ทม.น่าน จับมือ รร.ในสังกัด ขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองในมิติด้านสิ่งแวดล้อม สร้างการเรียนรู้ให้แก่เด็กและเยาวชน แยกขยะกระทง ลดปัญหาน้ำเน่าเสีย ต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์รักษ์โลก อาทิ กระดาษหยวกกล้วย ตะปู – หมุด นำกลับมาใช้ซ้ำ ปุ๋ยหมักจากใบตอง
วานนี้ (28 พ.ย. 2566) ณ บริเวณลานรวมใจ ริมแม่น้ำน่าน เชิงสะพานพัฒนาภาคเหนือ เจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองน่าน (ทม.น่าน) ร่วมกับนักเรียนโรงเรียนในสังกัดเทศบาล ประกอบด้วย รร.ดรุณวิทยาฯ รร.จุมปีวนิดาภรณ์ฯ และ รร.สามัคคีวิทยาคารฯ ช่วยกันเก็บ “ขยะกระทง” ที่ลอยเกลื่อนเต็มแม่น้ำน่าน ในประเพณีลอยกระทงประจำปี 2566 นำมาคัดแยกเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการสร้างพลเมืองคุณภาพสู่การเรียนรู้เพื่อสิ่งแวดล้อมเมืองที่ดีอย่างยั่งยืน
นายสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน เปิดเผยว่า ทุกปีหลังเสร็จสิ้นการลอยกระทง พบว่าเกิด “ขยะกระทง” เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะบริเวณแม่น้ำน่าน เชิงสะพานพัฒนาภาคเหนือ วัสดุส่วนใหญ่ที่ประชาชนนิยมนำมาประดิษฐ์เป็นกระทง ได้แก่ ต้นกล้วย ใบตอง ดอกไม้ ก้านกล้วย แม้ว่าประชาชนจะหันมาใช้วัสดุจากธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่แล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถนำขยะกระทงที่จะต้องเก็บไปทิ้งยังบ่อฝังกลบขยะของเทศบาลไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม
ทม.น่าน จึงได้มีแนวทางบูรณาการความร่วมมือคณะครู นักเรียน และเจ้าหน้าที่เทศบาล นำต้นกล้วยสำหรับประดิษฐ์กระทง เข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นกระดาษจากใยกล้วย ต่อยอดทำเป็นกล่องกระดาษใยกล้วย หรือผลิตภัณฑ์รักษ์โลกอื่น ๆ สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของเมืองในมิติด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป อีกทั้ง ทม.น่าน ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมืองในมิติด้านสิ่งแวดล้อมที่ดี อาทิ นโยบายเมืองสะอาด เมืองสิ่งแวดล้อมที่ดี เพื่อความสุขของชาวน่านและผู้คนที่มาเยือน
สำหรับเส้นทางกว่าจะมาเป็นกระดาษใยกล้วยรักษ์โลกนั้น เมื่อคืนวันลอยกระทงที่ผ่านมา (27 พ.ย. 2566) ทม.น่าน จัดให้มีรำวงย้อนยุค และพื้นที่สำหรับลอยกระทงประจำปี 2566 ให้ประชาชนตามจุดต่าง ๆ ได้ร่วมลอยกระทงเพื่อร่วมสืบสานประเพณีอันดีงามแบบวิถีใหม่ รุ่งเช้าเจ้าหน้าที่และเด็กนักเรียนต่างช่วยกันเก็บขยะกระทงเพื่อนำไปคัดแยก ณ ลานรวมใจ ริมแม่น้ำน่าน โดยแยกเทียนเพื่อนำไปหลอมเป็นเทียนได้ใหม่ ดอกไม้ใบตองสามารถนำไปทำปุ๋ยหมักอินทรีย์ ตะปูในกระทงสามารถนำไปใช้ซ้ำได้ จากนั้นนำรถบรรทุกหยวกกล้วยไปยังศูนย์เรียนรู้ 3R พาพอเพียง โรงเรียนดรุณวิทยาฯ เข้าสู่กระบวนการแปลงสภาพจาก “หยวกกล้วย” ให้กลายเป็นกระดาษกล้วยเพื่อสร้างมูลค่าและผลิตเป็น “ผลิตภัณฑ์รักษ์โลก” อาทิ กล่องใส่ของขวัญ ของที่ระลึก กล่องพัสดุ กล่องใส่อุปกรณ์การเรียน บอร์ดนิทรรศการเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อไป