จากกรณีสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ลงวันที่ 28 ต.ค. 2564 โดยมี พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. เป็นผู้ลงนาม เพื่อขอความร่วมมือให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือเป็นผู้ช่วยหาเสียงผู้สมัครรับเลือกตั้ง งดปฏิบัติหน้าที่
โดยให้เหตุผลว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน อสม.มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) และหน้าที่อื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย ตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุขฯ ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวมีความใกล้ชิดกับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อาจจะส่งผลให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมได้
ดังนั้น เพื่อให้การจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภา อบต. และนายก อบต.เป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม จึงขอความร่วมมือส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ขอให้ อสม. ผู้ที่สมัครรับเลือกตั้งเป็น สมาชิกสภา อบต.หรือนายก อบต. หรือกระทั่งผู้ช่วยหาเสียงของผู้สมัคร งดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าการเลือกตั้งจะผ่านพ้นไป
คำสั่งดังกล่าว สร้างแรงกระเพื่อมให้กับคนในหลายกลุ่ม โดยเฉพาะ “ชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านแห่งประเทศไทย” นำโดย นายจำรัส คำรอด ประธานชมรม อสม.แห่งประเทศไทย ได้ทำหนังสือลงวันที่ 30 ต.ค. 2564 ถึงเลขาธิการ กกต. เพื่อขอความอนุเคราะห์ให้ทบทวนหนังสือเรื่องให้ อสม. งดปฏิบัติหน้าที่ โดยมีใจความตอนหนึ่งระบุว่า เป็นการจำกัดสิทธิของ อสม. และจะมีผลเสียต่อประชาชนที่ อสม.เหล่านั้นให้การดูแลอยู่ ทั้งนี้ อสม. 1 คน มีความรับผิดชอบดูแลประชาชน 10-15 หลังคาเรือน หากหยุดปฏิบัติหน้าที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน และกลุ่มคนที่ต้องทำแผล พร้อมย้ำว่า อสม.เป็นเพียงประชาชนที่มีจิตอาสา
“หรือหากคู่แข่งทางการเมืองเห็นว่าเป็นการเอาเปรียบ พวกเราทราบดีว่า ตามที่ กกต.ได้ตีความว่า อสม.ไม่ใช่คนของรัฐ จึงมีสิทธิ์ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งใดๆ ได้โดยไม่นำองค์กร อสม.หรือสัญลักษณ์ อสม.ไปกล่าวอ้างหรือใช้สนับสนุนในการหาเสียง ซึ่ง อสม.ทุกคนทราบดี และปฏิบัติตาม แต่ความเป็นอาสาสมัครไม่สามารถถอดออกจากตัวตนของ อสม.ได้ มันฝังอยู่ในจิตวิญญาณของพวกเรา คนในพื้นที่ส่วนใหญ่ก็จะรู้อยู่แล้วว่า ใครเป็น อสม.หากคิดว่าประชาชนเห็นคนที่ทำดีแล้วจะเลือกคนดีเป็นตัวแทนของพวกเขา คงไม่ผิด แต่หากผู้ที่เป็นคู่แข่งต้องการชนะก็ต้องแข่งขันกันสร้างประโยชน์และทำคุณงามความดี สุดท้ายประชาชนก็จะได้คนที่ดีที่สุดให้เป็นตัวแทนทางการเมืองของพวกเขา”
สำหรับประเด็นที่ อสม.ช่วยหาเสียงนั้น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กุนซือกฎหมายของรัฐบาล ได้เคยให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวไว้เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 63 ก่อนการเลือกตั้ง อบจ. ระบุว่า อสม. ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ และสามารถช่วยผู้สมัครหาเสียงได้
อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งท้องถิ่นในรูปแบบ อบจ. และเทศบาล กกต.ก็ไม่เคยมีการประกาศห้ามในลักษณะดังกล่าวออกมา แม้ว่าจะอยู่ในช่วงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เหมือนกันก็ตาม