ Key Success Factor for Digital Government แล้วทุกคนจะสามารถก้าวไปสู่รัฐบาลดิจิทัลได้อย่างสมบูรณ์แบบ” สุพจน์ กล่าวในตอนท้าย

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

‘มหกรรมว่าวสงขลา’ การละเล่นพื้นบ้านผสมแบบสากล ดึงดูดนักท่องเที่ยว

‘มหกรรมว่าวสงขลา’ การละเล่นพื้นบ้านผสมแบบสากล ดึงดูดนักท่องเที่ยว

อบจ.สงขลา เปิดงาน “มหกรรมว่าวสงขลา” นำภูมิปัญญาท้องถิ่น…

schedule
ทต.ด่านเกวียน ชวนเที่ยว “วิถีชาวดิน ถิ่นงานปั้น 2567”

ทต.ด่านเกวียน ชวนเที่ยว “วิถีชาวดิน ถิ่นงานปั้น 2567”

ทต.ด่านเกวียน จัดแถลงข่าว “โครงการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้อง…

schedule

ยอดรวมสมัคร ‘ส.ท.-นายกเทศมนตรี’ วันแรกเฉียด 6 หมื่นคน

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการการ…

schedule

ยอดรวมสมัคร ‘ส.ท.-นายกเทศมนตรี’ วันแรกเฉียด 6 หมื่นคน

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการการ…

schedule

นิตยสารผู้นำท้องถิ่นออนไลน์ รวมข่าวสารอัพเดทของคนท้องถิ่น

ติดต่อเรา

อีเมล : [email protected]