รพ.สต.บ้านแจ้คอน จับมือ กปท. ทต.ทุ่งผึ้ง จัดโครงการ “ป้องกันและชะลอภาวะไตวายเรื้อรังอย่างยั่งยืน : ชะลอไตเสื่อม” ด้วยกองทุนสุขภาพตำบล ลดค่าการทำงานไตของผู้ป่วย ด้านรองเลขาฯ สปสช. เผย อปท. สามารถเสนอโครงการของบกองทุนตำบล สนับสนุนดูแลผู้ป่วยไตวายได้
ปัจจุบันสัดส่วนผู้ป่วยโรคไตในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เทศบาลตำบลทุ่งผึ้ง อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง เล็งเห็นถึงความสำคัญต่อสุขภาพของประชาชน จึงได้จัดทำ “โครงการป้องกันและชะลอภาวะไตวายเรื้อรังในผู้ป่วยเรื้อรังอย่างยั่งยืน ปีงบประมาณ 2566” ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมสุขภาพปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดโรค ฟื้นฟูสมรรถภาพ และรักษาพยาบาลระดับปฐมภูมิเชิงรุก และให้ประชาชนตระหนักรู้ในการป้องกันและชะลอภาวะไตวายเรื้อรัง รวมทั้งป้องกันและชะลอการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยที่มีภาวะไตวายเรื้อรัง ในผู้ป่วยเบาหวานความดันโลหิตสูง” ดำเนินการโดยกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นเทศบาลตำบลทุ่งผึ้ง (กปท. ทต.ทุ่งผึ้ง) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านแจ้คอน (รพ.สต.)
นายถวิล กุญชร นายกเทศมนตรีตำบลทุ่งผึ้ง เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าว เป็นการดำเนินการโดยใช้งบประมาณจาก กปท. ซึ่งเป็นกองทุนภายใต้ความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระดับพื้นที่ โดยปัจจุบัน รพ.สต.บ้านแจ้คอน/เทศบาลตำบลทุ่งผึ้ง มีผู้ป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไตวายที่มีโรคเบาหวานและความดันโลหิตควบคู่ด้วยจำนวนหนึ่ง จึงจำเป็นต้องได้รับการ “ชะลอความเสื่อมของไต” เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ด้าน นางสาวพิมพา ล่ำสวย ผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านแจ้คอน กล่าวว่า โรคไตเรื้อรัง เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประชาชนตำบลทุ่งผึ้ง มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี และเมื่อผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย การรักษาด้วยวิธีบำบัดทดแทนไต และเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ซึ่ง การล้างไตทางช่องท้อง การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม และการปลูกถ่ายไต มีค่าใช้จ่ายสูงมาก และมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโดยรวม
“ปัจจุบันพบผู้ป่วยที่มีภาวะไตวายเรื้อรังกระจายอยู่ในชุมชนและหมู่บ้าน ดังนั้น เพื่อป้องกันและชะลอการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยที่มีภาวะไตวายเรื้อรังลดลง ซึ่งจากการคัดกรองภาวะไตเสื่อม โดยในปี 2565 ในผู้ป่วยโรคเรื้อรังเบาหวาน/ความดันโลหิตสูงพบว่าผลการประเมินส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงมากกว่าร้อยละ 5 (> 5 %) รองลงมาคือเสี่ยงปานกลาง น้อยกว่าร้อยละ 8(<8%) และ มีความเสี่ยงสูง น้อยกว่า ร้อยละ10 (<10%) ขณะที่มีความเสี่ยงสูงอันตราย มากกว่าร้อยละ 12 (>12%)” พิมพา กล่าว
นางสาวพิมพา กล่าวอีกว่า จากข้อมูลและสภาพปัญหาของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง รพ.สต.แจ้คอน มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการ เสริมพลัง ให้เกิดความตระหนักรู้ในการป้องกันการเกิดภาวะไตเสื่อม และโรคแทรกซ้อนในผู้ป่วยโรคเบาหวานและความคุมความดันโลหิตทั้งภาวะแทรกซ้อนทาง หลอดเลือดสมอง หัวใจ และไต เนื่องจากภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำรงชีวิต และคุณภาพชีวิตตลอดจนด้านเศรษฐกิจและสังคมของผู้ป่วย ดังนั้น รพ.สต.บ้านแจ้คอน ได้เสนอ โครงการป้องกันและชะลอภาวะไตเรื้อรังในผู้ป่วยเรื้อรังอย่างยั่งยืนเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลทุ่งผึ้ง
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง จำนวน 250 ราย รักษาอยู่ที่คลินิกโรคเรื้อรัง (CKD Clinic) จะได้เข้าร่วมกิจกรรมโครงการส่งเสริมสุขภาพปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดโรค และชะลอความเสื่อมของไตในผู้ป่วยเบาหวานความดันโลหิตสูง ใน 3 กิจกรรมสำคัญ ได้แก่
1.การดูแลตนเอง การลดภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะทางไต
2. การสาธิตการประกอบอาหารที่มีรสจืด ใส่เครื่องปรุงรสน้อยลง
3.การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ชาวบ้านในพื้นที่ ตลอดจนการใช้นวัตกรรมการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง
“ผลการจัดกิจกรรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดโรค และชะลอความเสื่อมของไตในผู้ป่วยเบาหวานความดันโลหิตสูงที่ผ่านมา จากข้อมูลผู้ป่วยโรคเรื้อรังติดตามการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2565-2566 พบว่าผู้ป่วยไต ดีขึ้น 3 คน ผู้ป่วยมีแนวโน้มค่าการทำงานของไตลดลงถึง ร้อยละ 6.66” พิมพา กล่าว
ขณะที่ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบข้อเสนอการขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและชะลอจำนวนผู้ป่วยโรคไตรายใหม่ และมอบหมายให้ สปสช. ดำเนินการสนับสนุนมาตรการนี้อย่างเต็มที่
ทพ.อรรถพร กล่าวต่อว่า กลไกและกิจกรรมเพื่อชะลอไตเสื่อมตามมาตรการป้องกันและชะลอจำนวนผู้ป่วยโรคไตรายใหม่ ประกอบด้วย 1.คณะกรรมการนโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับพื้นที่ รับทราบนโยบายทศวรรษมาตรการชะลอไตเสื่อม เพื่อลดผู้ป่วยโรคไตรายใหม่ และสนับสนุนการขับเคลื่อนในพื้นที่ 2. สธ.ขับเคลื่อนนโยบายให้หน่วยบริการทุกระดับจัดบริการคลินิกโรคไตแบบบูรณาการในชุมชน โดยทีมสหวิชาชีพและ 3.โรงพยาบาลชุมชน รพ.สต. ท้องถิ่น และองค์กรเอกชน สามารถเสนอโครงการเพื่อรับการสนับสนุนงบประมาณจาก กปท. ได้
“ในโครงการจะมีกิจกรรมการค้นหาผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่ไตจะเสื่อม เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ผู้ที่ใช้ยารักษาโรคเป็นเวลานาน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบริโภค การเยี่ยมบ้านเพื่อให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพ สามารถดูแลตนเองได้ ลดพฤติกรรมเสี่ยง การเฝ้าระวังการใช้สมุนไพร ยา อาหาร และส่งเสริมการออกกำลังกาย การรณรงค์สื่อสารด้านสุขภาพ การจัดการสิ่งแวดล้อม การให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ อาสาสมัครประจำครอบครัว ผู้ดูแลผู้ป่วย” อรรถพร กล่าว
ทั้งนี้ ตามประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินงาและบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ พ.ศ. 2561 และมีแก้ไขเพิ่มเติมข้อ 16(2) “ให้พิจารณาอนุมัติโครงการ หรือกิจกรรม ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนตามข้อ 10 อาศัยอานาจของประกาศฯข้อ 10 เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพตามข้อ 7 วรรคหนึ่งให้ใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมเป็นค่าใช้จ่ายตามแผนงานโครงการ กิจกรรม ที่คณะกรรมการกองทุนอนุมัติ”